ฆาตกรรมหมู่ที่ราฟาห์ อัตวินิบาตกรรมของอิสราเอล

(Photo by Eyad BABA / AFP)

เหตุการณ์ระดับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นภายใน “เขตอพยพ” ในราฟาห์ เมืองสุดท้ายติดกับชายแดนอียิปต์ของเขตปกครองฉนวนกาซา เมื่อ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา คือเหตุผลสำคัญที่ว่าทำไมทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้คนหรือองค์กรที่อยู่วงนอก ชาติพันธมิตรและอื่นๆ เตือนว่าจะเกิดขึ้น และร้องขอไม่ให้อิสราเอลดึงดันใช้กำลังทหารเข้าจัดการ “กวาดล้าง” ราฟาห์ อย่างที่วางแผนเอาไว้

หากจะยึดถือตามถ้อยแถลงของทางการอิสราเอลก็คือว่า การโจมตีทางอากาศที่เกิดขึ้นในวันนั้น ตั้งใจจะใช้เป็นการสังหาร “สมาชิกระดับสูงของฮามาส 2 ราย” อาวุธที่ใช้ เป็นอาวุธชนิดที่ “เล็กที่สุดเท่าที่จะใช้โจมตีจากเครื่องบินได้”

แต่ให้บังเอิญอาวุธที่อิสราเอลใช้ “ไปโดนเข้ากับบางอย่างที่ระเบิดลุกเป็นไฟได้” เพราะลำพังเพียงระเบิดของอิสราเอลไม่สามารถทำให้เกิดไฟลุกไหม้ แต่มีอะไรบางอย่างซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นก๊าซหุงต้มก่อให้เกิดไฟไหม้ขึ้นภายในแคมป์อพยพที่ประกอบขึ้นด้วยกลุ่มเต็นท์ที่พักอาศัย หายนะย่อมเกิดขึ้นตามมา

ไฟไหม้ครั้งนั้นทำให้พลเรือนปาเลสไตน์เสียชีวิตไปอย่างน้อย 45 ราย เป็นเด็กๆ นับสิบราย เหตุที่เกิดขึ้นสยดสยองเสียจนหมอฉุกเฉินที่เป็นแพทย์อาสารายหนึ่งออกปากว่า

“เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สังหารหมู่ที่สยดสยองที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ไม่ว่าจะในราฟาห์หรือทั่วทั้งฉนวนกาซาทั้งหมด”

 

ข้อเท็จจริงก็คือ ราฟาห์เป็นเมืองที่อยู่ในสภาพที่ใช้ปฏิบัติการทางทหารเข้าจัดการไม่ได้ นี่คือแหล่งหลบภัยสุดท้ายที่บรรดาพลเรือนปาเลสไตน์เรือนล้านค่อยๆ ทยอยหลบหนีการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลต่อพื้นที่ที่เป็นชุมชนเมืองต่างๆ ทางตอนเหนือของฉนวนกาซาตลอดระยะเวลา 7 เดือนของสงคราม เป็นเมืองที่ไม่เพียงแออัดยัดทะนานเท่านั้น แต่ยังอยู่ในสภาพสับสนอลหม่าน ขาดระเบียบกฎเกณฑ์

จริงอยู่ ผู้อพยพค่อยๆ ทยอยออกจากราฟาห์ไปตลอดในช่วง 3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ กระนั้นก็ยังมีปาเลสไตน์อีกหลายแสนคนคราคร่ำอยู่ที่นี่ เพราะไม่อยากหลบหนี หรือไม่ก็ไม่สามารถหลบหนีได้อีกต่อไปแล้ว

ในสภาพเช่นนี้ แม้แต่ปฏิบัติการทางทหารที่ระมัดระวังที่สุด ก็ยังสามารถทำให้พลเรือนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากถูกสังหารได้ ถังก๊าซหุงต้มคือหนึ่งในข้าวของจำเป็นที่ครอบครัวผู้พลัดถิ่นเหล่านี้แบกไปไหนมาไหนติดไปด้วยเสมอ และย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่สักถังหนึ่ง ในวันเวลาหนึ่ง จะจับพลัดจับผลูไปอยู่ผิดที่ผิดเวลา จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมขึ้นตามมา

อันที่จริง เหตุสยดสยองที่เกิดขึ้นในราฟาห์ คือภาพสะท้อนโดยรวมสำหรับสงครามกาซาของอิสราเอลหนนี้ สงครามที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่หายนะสำหรับปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาเท่านั้น แต่ยังเป็นหายนะครั้งสำคัญสำหรับอิสราเอลเองด้วยอีกต่างหาก

 

นักวิเคราะห์รายหนึ่งถึงกับบอกว่า นิยามที่ดีที่สุดของสงครามกาซา ก็คือ การ “สังหารหมู่บวกกับการอัตวินิบาตกรรม” เพราะเชื่อว่า ขณะที่กำลังฆาตกรรมหมู่ปาเลสไตน์นั้น อิสราเอลก็กำลังฆ่าตัวตายเองอย่างช้าๆ พร้อมกันไปด้วย

สงครามครั้งนี้ ทำให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตและได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการไปแล้วอย่างน้อย 28,000 ราย แม้ในความเป็นจริงอาจมีมากกว่านั้นอีกมากที่ถูกทิ้งไว้ใต้ซากปรักหักพังจากสารพัดอาวุธที่ถล่มใส่อาคารบ้านเรือน จนทำให้ 80 เปอร์เซ็นต์ของบ้านเรือนที่อยู่อาศัยทั้งหมดในกาซาถูกเสียหายหรือถูกทำลาย

