โลกมุสลิมได้ยืนขึ้นแล้ว [ วิกฤติศตวรรษที่21 ]

โลกมุสลิมโดยเฉพาะที่มหาตะวันออกกลางเป็นศูนย์กลางของความสนใจมาตั้งแต่สิ้นสงครามเย็นที่สหรัฐ-นาโต้ได้เพียรเข้าแทรกแซงจัดระเบียบอย่างทุ่มเทต่อเนื่องจนถึงขณะนี้

สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญ ความแข็งแกร่ง และความอ่อนแอในโลกมุสลิม

ความเป็นไปของโลกในขณะนี้ ย่อมไม่สามารถจะมองข้ามความเคลื่อนไหว และการเปลี่ยนแปลงในโลกมุสลิม เพราะว่าโลกมุสลิมได้ยืนขึ้นแล้ว

ในฉบับนี้จะกล่าวถึงสองประเด็น คือ จุดแข็งจุดอ่อนในโลกมุสลิม

และความแตกแยกในโลกมุสลิมกับความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

จุดแข็งจุดอ่อนในโลกมุสลิม

จุดแข็งของโลกมุสลิม มีอยู่สามประการด้วยกันได้แก่

1) การมีประชากรที่ถืออิสลามจำนวนมากราว 1.4 พันล้านคนและเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือเป็นประชากรวัยหนุ่มสาวและเด็ก เป็นพลังทางเศรษฐกิจและการทหาร มีความยืดหยุ่น คล่องตัวในการอพยพโยกย้ายไปที่ต่างๆ

ปรากฏว่ามีประชากรมุสลิมได้อพยพไปอยู่ในดินแดนทั่วโลก ที่เป็นข่าวใหญ่คือ ในยุโรป สหรัฐและแคนาดา ปรากฏการณ์นี้ก่อความหวาดกลัวอย่างสูงในโลกตะวันตก

ต้นปี 2017 นี้ ได้มีการเผยแพร่หนังสือในสหรัฐชื่อ “การรุกรานที่ซ่อนเร้น” ของอิสลาม โดยกลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่ได้เคลื่อนไหวในสหรัฐ ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 โดยฝ่ายบริหารละเลยต่อปัญหานี้ กลับมีนโยบายต้อนรับผู้อพยพที่ไม่ยอมกลมกลืน หรือกระทั่งต่อต้านวัฒนธรรมค่านิยมตะวันตก

กลุ่มภราดรภาพมุสลิมมียุทธศาสตร์ชัดเจนที่จะพิชิตอเมริกาและระบอบประชาธิปไตยจากภายในด้วย “อารยธรรมจีฮาด”

การหลั่งไหลของผู้อพยพมุสลิมนี้เกิดขึ้นประจวบกับการเกิดการเปลี่ยนแปลงทางประชากรโลกในลักษณะประวัติศาสตร์ นั่นคือจำนวนประชากรชาวตะวันตกลดลง

การหลั่งไหลนี้ไม่ได้เข้ามาเพียงเมืองปากประตูอย่างนิวยอร์กและชิคาโก

แต่ยังลึกเข้ามายังเมืองเล็กเมืองน้อย ถึงขั้นลุกเป็นไฟได้หากไม่จัดการแก้ไขฉับพลัน (ดูบทแนะนำหนังสือของ Leo Hohmann ชื่อ Stealth Invasion : Muslim Conquest Through Immigration and Resettlement Jihad ใน wnd.com มกราคม 2017)

2) การยึดมั่นในอุดมการณ์อิสลาม ซึ่งสิ่งนี้เป็นจุดแข็งที่สร้างขึ้นเพื่อทดแทนจุดอ่อนของการที่ยังไม่สามารถพัฒนาสถาบันทางเศรษฐกิจ-การเมืองสำหรับรัฐสมัยใหม่ได้ทันท่วงที

เช่น การพัฒนาพรรคการเมืองที่มีฐานมวลชน การมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งทั่วไปที่เสรี การปกครองของกฎหมาย การมีองค์กรธุรกิจเอกชนและระบบตลาดที่แข็งแรง เป็นต้น

