รายงานพิเศษ : “วรเจตน์” ชวนคุย หนังสือ “ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา” กับปัญหาแนวคิดทางกฎหมายในไทย

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ / รายงาน


ในบรรดานักวิชาการนิติศาสตร์ที่โดดเด่นของไทยที่มุ่งเน้นในการศึกษาองค์ความรู้ มักมีชื่อของ “ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์” ปรากฏอยู่เป็นอันดับต้นๆ ในฐานะหนึ่งในนักวิชาการสายกฎหมายมหาชน ที่มีบทบาทสำคัญในช่วงหลังเหตุการณ์ปี 2553-2554 พร้อมกับเพื่อนร่วมงานด้านนิติศาสตร์ เคลื่อนไหวทางวิชาการในนาม “นิติราษฎร์” โดยเสนอแนวทางทางวิชาการออกสู่สาธารณะจนเป็นที่ถกเถียงกันมากอย่าง “การลบล้างผลพวงการรัฐประหาร” “รัฐธรรมนูญไทยตามแนวทางนิติราษฎร์” และ “ข้อเสนอในการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112” จนทำให้นิติราษฎร์ตกเป็นเป้าโจมตีจากปีกขวา และโดยเฉพาะ ศ.ดร.วรเจตน์ ที่ตกเป็นข่าวถูกชายฉกรรจ์ทำร้ายร่างกายถึงคณะ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา ศ.ดร.วรเจตน์ ที่หายไปช่วงหนึ่งในการเพิ่มพูนความรู้ ได้ปรากฏตัวสู่สาธารณชนในงานเปิดตัวหนังสือ “ประวัติศาสตร์ความคิด-นิติปรัชญา” ที่ได้รวบรวมแนวคิดนิติศาสตร์ในเชิงปรัชญาของนักปรัชญาจนถึงนักกฎหมายในแต่ละยุค จนเป็นหนังสือจำนวน 500 กว่าหน้า

จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์อ่านกฎหมาย เครือเดียวกันกับสำนักพิมพ์อ่าน

 

อ.วรเจตน์กล่าวว่า หากวิชาปรัชญาคือเรื่องราวของการตั้งคำถามกับชีวิต วิชานิติปรัชญาคือการตั้งคำถามกฎหมายที่คนเรียนกฎหมายไม่ถามกัน เช่น กฎหมายคืออะไร ต้องสัมพันธ์กับความยุติธรรมหรือไม่ จนแบ่งออกเป็น 2 สำนักคือ สำนักกฎหมายธรรมชาติ ที่กฎหมายต้องสัมพันธ์กับความยุติธรรมและศีลธรรม กับอีกสำนักคือ สำนักกฎหมายบ้านเมือง ที่กฎหมายต้องเป็นกฎเกณฑ์ที่บังคับบุคคลในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องยึดโยงเหมือนสำนักแรก

อ.วรเจตน์กล่าวอีกว่า สำนักกฎหมายธรรมชาติแม้มีจุดเด่นที่เชื่อมกับความยุติธรรม แต่เพราะความยุติธรรมเองกลับเป็นจุดอ่อน เพราะแต่ละคนมีความยุติธรรมที่ไม่เหมือนกัน จึงทำให้สำนักกฎหมายบ้านเมืองได้เปรียบเพราะกฎหมายต้องชัดเจนเพื่อบังคับใช้ เพื่อความมั่นคงของสิทธิหน้าที่ของบุคคล แต่จุดอ่อนของสำนักกฎหมายบ้านเมืองมีจุดอ่อน หากกฎเกณฑ์ไม่เป็นธรรมอย่างมาก ถูกใช้เพื่อกดขี่ จึงทำให้สำนักดังกล่าวถูกมองว่าชั่วร้าย ทั้งที่จริง คนที่ยึดสำนักกฎหมายบ้านเมืองต้องการเพียงทำให้กฎหมายชัดเจน จับต้องได้ ส่วนจะทำตามหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง

ด้วยเหตุนี้ ทั้ง 2 สำนัก จึงไม่ได้แตกต่างกัน แต่ว่าก่อนที่ว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องของมโนธรรมสำนึกหรือความรู้สึกทางศีลธรรมในการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล อันนี้สำคัญมาก

สิ่งสำคัญของหนังสือนี้คือ วิธีการให้เหตุผลของนักกฎหมาย ซึ่งสังคมไทยตลอด 12 ปี มีปัญหาเวลาถกเถียงในเรื่องต่างๆ โดยสังเกตว่าเมื่อใดความเห็นไม่ตรงกัน ก็จะเป็นศัตรูกันทันที และการโต้แย้งมักเป็นการกล่าวหามากกว่าให้เหตุผล

ทำให้สมองคนกล่าวหาฝ่อลงเพราะไม่ได้ฝึกใช้สติปัญญา ใช้เหตุผล และขอบอกกับสื่อด้วยว่าต้องอธิบายปัญหาด้วยเหตุผล มากกว่าการกล่าวหา