ราว 85 เปอร์เซ็นต์ของปาเลสไตน์ทั้งหมดในกาซากลายเป็นคนพลัดถิ่น จนกลายเป็นที่มาของการเสียชีวิตจากความอดอยากหิวโหยและล้มป่วยด้วยโรคร้ายอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเป็นเท่าใด มีการประเมินทางวิชาการในงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า จะมีปาเลสไตน์อีกอย่างน้อย 500,000 รายป่วยหรืออดตายลงภายใน 1 ปี ถ้าหากสงครามครั้งนี้ยังคงดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด

ข้อกังขาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ อิสราเอลเองได้อะไรจากการทำสงครามอำมหิตครั้งนี้

 

จนกระทั่งถึงบัดนี้ โลกหรือแม้แต่ผู้คนไม่น้อยในอิสราเอลเอง ยังมองไม่เห็น “ความเปลี่ยนแปลง” ที่เกิดขึ้นจากการทำสงครามใหญ่ครั้งนี้ ในทางตรงกันข้าม เห็นได้ชัดว่า สงครามครั้งนี้มีเพียงแค่ผลประโยชน์ทางทหารในระยะสั้น แต่ไม่สามารถอำนวยให้อิสราเอลบรรลุถึงชัยชนะในทางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชัยชนะในเชิงยุทธศาสตร์ทางการเมืองระยะยาวได้

แม้แต่รัฐมนตรีร่วมคณะรัฐมนตรีสงครามของนายกรัฐมนตรี เบนยามิน เนทันยาฮู ก็เริ่มกังขา โยฟ กัลแลนต์ รัฐมนตรีกลาโหม ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตรงไปตรงมาว่า เนทันยาฮู “ไม่มีแผนปฏิบัติการหลังสงครามสิ้นสุด” อยู่ในมือแต่อย่างใด

กัลแลนต์ระบุว่า ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือครั้งแล้วครั้งเล่าแต่ไร้การสนองตอบใดๆ

เขาเชื่อว่า เมื่อปฏิบัติการทางทหารสิ้นสุด บรรลุวัตถุประสงค์ ก็ต้องมีปฏิบัติการทางการเมืองตามมา

ในกรณีนี้ก็คือ การดำเนินการเพื่อให้ปาเลสไตน์มีองค์กรทางการเมืองทางเลือกอื่นนอกเหนือจากฮามาสขึ้นมาปกครองกาซา ควบคู่ไปกับการกำกับดูแลจากนานาชาติ ซึ่งเนทันยาฮูไม่มี

เมื่อ 19 พฤษภาคม เบนนี แกนตซ์ ผู้นำพรรคเอกภาพแห่งชาติ หนึ่งในสมาชิก ครม.สงครามเช่นกัน ยื่นคำขาดต่อเนทันยาฮูว่า ถ้าหากยังไม่วางแผนปฏิบัติการทางการเมืองหลังสงครามที่นานาชาติเห็นพ้องและเข้าร่วมออกมาให้แล้วเสร็จ ตนก็จะลาออกจากการร่วม ครม.สงครามภายใน 8 มิถุนายนนี้

 

สงครามกาซาครั้งนี้ ส่งผลเสียต่ออิสราเอลในเวทีระหว่างประเทศอย่างยิ่งยวด ไม่เพียงการสนับสนุนจะหดหายไปเท่านั้น ผู้นำฝรั่งเศสและเยอรมนี ยังออกมาประณามพฤติกรรมของอิสราเอลในกรณีของราฟาห์ด้วยอีกต่างหาก

ที่น่าเศร้าที่สุดก็คือ สงครามหนนี้แทนที่จะทำให้ฮามาสอ่อนแอลงหรือล่มสลาย กลับส่งผลในทางตรงกันข้าม แน่นอนที่ว่า ความเข้มแข็งทางทหารของกองกำลังติดอาวุธฮามาสสูญเสียไปอย่างมาก กระนั้น สถานะทางการเมืองของฮามาสกลับแข็งแกร่งขึ้น ได้รับความนิยมจากหมู่ชาวปาเลสไตน์เพิ่มขึ้นจากเดิมด้วยซ้ำไป

ผลสำรวจความคิดเห็นในหมู่ชาวปาเลสไตน์ก่อนหน้าเกิดสงครามหนนี้ ฮามาสได้รับการสนับสนุนเพียง 22 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ 26 เปอร์เซ็นต์ให้การสนับสนุนกลุ่มฟาตาห์ ที่มีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่ด้านตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน

ล่าสุด ผลโพลแสดงให้เห็นว่า ความนิยมต่อฮามาสเพิ่มพรวดขึ้นเป็น 34 เปอร์เซ็นต์ ฟาตาห์หลงเหลือเพียง 17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

มาห์มู้ด มุชตาฮา นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวปาเลสไตน์ ระบุว่า อิสราเอลล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการทำสงครามครั้งนี้ เพราะสงครามหนนี้ทำลาย “เสาหลัก” ที่ค้ำจุนการดำรงอยู่ในระยะยาวของอิสราเอลไปโดยสิ้นเชิง หนึ่งคือ การได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ อีกหนึ่งก็คือ การทำให้ปาเลสไตน์ทั้งมวลเชื่อว่า สามารถอยู่ร่วมกับอิสราเอลโดยสันติได้

สงครามกาซาจึงเท่ากับเป็นการฆ่าตัวตายอย่างช้าๆ ของอิสราเอลนั่นเอง