การมีอุดมการณ์อิสลามช่วยทดแทนสิ่งเหล่านี้ได้ในเวลาที่สั้นกว่า

การสร้างอุดมการณ์อิสลามขึ้นได้นี้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากลักษณะพิเศษของอิสลามที่มีลักษณะทางโลกและทางธรรมไม่แยกออกจากกัน

และที่สำคัญเกิดจากความพยายามของนักคิดนักเคลื่อนไหวอิสลามจำนวนมากที่ได้พัฒนาศาสนาเพื่อให้ทันสมัยและใช้ได้ในยุคใหม่ จนสามารถสร้างทฤษฎีและการเคลื่อนไหวใหญ่ขึ้น

เช่น ขบวนการภราดรภาพมุสลิม (ก่อตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20) สันนิบาติอาหรับ (สถาปนา 1945 มีอียิปต์ภายใต้ประธานาธิบดีนัสเซอร์เป็นผู้นำ ปัจจุบันประเทศที่มีบทบาทสำคัญได้แก่ซาอุดีอาระเบีย) การก่อตั้งองค์การความร่วมมืออิสลาม (ลงนามสัตยาบันตั้งแต่ปี 1969 ใช้ชื่อว่า องค์การการประชุมอิสลาม เปลี่ยนมาใช้ชื่อแบบปัจจุบันในปี 2011 ช่วงแห่งการลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับ) การปฏิวัติอิสลามที่อิหร่านในปี 1979 ซึ่งเป็นการตอบโต้การก่อรัฐประหารโค่นรัฐบาลอิหร่านที่มาจากการเลือกตั้งโดยสหรัฐ-อังกฤษในปี 1953

อุดมการณ์อิสลามก่อความแปลกใจและตระหนกแก่ตะวันตก

ขณะมองโลกมุสลิมว่าเจริญอยู่ในขั้นลัทธิชนเผ่า แต่ชาวมุสลิมกลับสามารถมีปฏิบัติการร่วมกันข้ามชาติได้โดยอาศัยความเป็นอิสลามที่ต้องช่วยเหลือกันโดยไม่คำนึงถึงประเทศชาติ การช่วยเหลือกันข้ามชาติที่เป็นข่าวใหญ่และอยู่ในด้านลบในสายตาประชาคมโลก ได้แก่ ขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ

การกล่าวว่าโลกมุสลิมไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่รู้จักตั้งรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างในยุโรป แต่หลายประเทศก็สร้างระบบการเมืองของตน

ยกตัวอย่างเช่น กัดดาฟี สร้างประชาธิปไตยชนเผ่าหรือประชาธิปไตยทางตรง

อิหร่านสร้างประชาธิปไตยแบบอิสลาม มาเลเซียสร้างระบอบประชาธิปไตยเสรีเชิงภูมิบุตร

ตุรกีจะสร้างระบอบสาธารณรัฐแบบประธานาธิบดี ไม่ใช่แบบรัฐสภาที่เคยเป็นมา (แต่ตะวันตกไม่เห็นด้วย มองว่าเป็นการรวบอำนาจ)

การกล่าวว่ามุสลิมมีคำสอนที่ก่อความรุนแรง แต่สหรัฐ-นาโต้มีงบประมาณทางทหารสูงสุดในโลก การรบทุกแห่งในโลก มีสหรัฐ-นาโต้มีส่วนร่วมอยู่ด้วยในทางใดทางหนึ่ง

ในทางเศรษฐกิจอุดมการณ์อิสลามช่วยสร้างการเงินแบบอิสลาม และอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เป็นต้น

อุดมการณ์อิสลามนั้นอยู่ในกระบวนการปรับเปลี่ยน เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ-การเมืองโลก

3) ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เป็นจุดต่อเชื่อมสามทวีปคือ เอเชีย ยุโรปและแอฟริกา

