อีกแล้ว”กิมเอ็ง”พี่”หญิงไก่”หัวโจกคดีตุ๋นเครื่องราชฯ อ้างเบื้องสูง-ลวงเงินบริจาค

กลายเป็นข่าวใหญ่พาดหัวหน้า 1 บนหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามบุกเข้าจับกุม นางกมนทรรศน์ ธนธรณ์โฆษิตจิร คาบ้านพักใน จ.นครสวรรค์

ในข้อหาแอบอ้างสถาบันเบื้องสูง เรียกรับผลประโยชน์

เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า นางกมนทรรศน์ คนนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน

ซึ่งก็คือ นางกิมเอ็ง แซ่เตียว ผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีตุ๋นเครื่องราชฯ ที่โด่งดังเมื่อ 30 ปีก่อน

และเมื่อพ้นโทษออกมา แทนที่จะกลับเนื้อกลับตัว กลับมีพฤติกรรมแบบเดิม และมีผู้หลงเชื่อสูญเสียเงินอีกนับล้านบาท

นอกจากนี้ ยังพบว่า “กิมเอ็ง” เป็นพี่สาวของ “หญิงไก่” ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกัน

ถือเป็นการปิดฉากของนักต้มตุ๋นระดับตำนานเลยทีเดียว

p0108280859p1

รวบ “กิมเอ็ง” แอบอ้างเบื้องสูง

หลังจากหญิงไก่ หรือ นางมณตา หยกรัตนกาญ ถูกแจ้งความเนื่องจากกลั่นแกล้งเด็กลูกจ้างให้ได้รับโทษอาญา ในเขตพื้นที่ สน.ประชาชื่น นำไปสู่การดำเนินคดี และสั่งย้ายตำรวจ สน.ประชาชื่น หลายนาย

และยังพบอีกว่า ไม่เพียงแค่การกลั่นแกล้ง หรือแจ้งความเท็จเท่านั้น นางมณตา ยังมีพฤติกรรมเข้าข่ายค้ามนุษย์ และแอบอ้างเบื้องสูง

ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม รับคดีนี้มาดูแล พร้อมตั้งคณะพนักงานสืบสวนมาดำเนินคดีโดยเฉพาะ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ควบคู่กับการทำงานและการรวบรวมพยานหลักฐาน ก็มีผู้ให้ข้อมูลมามอบหลักฐานว่ายังมีบุคคลอีกคนที่มีพฤติกรรมคล้ายกัน ด้วยการแอบอ้างเบื้องสูง เพื่อหาผลประโยชน์ โดยผู้หญิงคนดังกล่าว น่าจะเป็นบุคคลเดียวกับ นางกิมเอ็ง แซ่เตียว อดีตผู้ต้องหาคดีตุ๋นเครื่องราชฯ อันฉาวโฉ่ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว

เพียงแต่ตอนนี้ใช้ชื่อว่า ดร.กมนทรรศน์ ธนธรณโฆษิตจิร หรือแม่ตุ่ม จึงติดตามหาข้อมูล จนกระทั่งเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 มีสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งเผยแพร่วิดีทัศน์เฉลิมพระเกียรติ มีบทสัมภาษณ์ ดร.กมนทรรศน์ ระบุว่า เคยตามเสด็จใกล้ชิดบุคคลชั้นสูง อีกทั้งเป็นผู้ปรุงอาหารถวายในสำนักพระราชวัง

จึงรวบรวมพยานหลักฐานก่อนบุกจับกุมตัว ขณะหลบหนีไปที่ ต.เกยไชย อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ โดยเจ้าตัวให้การรับสารภาพทั้งหมด

โดย พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก. คุมตัวนางกมนทรรศน์ หรือกิมเอ็ง มาแถลงข่าวเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พร้อมระบุว่า การจับกุมดังกล่าวดำเนินการตามหมายจับศาลอาญาเลขที่ 1563/2559 ลงวันที่ 11 สิงหาคม ข้อหาร่วมกันฉ้อโกง และร่วมกันปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม

โดยหลังจากจับกุมได้นำตัวไปค้นห้องพักย่านลาดพร้าว 60 กทม. ก็พบของกลางจำนวนมาก อาทิ เหรียญที่ระลึกเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา กำไลข้อมือเงินมีข้อความ “Long Live The King” ซึ่งกำลังตรวจสอบว่าเป็นของแท้ หรือเป็นของที่ทำปลอมแปลงขึ้น

