2 นักวิชาการ ‘สุวิชา-สิริพรรณ’ วิเคราะห์เซฟโซนปาร์ตี้ลิสต์

2 นักวิชาการ ‘สุวิชา-สิริพรรณ’ วิเคราะห์เซฟโซนปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทย 40 ก้าวไกล 15 พรรคลุงป้อม-ลุงตู่-เสี่ยหนู 6 เท่ากัน

 

4 เมษายน ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ ของแต่ละพรรคการเมือง ถูกเปิดเผยสู่สาธารณะ พร้อมการเรียงลำดับจาก 1-100 แม้บางพรรคจะส่งรายชื่อไม่เต็มร้อย แต่ก็ทำให้เห็นนัยการจัดวางคนของแต่ละพรรค

เมื่อรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ถูกกางออก ย่อมเกิดคำถามว่า เซฟโซน หรือลำดับที่ปลอดภัยที่จะได้เป็น ส.ส.ของแต่ละพรรคการเมือง อยู่ในลำดับที่เท่าไร

เพราะจากคำนวณการเลือกตั้งครั้งนี้ คำนวณประชากร 52 ล้านคน ใช้สิทธิ 35 ล้าน เก้าอี้ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ 1 เก้าอี้ จะเท่ากับเสียง 3.5 แสนเสียง

ฉะนั้น โอกาสของพรรคเล็กรอบนี้ เรียกว่า หืดขึ้นคอเลยทีเดียว หลายพรรคมีโอกาสสาบสูญ ไม่ได้ ส.ส.เลย

ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” วิเคราะห์เซฟโซนปาร์ตี้ลิสต์ ในรายการ The Politics 31 มีนาคม 2566 อย่างมั่นใจว่า พรรคเพื่อไทย เซฟโซนอยู่ที่ 40 ที่นั่ง เป็นตัวเลขที่เซฟสุดๆ

พรรคก้าวไกล 14-15 ที่นั่ง ถ้าเลวร้ายที่สุด 13 ที่นั่ง ถ้ากระแสดีสุด จะไปถึง 17 ที่นั่ง เพราะคะแนนของพรรคก้าวไกล ค่อนข้างนิ่ง

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย เซฟโซนของสามพรรคนี้ เท่ากันคือ ประมาณ 6 ที่นั่ง

ส่วนที่เหลือจะแบ่งกัน จะแบ่งกันในพรรคเล็ก เช่น พรรคไทยสร้างไทย พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเสรีรวมไทย

 

ขณะที่ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ วิเคราะห์เซฟโซนของพรรคการเมือง ในรายการ The Politics 4 เมษายน 2566 ในภาพกว้างส่วนแบ่งของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 ที่นั่ง หรือ 100% ขั้วพรรคฝ่ายค้านเดิม พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล จะได้ไป 60%

ขั้วฝ่ายรัฐบาลเดิม พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ จะได้แค่ 30%

ที่เหลือ 10% แบ่งกันในพรรคเล็ก

เมื่อเจาะรายพรรค เซฟโซนของแต่ละพรรคการเมือง จะพบว่า พรรคเพื่อไทย จะอยู่ประมาณ 40 ที่นั่ง บวกลบ มากสุดไปถึง 45 ที่นั่ง

พรรคก้าวไกล ประมาณ 20 ที่นั่ง

พรรคเสรีรวมไทย ประมาณ 3-4 ที่นั่ง

พรรคประชาชาติ ประมาณ 1-2 ที่นั่ง

พรรคไทยสร้างไทย 3-4 ที่นั่ง

ส่วนขั้วรัฐบาลเดิม พรรครวมไทยสร้างชาติ เซฟโซนจะประมาณ 10 ที่นั่ง

พรรคพลังประชารัฐ จะอยู่ประมาณ 5 ที่นั่ง

พรรคประชาธิปัตย์ ประมาณ 10-12 ที่นั่ง

พรรคภูมิใจไทย เซฟโซนประมาณ 5 ที่นั่ง

ส่วนในภาพใหญ่ที่รวม ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อแล้ว ศ.ดร.สิริพรรณเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยจะได้เก้าอี้ 210-250 ที่นั่ง พรรคก้าวไกล 45-50 ที่นั่ง

ส่วนอีกขั้วหนึ่ง พรรคภูมิใจไทย 70 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ 50 ที่นั่ง พรรครวมไทยสร้างชาติ 40 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 40 ที่นั่ง

 