พื้นที่ของโลกอิสลามก็ติดต่อกันเป็นผืนใหญ่ ตั้งแต่เอเชียกลาง เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ตุรกีที่ส่วนหนึ่งอยู่ในยุโรป และแอฟริกาตอนเหนือ ทะเลทรายสะฮารา

นอกจากนี้ ยังมีทรัพยากรแร่ธาตุพลังงานมหาศาลที่รู้จักกันดี

และมีข่าวว่าในอัฟกานิสถานมีแหล่งแร่ธาตุมูลค่านับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

โครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งถนน” ของจีนนั้น จะเป็นไปได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศมุสลิม

จุดอ่อนของโลกมุสลิม จุดอ่อนที่สำคัญได้แก่ความขัดแย้งแตกแยกระหว่างกัน เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งศาสนา แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะรวมให้เป็นหนึ่งเดียวมานานนับร้อยปีแล้วก็ตาม ทุกวันนี้ โลกมุสลิมตกอยู่ในความขัดแย้งรุนแรงอย่างดิ้นไม่หลุด ทั้งระหว่างประเทศ ระหว่างนิกาย เพื่อแย่งชิงการนำกัน

ความขัดแย้งรุนแรงนี้ได้ปะทุขึ้นมาเป็นสงครามกลางเมืองในหลายประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน อิรัก ซีเรีย เยเมน ลิเบีย และปากีสถานบางส่วน

ทั้งยังเกิดขบวนการก่อการร้ายขึ้นเป็นอันมาก

ความขัดแย้งรุนแรงแตกแยกกันดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และการกระชับความร่วมมือในโลกอิสลาม

จุดอ่อนที่เป็นพื้นฐาน ได้แก่ การพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยังไม่เข้มแข็ง ส่วนใหญ่อยู่ในระดับรายได้ปานกลาง-ต่ำ

ที่มีรายได้สูงมักเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน โดยรวมขาดฐานอุตสาหกรรม (เมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ เป็นต้น) เศรษฐกิจเน้นหนักภาคบริการ

ประเทศมุสลิมที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมไปได้ดี เช่น มาเลเซีย อิหร่าน ตุรกี

นอกจากนี้ การพัฒนาทางการเมืองค่อนข้างต่ำ พิจารณาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในรูปแบบและระดับต่างๆ จำนวนหนึ่งยังอยู่ในขั้นรวบอำนาจ เหล่านี้ทำให้เกิดความแตกแยกภายในชาติและระหว่างชาติได้ง่าย

รัฐบาลมักไม่มั่นคง ต้องรักษาอำนาจด้วยกำลัง

จากความอ่อนแอเหล่านี้คาดหมายว่า ประเทศมุสลิมในพื้นที่มหาตะวันออกกลาง ย่อมไม่สามารถต่อต้านการเข้ามาแทรกแซงของสหรัฐ-นาโต้ได้มากนัก

สงครามกลางเมืองในตะวันออกกลางคงจะยืดเยื้อต่อไปอีก

 

ความแตกแยก

ในหมู่ประเทศมุสลิม

ในสงครามตะวันออกกลาง

ความขัดแย้งในตะวันออกกลางปัจจุบันได้ขยายตัวถึงขั้นกล่าวได้ว่าเป็นสงครามตะวันออกกลาง ซึ่งมีด้านที่ซับซ้อนเข้าใจยาก เนื่องจากมีผู้แสดงจำนวนมาก

กล่าวได้ว่ามากันทั่วโลก

ผู้แสดงนี้มีทั้งในระดับรัฐและต่ำกว่ารัฐ

ที่สำคัญคือกลุ่มก่อการร้ายที่มีหลากหลาย เปลี่ยนชื่อกันไปมา

ผู้แสดงทั้งในระดับรัฐและต่ำกว่ารัฐ ก็มีความสัมพันธ์ยอกย้อนทั้งเกื้อกูลและเป็นอริกันตามสถานการณ์

การแสดงมีหลายรูปแบบ เป็นสงครามลูกผสมตั้งแต่ที่เป็นแบบแผน ถึงปฏิบัติการลับและการก่อการร้าย

