“ลาว” ท็อปค่าใช้จ่าย “แพงสุด” ในลุ่มน้ำโขง ชู 2018 ปีแห่งการท่องเที่ยว

หากจะเอ่ยถึงประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบของไทยอย่าง CLMV หรือ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ต้องยอมรับว่าทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต่างก็แห่ไปเยือนและยกให้เป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยหลายคนให้เหตุผลว่าสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้สบาย โดยเฉพาะการยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศให้กับสมาชิกอาเซียนด้วยกัน

ทั้งระยะเวลาเดินทางไม่นาน ตั๋วบินราคาไม่แพง แถมค่าครองชีพก็ถูก

แต่ใครจะเชื่อว่า “สปป.ลาว” ประเทศที่ติดโผเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดของเอเชีย สถานที่ซึ่งหลายคนคิดว่าค่าครองชีพน่าจะต่ำกว่าประเทศไทย

แท้จริงแล้วกลับตาลปัตร ไม่เป็นไปอย่างที่จินตนาการแม้แต่น้อย

สปป.ลาว กลายเป็นประเทศที่มี “ค่าใช้จ่ายสูงที่สุด” ในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

เหตุผลประการแรกและสำคัญที่สุดก็คือ “Land Locked Country” นี่คือจุดบอดของประเทศนี้ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีพื้นที่ที่เป็นภูเขามากกว่าพื้นที่ราบยากต่อการเพาะปลูก

นอกจากนี้ ยังยากต่อการค้าขาย และการย้ายถิ่นฐานอพยพ

แถมยังโดนสงครามไปทีละหลายๆ ครั้ง ทำให้ต้องสูญเสียจำนวนประชากรในประเทศไปไม่น้อย

เป็นเหตุว่าทำไมประชากรชาวลาวถึงมีเพียง 7 ล้านคนในปัจจุบัน

แม้ว่าประชากรลาวที่มีเพียง 1 ใน 4 ของบางประเทศขนาดใหญ่ กลับต้องนำเข้าสินค้าหลายอย่างจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจากประเทศไทย

โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สปป.ลาว ยังต้องนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเกือบทุกประเภท

แม้แต่ “ข้าวเหนียว” ที่เป็นอาหารหลักที่ต้องบริโภคทุกมื้อ เพราะการเพาะปลูกไม่เพียงพอต่อความต้องการ

หากนึกถึงสินค้าที่ สปป.ลาว สามารถผลิตได้เองน่าจะยกตัวอย่างได้ง่ายกว่า เช่น น้ำดื่ม เบียร์ลาว เป็บซี่ลาว และพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนพลังงานน้ำ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักและสร้างรายได้มากที่สุดให้กับประเทศ

แต่ก็ใช่ว่าการพัฒนาเขื่อนพลังงานน้ำเพื่อการส่งออกจะไม่มีปัญหาเสียทีเดียว

เพราะประชากรในบางพื้นที่โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยตามแถบลุ่มน้ำโขง รวมถึงนักเคลื่อนไหวจำนวนไม่น้อย เคยประท้วงและพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาพับโครงการก่อสร้างเขื่อน ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และธรรมชาติอื่นๆ

ตัวอย่างเช่น “เขื่อนไซยะบุรี” ที่แม้แต่กัมพูชาเองก็ยังเรียกร้องให้ยุติงานก่อสร้าง

มีเพียงไม่กี่อุตสาหกรรมที่ สปป.ลาวสามารถทำและเพิ่มช่องทางรายได้ให้กับประเทศได้ และ “การท่องเที่ยว” ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือแก้ความจนที่รัฐบาลเลือก

ซึ่งก็ฟังดูคล้ายๆ กับประเทศอื่นทั่วโลกที่พยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อทำเงิน

“อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” จึงถูกบรรจุให้เป็นวาระแห่งชาติ ภายใต้ความคาดหวังของรัฐบาลที่จะเปลี่ยนจุดด้อยของประเทศ จาก Land Locked สู่ Land Links ให้เป็นความหวังใหม่ในการผลักดันประเทศและความเป็นอยู่ของประชากรให้หลุดพ้นจากความยากจน

นอกเหนือจากเป้าหมายแรกที่รัฐบาลตั้งเป้าจะยกให้ สปป.ลาวเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” ซึ่งวาดฝันว่าจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนํ้าให้ครบ 100 แห่งภายในปี 2020

และการท่องเที่ยวถือเป็นอาวุธเบอร์สองเพื่อเคี่ยวเข็ญเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากเส้นแห่งความยากจน

แต่ปัญหาก็คือ “ค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว” สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเยือน สปป.ลาว เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในกลุ่มลุ่มน้ำโขง กลายมาเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใน สปป.ลาวน้อยลงต่อเนื่อง