นี่คือตัวเลขจากฐานข้อมูลนิด้าโพล และฐานข้อมูลของ ศ.ดร.สิริพรรณ เมื่อเห็นเซฟโซนของแต่ละพรรคแล้ว จะต้องมาดูว่า แต่ละพรรคการเมืองจัดลำดับปาร์ตี้ลิสต์กันอย่างไร เพื่อมาดูว่า ใครมีโอกาสจะได้เป็น ส.ส. ใครมีโอกาสสอบตก เพราะพ้นแนวเซฟโซน

เริ่มจากพรรคเพื่อไทย ลำดับบัญชีรายชื่อเพื่อไทย 100 คน ลำดับ 40 คนแรก คือ 1.พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ 2.นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ 3.นายประเสริฐ จันทรรวงทอง 4.รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล 5.ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง 6.นายเกรียง กัลป์ตินันท์ 7.ดร.สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 8.นายสุชาติ ตันเจริญ 9 ดร.สุทิน คลังแสง 10.ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ

11.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 12.นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ 13.นายจาตุรนต์ ฉายแสง 14.นายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร 15.นายนพดล ปัทมะ 16.นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์

17.นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ 18.รศ.ดร.อดิศร เพียงเกษ 19.นายนิคม บุญวิเศษ 20.น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล 21.น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล

22.นางประวีณ์นุช อินทปัญญา 23.นายสุรเกียรติ เทียนทอง 24.นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ 25.นายดนุพร ปุณณกันต์ 26.ดร.อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด 27.พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี 28.นายสุธรรม แสงประทุม 29.ผศ.ดร.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ 30.ทพญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์

31.น.ส.เพ็ญชิสา หงษ์อุปถัมภ์ชัย 32.น.ส.ละออง ติยะไพรัช 33.นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช 34.นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ 35.รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ 36.นายก่อแก้ว พิกุลทอง 37.นายขจิตร ชัยนิคม 38.นายเอกพร รักความสุข 39.นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย 40.นายธนพงศ์ ธนเดชากุล

เซฟโซนของพรรคเพื่อไทย อยู่ที่ประมาณ 40 ขณะที่ลำดับท้ายๆ เช่น 96.นายพิชัย นริพทะพันธุ์ 97.นายพงศกร อรรณนพพร 98.ดร.พวงเพ็ชร์ ชุนละเอียด 99.นายสนธยา คุณปลื้ม 100.นายภูมิธรรม เวชยชัย ล้วนเป็นบุคคลสำคัญ แต่กลับมาปิดท้ายบัญชีรายชื่อ จนเป็นที่ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐมนตรีอาจมาจากบัญชีรายชื่อท้ายๆ

จากรายชื่อลำดับต้น จะเป็นอดีตหัวหน้าพรรคและกลุ่มแกนนำพรรคที่อยู่มานาน จากนั้นลำดับถัดมา จะเป็นแกนนำที่เคยอยู่ด้วยกันตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยและจะวางตัวให้ทำงานในสภา และลำดับท้ายๆ จะอยู่ในฝ่ายบริหาร

 

บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล 92 รายชื่อ บุคคลลำดับต้นๆ ที่น่าสนใจคือ 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 2.นายชัยธวัช ตุลาธน 3.น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล 4.นายเซีย จำปาทอง 5.นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล 6.นายอภิชาติ ศิริสุนทร 7.นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร 8.นายรังสิมันต์ โรม 9.นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล 10.นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ

11.นายพริษฐ์ วัชรสินธุ 12.นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ 14.น.ส.เบญจา แสงจันทร์ 17.นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง 19.นายมานพ คีรีภูวดล 20.นายรอมฎอน ปันจอร์ 21.นายกรุณพล เทียนสุวรรณ

ก้าวไกล 10 อันดับแรก เป็นแกนนำพรรค และอดีต ส.ส.ที่มีบทบาทโดดเด่นรวมถึงตัวแทนจากปีกแรงงาน และทีมเศรษฐกิจ

ขณะถัดมามีทั้งตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ และนักสิทธิมนุษยชนจากภาคใต้

 

บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ 85 รายชื่อ บุคคลที่น่าสนใจลำดับต้นๆ 1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 2.นายสันติ พร้อมพัฒน์ 3.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ 4.นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ 5.นายอุตตม สาวนายน 6.นายไพบูลย์ นิติตะวัน 7.นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ 8.น.ส.พิม อัศวเหม 9.นายวิรัช รัตนเศรษฐ 10.นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ 11.นายสกลธี ภัททิยกุล 12.นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ 16.น.ส.ธนพร ศรีวิราช 18.นายอภิชัย เตชะอุบล 22 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ

บัญชีรายชื่อภูมิใจไทย 98 คน ลำดับที่น่าสนใจลำดับต้นๆ คือ 1.อนุทิน ชาญวีรกูล 2.ศักดิ์สยาม ชิดชอบ 3.ทรงศักดิ์ ทองศรี 4.ชลัฐ รัชกิจประการ 5.ชนม์ทิดา อัศวเหม 6.นันทนา สงฆ์ประชา 7.พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 8.ศุภชัย ใจสุมทร 9.ไตรศุลี ไตรสรณกุล 10.ศุภมาส อิศรภักดี 11.สรอรรถ กลิ่นประทุม 12.นัจมุดดีน อูมา

บุคคลที่น่าสนใจระดับกลางๆ คือ 17.ภิญโญ นิโรจน์ 19.อารี ไกรนรา 20.สามารถ แก้วมีชัย 21.อนุสรี ทับสุวรรณ 23.บุญดำรง ประเสริฐโสภา 26.สวาป เผ่าประทาน 27.สุพล ฟองงาม 30.เกษมสันต์ มีทิพย์

 

ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอมา 100 คน ที่น่าสนใจคือ 1.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 2.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ 3.นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ 4.ม.ล.ชโยทิต กฤดากร 5.นายสุชาติ ชมกลิ่น 6.นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ 7.นายวิทยา แก้วภราดัย 8.นายชัชวาลล์ คงอุดม 9.นายจุติ ไกรฤกษ์ 10.นายธนกร วังบุญคงชนะ

ลำดับที่น่าสนใจ 14.นายอนุชา บูรพชัยศรี 15.นายเสกสกล อัตถาวงศ์ 16.นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู 17.นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ 18.นางสาวทิพานัน ศิริชนะ 19.นายโรจน์พิศาล อินทรักษ์ และ 20.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

บัญชีรายชื่อประชาธิปัตย์ เสนอมา 98 คน บุคคลที่น่าจับตามอง 1.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 2.นายชวน หลีกภัย 3.นายบัญญัติ บรรทัดฐาน 4.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช 5.นายนิพนธ์ บุญญามณี 6.นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ 7.นายนราพัฒน์ แก้วทอง 8.นายไชยยศ จิรเมธากร 9.นายเกียรติ สิทธีอมร 10.น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร 11.นางวทันยา บุนนาค 12.นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 16.น.ส.รัชดา ธนาดิเรก 18.นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ 19.นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข และ 20.นายสุรบถ หลีกภัย

ดราม่าคือ ลำดับที่ 10 น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร ลำดับที่ 11 นางวทันยา บุนนาค หรือมาดามเดียร์ เป็นสองผู้หญิงที่ชิงความเหนือกว่ากัน จนที่สุด ตั๊นแซงมาดามเดียร์มาได้ 1 ลำดับ

 

ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย เสนอมา 57 ลำดับ ที่น่าสนใจคือ 1.พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส 2.นายมังกร ยนต์ตระกูล 3.นายวิรัตน์ วรศสิริน 4.น.ส.นภาพร เพ็ชร์จินดา 5.นายเพชร เอกกำลังกุล 6.รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร

บัญชีรายชื่อประชาชาติ เสนอมา 68 ลำดับ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ นายยู่สิน จินตภากร นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ นายวรวีร์ มะกูดี นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ พล.ต.ท.พัฒนวุธ อังคะนาวิน นายฐาคณิษฐ์ พรทองประเสริฐ นายมุข สุไลมาน

บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย 97 รายชื่อ ลำดับต้นๆ คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี น.ต.ศิธา ทิวารี นายอุดมเดช รัตนเสถียร นายประวัฒน์ อุตตะโมช นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น พ.ต.ท.กุลธน ประจวบเหมาะ นายประพนธ์ เนตรรังษี

ข้อสังเกตจากนักวิชาการอย่าง ศ.ดร.สิริพรรณ คือ 80% ของปาร์ตี้ลิสต์ เป็นบุคคลที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เป็นบุคคลที่พรรคการเมืองใส่เข้ามา โดยไม่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนแต่อย่างใด

นี่คือภาพสะท้อนการเมืองในระบบอุปถัมภ์แบบไทยๆ โดยแท้