แต่ในอีกด้านหนึ่งสามารถเข้าใจได้โดยไม่ยากนักในการจำแนกประเด็นกลุ่ม ผู้แสดงในระดับรัฐและแนวโน้มทางดุลอำนาจ

1) ประเด็นปัญหาพิพาท มีอยู่เพียงสองเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน ได้แก่

ก) ในกรณีพิพาทปาเลสไตน์-อิสราเอล จะเข้าข้างใด สนับสนุนฝ่ายไหน กลุ่มประเทศอาหรับโดยธรรมชาติย่อมเข้าข้างปาเลสไตน์ จนกระทั่งเกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอลหลายครั้ง แต่หลังอสัญกรรมของประธานาธิบดีนัสเซอร์แห่งอียิปต์ (ปลายปี 1970) การสนับสนุนนี้ก็ค่อยจางลง ชาวปาเลสไตน์ต้องพึ่งตนเองมากขึ้น ก่อการลุกขึ้นสู้ครั้งที่หนึ่ง (1987-1993) สำหรับโลกมุสลิมย่อมเห็นอกเห็นใจและเข้าข้างตามอุดมการณ์อิสลาม อิหร่านได้เข้าสนับสนุนการต่อสู้ของปาเลสไตน์ตั้งแต่หลังปฏิวัติอิสลาม ยกสถานที่ที่เคยเป็นสถานทูตของอิสราเอลให้เป็นที่ตั้งสถานทูตปาเลสไตน์

เมื่อเกิดการลุกขึ้นสู้ชาวปาเลสไตน์ ครั้งที่สอง (เริ่มปี 2000 ถึงราว 2005) อิหร่านได้เพิ่มการสนับสนุน โดยเฉพาะต่อกลุ่มฮามาสในดินแดนฉนวนกาซา จนกระทั่งได้อำนาจที่นั่น การยืนหยัดสนับสนุนกรณีปาเลสไตน์ ทำให้อิหร่านได้ฐานะในโลกมุสลิม

ข) ต่อนโยบายต่างประเทศสหรัฐในตะวันออกกลาง จะสนับสนุนหรือต่อต้านในระดับใด ในประเด็นนี้ อิหร่านก็โดดเด่น ทั้งนี้เพราะประเทศที่ต้องการเป็นอิสระจากอิทธิพลสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นอิรัก ซีเรีย และลิเบีย ล้วนถูกสหรัฐ-นาโต้ทิ้งระเบิด เกิดสงครามกลางเมืองกันไปเป็นแถว

2. กลุ่มประเทศมุสลิมผู้แสดงสำคัญในตะวันออกกลาง แบ่งได้เป็นสามกลุ่ม ได้แก่

ก) กลุ่มซาอุดีอาระเบีย ที่ถือนิกายซุนหนี่ มีขนาดใหญ่เนื่องจากการทุ่มเทของผู้ปกครองและการสนับสนุนจากสหรัฐซึ่งมีอิทธิพลต่อประเทศเกือบทั้งหมด

ซาอุฯ พยายามแสดงบทบาทนำในการต่อต้านอิทธิพลอิหร่านมากขึ้น เช่น เปิดการเจรจาลับกับอิสราเอลอริเก่าหลายครั้งตั้งแต่ต้นปี 2014 (ที่สหรัฐเริ่มการเจรจาเรื่องการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน) หัวข้อการเจรจาที่สำคัญ ได้แก่

ก) การสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับอาหรับ

ข) เปลี่ยนระบบปกครองในอิหร่าน

ค) สร้างเอกภาพในกลุ่มรวมประเทศอาหรับ โดยเฉพาะการสร้างกองกำลังอาหรับ

ง) การสร้างรัฐอิสระชาวเคิร์ด ที่พำนักในอิรัก ตุรกี และซีเรีย (ดูบทความของ Eli Lake ชื่อ Israelis and Saudis Reveal Secret Talks to Thwart Iran ใน bloomberg L.P. 08.06.2015)