และจากการสอบสวนพบพฤติกรรมแอบอ้างใกล้ชิดบุคคลเบื้องสูง เป็นผู้ปรุงอาหารถวายในสำนักพระราชวัง สร้างภาพทางสังคมหรือสาธารณะให้ผู้พบเห็นเชื่อว่าเป็นผู้ใกล้ชิดกับบุคคลชั้นสูง แสดงตนเป็นตัวแทนประกอบพิธีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเฉลิมพระเกียรติ จัดงานวันเกิดยิ่งใหญ่

มีผู้แต่งกายเป็นเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง นำของขวัญและแจกันดอกไม้ อ้างได้รับพระราชทาน เพื่อให้บุคคลอื่นหลงเชื่อ จากนั้นชักชวนให้ร่วมทำบุญอ้างถวายเป็นพระราชกุศล มีผู้เสียหายหลายคนหลงเชื่อ มอบเงินสดและโอนเงินเข้าบัญชี

พร้อมทำหนังสือทรงขอบคุณปลอมให้กับเหยื่อด้วย

โดยประมาณเดือนสิงหาคม 2553 – 30 สิงหาคม 2555 ผู้บริหารบริษัทสกรีนบรรจุภัณฑ์แห่งหนึ่ง ถูกหลอกว่าสามารถขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้ได้ จนยอมมอบเงินให้ 17 ครั้ง รวมเป็นเงิน 2,979,300 ล้านบาท

จึงถูกแจ้งข้อหา หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ผิดข้อหา 112

1472701567_p0107010959p1
จับอดีต ขรก.วัง-ร่วมแก๊ง

พร้อมกันนั้น เจ้าหน้าที่ก็เร่งติดตามผู้ร่วมขบวนการ หลังจากพบว่ามีบุคคลอีก 2 คนที่เคยทำงานอยู่ในสำนักพระราชวัง มาร่วมขบวนการต้มตุ๋น โดยเป็นผู้แต่งเครื่องแบบสำนักพระราชวัง แอบอ้างนำดอกไม้พระราชทานมามอบให้นางกิมเอ็งในวันเกิด หรืองานสำคัญต่างๆ

หลังจากรวบรวมหลักฐาน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ขออนุมัติหมายจับเพิ่มเติมอีก 2 ราย ประกอบด้วย นายถาวร พวงประทุม อายุ 66 ปี อดีตพนักงานสำนักพระราชวัง ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1651/2559 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2559 และ นายสมศักดิ์ สิริยาคม

ซึ่งมีหลักฐานเป็นรูปถ่ายขณะนางกิมเอ็ง อ้างว่ารับดอกไม้พระราชทานในงานวันเกิด จากสำนักพระราชวัง โดยนายถาวร อ้างเป็นเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเชิญพานแจกันดอกไม้พระราชทาน ส่วนนายสมศักดิ์ ทำหน้าที่เป็นผู้มอบให้นางกิมเอ็ง

และ 4 ทุ่มวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็บุกเข้าจับกุมนายถาวร ในบ้านพักย่านห้วยขวาง พร้อมควบคุมตัวมาสอบสวน แต่เจ้าตัวให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอให้การในชั้นศาล พร้อมยืนยันว่าตัวเองก็ตกเป็นเหยื่อตุ๋นของนางกิมเอ็ง และนายสมศักดิ์ ที่ล่อลวงให้มาร่วมขบวนการเช่นกัน

ส่วนจะเป็นอย่างไร หากจับกุมนายสมศักดิ์ ผู้ต้องหาคนสำคัญอีกคนได้ ข้อเท็จจริงก็คงจะกระจ่างขึ้น

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังพบพฤติกรรมที่นางกิมเอ็งเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ใน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ที่ใช้พื้นที่ทหารในการจัดกิจกรรม นอกจากนี้ ยังพบวิดีทัศน์สารคดีเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งนางกิมเอ็งไปร่วมงานในวันคัดเลือกตัวแสดง เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีนายทหารยศ พล.ต. และ พ.อ. มาร่วมงานด้วย

อีกทั้งยังพบว่าขบวนการดังกล่าวมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และบุคคลมีสีเข้าไปเกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต่อคุณ ภักดีชนก ช่วยราชการกรมการทหารช่าง ราชบุรี เจ้าของ หจก.ภักดีชนก จำกัด ผู้ผลิตสารคดีเฉลิมพระเกียรติฯ รีบเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ พร้อมยืนยันว่าเพิ่งรู้จักนางกิมเอ็ง เมื่อวันคัดเลือกตัวแสดง ซึ่งอ้างว่าเป็นคุณหญิง จึงอนุญาตให้ร่วมแสดง เพราะต้องการผู้ร่วมแสดงที่ได้รับความน่าเชื่อถือทางสังคม