วีโอเอ ภาษาลาว รายงานว่า นายสูน มะนีวง หัวหน้ากรมประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยว กระทรวงการแถลงข่าว วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ยืนยันว่าปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาใน สปป.ลาวมีจำนวนลดลงต่อเนื่อง เหตุมาจากค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่สูงเกินไป ทั้งการเดินทาง ค่าธรรมเนียม และค่าบริการต่างๆ ที่รวมถึงที่พัก และอาหารการกินในแต่ละมื้อ

“หากเฉลี่ยค่าเดินทางท่องเที่ยวระหว่าง สปป.ลาวและเวียดนาม โดยอ้างข้อมูลจากโปรโมชั่นของกลุ่มทัวร์จะพบว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ใช้ในเวียดนามสามารถเที่ยวได้ 4 คืน 5 วัน ขณะที่ สปป.ลาวกลับเที่ยวได้เพียง 2 คืน 3 วันเท่านั้น”

ผลกระทบเริ่มชัดเจนขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาใน สปป.ลาว ลดลงถึง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2016

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากชาติอาเซียนที่เดินทางเข้าประเทศลดลงมากที่สุด

หนึ่งในเหตุผลก็คือ ผู้ที่เดินทางเยือนกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงจากชาติสมาชิกอาเซียน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่มี “งบฯ น้อยหรืองบฯ จำกัด”

หากจะช่วยขยายความหรือยกตัวอย่างให้เห็นภาพจากประสบการณ์ตรงจากผู้เขียน เมื่อลองเปรียบเทียบราคาเครื่องดื่มหรืออาหารระหว่างไทยและ สปป.ลาว พบว่า น้ำดื่มขวดเล็กที่ขายใน 7-11 ในราคา 7 บาท ใน สปป.ลาวราคาดีดขึ้นไปถึง 30 บาท, โรตีใส่ไข่ 60 บาทที่ สปป.ลาว เทียบกับเมืองไทยที่มีราคาเพียง 30-40 บาท, ค่าห้องน้ำสาธารณะ 10 บาท หรือบางที่มีราคาสูงถึง 20 บาท, ก๋วยเตี๋ยวชามขนาดปกติที่ สปป.ลาว จะอยู่ราวๆ 60-70 บาท ส่วนราคาข้าวเหนียวหนึ่งกระติ๊บเพื่อใส่บาตรพระตอนเช้าราคาปาเข้าไปที่ 100 บาท (ณ หลวงพระบาง)

สิ่งที่ปรากฏเหล่านี้เป็นเครื่องการันตีได้อย่างดีเยี่ยมว่า การจะเข้ามาท่องเที่ยว สปป.ลาวอย่างสบายอกสบายใจอาจจะต้องมีงบฯ ที่มากกว่าประเทศอื่นในลุ่มน้ำโขงก็ว่าได้

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ชาวเน็ตและนักวิเคราะห์ตลาดเคยศึกษาว่า คนลาวหรือคนท้องถิ่นสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไรกับราคาค่าครองชีพที่สูงลิ่วขนาดนี้?

ตอบได้เพียงว่าคนลาวยังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม คือการทำอาหารทานเอง ปลูกผักและเลี้ยงเนื้อสัตว์เพื่อทานเองในครอบครัว

ซึ่งมากกว่า 70% ของคนลาวทั้งประเทศยังมีฐานะยากจน ส่วนราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เราเห็นกันนั้นไม่ได้เป็นราคาสำหรับนักท่องเที่ยวแต่อย่างใด เศรษฐีชาวลาวก็จับจ่ายใช้สอยในราคานี้เช่นกัน

ล่าสุดมีเสียงยืนยันจากทางการ สปป.ลาวว่า นโยบายการท่องเที่ยวประจำปี 2018 รัฐบาล สปป.ลาว พร้อมที่จะปรับปรุงเงื่อนไขในด้านต่างๆ ให้ผ่อนปรนมากขึ้น โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมและค่าบริการต่างๆ รวมถึงค่าเดินทางสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะพิจารณาอีกครั้ง เพื่อเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากขึ้น

ทั้งยังประกาศยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศเดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และสวีเดน เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดถึงวันที่ 31 ธันวาคม เพื่อนำร่องและทดสอบ feedback ก่อน

น่าติดตามว่าความพยายามเหล่านี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่?

หากจะหวังเพียงแต่รายได้จากการส่งออกไฟฟ้าพลังงานน้ำเพื่อยกระดับชีวิตประชากรทั้ง 7 ล้านคนก็คงไม่พอ

ขณะที่จีนพยายามเชื่อม Land Links กับ สปป.ลาว นักวิเคราะห์ไม่น้อยจับตาว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว และเพิ่มข้อได้เปรียบด้านการค้าให้ สปป.ลาวอย่างแท้จริง

หรือจะเป็นเพียงหมากตัวหนึ่งในการเดินหน้ายุทธศาสตร์ “เส้นทางสายไหมใหม่” ของพี่เบิ้มของภูมิภาคแค่นั้น