ซึ่งทั้งหมดทำได้ยากทุกข้อ เพียงข้อแรกก็ยากที่จะเป็นจริงในระยะใกล้ เมื่ออิสราเอลยังคงขยายการยึดครองดินแดนโดยการเข้าไปตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์ หรือข้อที่ว่าด้วยการสร้างกองกำลังอาหรับ เมื่อซาอุฯ เองยังติดหล่มสงครามในเยเมน

ข) กลุ่มอิหร่านถือนิกายชีอะห์ (นับถือพระอาลีเป็นผู้สืบทอดจากพระมะหะหมัด) มีขนาดเล็กกว่ามาก แต่กำลังขยายตัวหลังจากซัดดัมผู้นำสำคัญที่คานกำลังอิหร่าน ถูกทำลายไปในสงครามอิรัก (ปี 2003)

นอกจากนี้ ยังมีผู้ถือนิกายชีอะห์เป็นกลุ่มคนส่วนน้อยในหลายประเทศ ได้แก่ คูเวต เยเมน ซาอุดีอาระเบีย (อยู่ทางตะวันออกของประเทศ) เลบานอน บาห์เรน ตุรกี อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย รวมทั้งประชากรส่วนใหญ่ในอาเซอร์ไบจานก็เป็นกลุ่มที่ถือนิกายชีอะห์

ค) กลุ่มแกว่ง ได้แก่ อียิปต์ ตุรกี และการ์ตา สองประเทศแรกเป็นอำนาจระดับภูมิภาคที่เผชิญปัญหามาก อียิปต์หลังเหตุการณ์ลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับ แกว่งไปมาระหว่างสหรัฐ ซาอุฯ และรัสเซีย ตุรกีแกว่งไปมาระหว่างสหรัฐ-นาโต้-อียูกับรัสเซียและจีน สำหรับการ์ตาต้องการเป็นอิสระจากอิทธิพลของซาอุฯ (ความสัมพันธ์เริ่มตึงเครียดตั้งแต่ปี 1992) การ์ตาสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ขณะที่ซาอุฯ ไม่ชอบ ทั้งยังสนับสนุนกลุ่มลุกขึ้นสู้ในอาหรับสปริง ที่ซาอุฯ หวาดระแวง การเกิดขึ้นของกลุ่มแกว่งสะท้อนแนวโน้มและการเคลื่อนตัวทางอำนาจในตะวันออกกลาง

3. แนวโน้มดุลอำนาจในตะวันออกกลาง ดุลอำนาจเคลื่อนจากแกนสหรัฐ-อิสราเอล-ซาอุฯ สู่แกนรัสเซีย-จีน-อิหร่าน บางช่วงเร็ว บางช่วงค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจาก

ก) แก้ปัญหาสันติภาพปาเลสไตน์ไม่ตก อิสราเอลที่ต้องการอยู่รอด จำเป็นต้องปฏิบัติการที่ขัดต่อความรู้สึกและสำนึกจริยธรรมของประชาคมโลก

ข) ความผิดพลาดของสหรัฐในการโค่นระบบซัดดัม

ค) ความผิดพลาดทางนโยบายของซาอุฯ ในการเข้าแทรกแซงความขัดแย้งเยเมน จนกระทั่งติดหล่มสงครามที่นั่น

ง) ความระส่ำระสายทางการเมืองในสหรัฐ (ประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซียวิจารณ์ว่า เป็นโรคจิตเภททางการเมือง คือมีอาการจิตหลอนหวาดระแวง) ที่ส่งผลต่ออำนาจแห่งชาติของสหรัฐ และการเฟื่องขึ้นทางอำนาจของรัสเซีย-จีน

จับตาดูประเทศซาอุดีอาระเบีย ถ้าหากเปลี่ยนไปอยู่ในกลุ่มรัฐแกว่งเมื่อใด ภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

และคงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์ออกเยือนซาอุฯ เป็นชาติแรก พร้อมกับข้อเสนอการตั้ง “องค์นาโต้ของชาติอาหรับ” เพื่อการทำสงครามต่อสู้กับอิหร่าน

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสถานการณ์สงครามแบบต่างๆ ในโลก