 

อ.วรเจตน์ยังกล่าวถึงนิติปรัชญากับปัญหาการใช้กฎหมายที่เกิดขึ้นในสังคมไทยว่า เป็นมรดกทางความคิดจาก พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ที่ได้รับอิทธิพลความคิดของจอห์น ออสติน ในช่วงที่เรียนกฎหมายว่า “กฎหมายคือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์” และฝังรากลงในความคิดนักกฎหมายไทยทุกคนจนถึงปัจจุบัน

ต่อมา ศ.ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ เริ่มนำวิชานิติปรัชญามาสอนในไทย มีมุมมองกับแนวคิดกฎหมายคือคำสั่งจากรัฏฐาธิปัตย์ว่า มันเป็นคำสอนที่นักกฎหมายไม่สนใจอะไรนอกจากอำนาจ แล้วเห็นว่า เวลาทำรัฐประหารสำเร็จ นักกฎหมายที่เชื่อในวิธีคิดแบบนี้ จะเข้าไปทำงานให้กับคณะรัฐประหาร ซึ่ง อ.ปรีดีมองด้วยวิธีคิดแบบกฎหมายธรรมชาติ ผลที่เกิดขึ้นคือ แนวคิดสำนักกฎหมายบ้านเมือง ถูกมองว่าชั่วร้าย ในขณะที่กฎหมายธรรมชาติคือ กฎหมายต้องเชื่อมกับความยุติธรรมมันดูดีกว่า

อย่างไรก็ตาม หากสังเกตการณ์รัฐประหาร 2 ครั้งหลังสุด จะพบว่า นักกฎหมายสายกฎหมายธรรมชาติที่เชื่อคุณธรรม แต่เหตุใดพอเกิดรัฐประหารกลับไม่มีปฏิกิริยาใดๆ

ในความคิดของสำนักกฎหมายบ้านเมืองจะกล่าวว่า “อะไรเป็นกฎหมาย” ให้ดูที่ข้อเท็จจริง ไม่ว่าใครเป็นรัฏฐาธิปัตย์หรือดูความมีประสิทธิภาพ

ถ้ามองแบบสำนักกฎหมายบ้านเมืองคือกฎหมายต้องเป็นกฎหมาย แต่หากขัดแย้งต่อมโนสำนึก ซึ่งแต่ละคนตอบหลายอย่าง แต่การที่บอกว่า คนเชื่อว่ากฎหมายเป็นศีลธรรมนั้นเป็นคนดี และมองคนที่แยกกฎหมายออกจากศีลธรรมว่าเป็นคนเลวนั้นเป็นเรื่องผิดจากแนวคิดสำนักกฎหมายบ้านเมือง

แต่หากจะกลับไปใช้กฎหมายที่ยึดโยงศีลธรรมนั้นไม่ง่ายและยากจะวินิจฉัย ซึ่งได้บอกกับนักเรียนกฎหมายเสมอว่า อย่าด่วนตัดสินไปก่อน ว่าเราถือความยุติธรรมจึงถูกตลอด หากบอกตัวเองเป็นคนดี เท่ากับผลักอีกฝ่ายเป็นคนไม่ดีในทันที

การที่เนติบริกรทำงานให้คณะรัฐประหาร บางคนอาจคิดแบบสำนักกฎหมายบ้านเมือง หรือบางคนไม่มีจุดยืนอะไรเลย เพราะถ้ามีจะต้องคิดอะไรได้บางอย่างมากกว่านี้

 

นอกจากนี้ อ.วรเจตน์ได้กล่าวว่า นักกฎหมายสำนักกฎหมายบ้านเมืองในต่างประเทศ พบว่าส่วนใหญ่เชื่อมั่นในประชาธิปไตย ในทางกลับกัน พวกนับถือสำนักกฎหมายธรรมชาติที่เชื่อว่าถูกต้องดีงาม จะน่ากลัวกว่า เพราะคลุมเสื้อคนดีวินิจฉัยคน แม้จะไม่ปฏิเสธเรื่องคนดีมีศีลธรรม

แต่ขอเตือนอย่าใช้คำว่า “คนดี” พร่ำเพรื่อ การที่บอกใครว่าเป็นคนดีคนเลว มันเป็นเครื่องแสดงออกว่า ตัวเองเป็นคนดีของคนอื่น

ทั้งนี้ ศ.ดร.วรเจตน์ได้ให้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ถ้าบ้านเมือง โครงสร้างรัฐเป็นประชาธิปไตย สำนักกฎหมายบ้านเมืองที่เน้นความมั่นคงในฐานะสิทธิหน้าที่จะต้องขึ้นนำ แต่ไม่ปฏิเสธแนวคิดกฎหมายธรรมชาติ ในขณะที่ ถ้าบ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่เป็นประชาธิปไตย สำนักกฎหมายธรรมชาติต้องขึ้นมานำ ส่วนแนวคิดสำนักกฎหมายบ้านเมืองควรถูกลดทอนในการบังคับใช้