เมื่อเป็นเช่นนี้ทางบริษัทก็เสียหาย ตนเองก็ถูกผู้บังคับบัญชาเพ่งเล็ง จึงจะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษนางกิมเอ็งอีกด้วย

และไม่ใช่มีผู้เสียหายเพียงเท่านี้ แต่ยังมีเจ้าทุกข์เข้าทยอยแจ้งความร้องทุกข์ โดยมีรายหนึ่งระบุว่านางกิมเอ็งหลอกลวงนำเงินจากผู้เสียหาย อ้างว่าจะเอาไปซื้อผลไม้ให้กับบุคคลชั้นสูง โดยหลอกลวงหลายครั้ง มูลค่าความเสียหายรวม 7 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีเจ้าทุกข์อีก 5-6 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องขยายผลต่อไป

1472911491_p0161040959p3
ย้อนประวัตินักตุ๋นเครื่องราชฯ

สําหรับนางกิมเอ็ง เมื่อตรวจสอบประวัติแล้ว ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เคยตกเป็นข่าวโด่งดังเมื่อปี 2529-2530 คดีแก๊งตุ๋นเครื่องราชอิสริยาภรณ์

โดยจุดเริ่มต้นของคดีนี้มาจากสำนักเลขาธิการ ครม. เมื่อปี 2529 ตรวจสอบพบรายการขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปี 2529 ในส่วนของผู้ทำคุณประโยชน์แก่ทางราชการกว่า 750 รายการ ที่ระบุบริจาคเงินและสิ่งของให้วัดและโรงเรียนต่างๆ โดยมีใบอนุโมทนาบัตร ระบุจำนวนเงิน 1,400 ล้านบาท ส่อเค้าไม่ถูกต้อง

เนื่องจากพอสุ่มตรวจสอบไปยังแหล่งที่มา ต่างระบุไม่ได้รับการบริจาคตามที่อ้างไว้ ทำให้ทุกหน่วยงานมีการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวทั้งหมด

จากการสอบสวนของกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทราบว่าคดีนี้มีพระภิกษุสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยจากพยานหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงพระราชปัญญาโกศล หรือเจ้าคุณอุดม รองเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสในขณะนั้น ก่อนถูกสึกจากการเป็นพระและดำเนินคดีตามกฎหมาย

จากนั้นเจ้าหน้าที่ยังขยายผลถึงนางกิมเอ็งด้วย จากการตรวจค้นบ้านพักพบบัญชีรายชื่อและรูปถ่ายแต่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์จำนวนมาก แต่เมื่อตำรวจตรวจสอบย้อนหลังกลับไม่ปรากฏชื่อนางกิมเอ็งในราชกิจจานุเบกษา แถมยังมีหลักฐานเชื่อมโยงกันระหว่างเจ้าคุณอุดมด้วย

เมื่อเจ้าหน้าที่สอบสวนพบนางกิมเอ็งทำหน้าที่เป็นนายหน้าหาคนดังในสังคมมาให้เจ้าคุณอุดม โดยนางกิมเอ็งมักชอบนำสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์มาสวมใส่แอบอ้างหลอกลวง กระทั่งตำรวจชุดสืบสวนได้พยานปากสำคัญคือ “นางไก่” หรือ นางวันทนีย์ น้องสาวของนางกิมเอ็ง เนื่องจากนางไก่จะรู้ถึงอุปนิสัยและพฤติกรรมในการหลอกลวงของพี่สาวอย่างดี

นอกจากนี้ นางไก่ ยังเป็นโจทก์แจ้งความเอาผิดกับนางกิมเอ็ง ฐานฉ้อโกงด้วย ก่อนนางกิมเอ็งจะถูกดำเนินคดีและกลับมาเป็นข่าวครึกโครมอีกครั้ง โดยถูกตำรวจกองปราบฯ จับกุมฐานแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงและฉ้อโกงเงิน

และหลังจากออกจากคุก ก็ไม่มีอาชีพอะไร แต่อ้างตัวเป็นด๊อกเตอร์ จบจากมหาวิทยาลัยเชอร์วู้ด สหรัฐอเมริกา แต่ก็พบว่าเป็นเพียงการแอบอ้าง

จนมาถูกดำเนินคดีอีกครั้ง ปิดฉากตำนานจอมตุ๋นระดับประเทศ