จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (16)

คนทุกคนย่อมต้องมี “ครั้งแรก” ได้พบเห็น ได้ทำอะไรๆ ทั้งที่มีความตั้งใจและไม่ตั้งใจ ได้เดินทางสู่สถานที่แห่งใหม่ๆ เปิดโลกกว้างเพื่อการเรียนรู้มากขึ้น และ ฯลฯ

เกิดเติบโตมาเป็นชีวิตเริ่มจะก่อร่างสร้างครอบครัวด้วยวัยสามสิบต้นๆ แต่เพิ่งจะได้เดินทางไปต่างประเทศเป็น “ครั้งแรก” แล้วยังได้ไปเยือนถึงแถบถิ่นแดนดินในทวีปยุโรปหลายประเทศ

เรื่องราวเก่าๆ เนิ่นนานที่เก็บมาบอกเล่าเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 เวลาจึงผ่านมาใกล้ 40 ปี ฉะนั้น ตัวละครหลายๆ ท่านที่อาจจำเป็นต้องกล่าวถึงบ้างจึงไม่มีลมหายใจอยู่แล้ว สิ้นบุญล้มหายตายจากไปตามกาลเวลา

อย่างเช่นคนต้นเรื่อง คือ อาจารย์คึกฤทธิ์ ผู้มีพระคุณทำให้เกิดมีครั้งแรกได้เดินทางไปยัง 3 ประเทศในยุโรป ก็เสียชีวิตลงตั้งแต่ปี พ.ศ.2538

อาจารย์คึกฤทธิ์ ต้องการเดินทางไปถวายพระพร สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “สมเด็จย่า” ของคนทั้งแผ่นดิน ยังเมืองโลซานน์ (Lausanne) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland) เนื่องจากขณะนั้นสมเด็จย่าประทับอยู่ยังแฟลตเลขที่ 19 ถนนอาวองต์โพสต์ (ปัจจุบันนี้ได้ถูกรื้อลงแล้วเนื่องจากสภาพทรุดโทรมไปตามกาลเวลา และได้สร้างขึ้นใหม่เป็นอาคารอพาร์ตเมนต์ 3 ชั้นสำหรับให้เช่าพักอาศัย)

วันพระราชสมภพของสมเด็จย่า คือวันที่ 21 ตุลาคม 2443 คณะของท่านจำเป็นต้องออกจากเมืองไทยล่วงหน้า

อาจารย์ พร้อมเลขานุการส่วนตัวขณะนั้นคือ คุณธนญชัย นาบุญเสริฐ (หลวง) พร้อมผู้ติดตามอีก 1 คน ซึ่งกลายเป็นผู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์หลายสิ่งอย่างจากการเดินทางเมื่อเกือบ 40 ปีมาเล่าแล้วเล่าอีกตลอดมา

 

การเดินทางออกนอกประเทศไปกับผู้ใหญ่ระดับ (อดีต) “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งไม่เคยคิดจะใช้อภิสิทธิ์อะไรเป็นพิเศษ เพียงได้รับการอำนวยความสะดวกตามปกติก็ค่อนข้างสะดวกสบาย ผู้ติดสอยห้อยตามก็ย่อมสบายไปด้วย ไม่ว่าเรื่องของหนังสือเดินทาง วีซ่าต่างๆ มีคนจัดการให้ทั้งหมด เพียงแค่ไปแคะกระปุกหาแลกเงินไปซื้อหาอะไรที่อยากได้บ้างก็พอ

ออกเดินทางโดยการบินไทย สายการบินแห่งชาติ จากกรุงเทพฯ สู่สนามบินซูริก (Zurich) สวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland) ถึงเอายามเช้า มีเจ้าหน้าที่ของสถานทูต ซึ่งประจำอยู่ที่นครเจนีวา (Geneva) มาให้การต้อนรับพาไปยังโรงแรมที่จองไว้ริมทะเลสาบเจนีวา ชื่อ “Hotel De La Paix” รับประทานอาหารกลางวันยังโรงแรมที่พัก ซึ่งจนถึงวันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าผู้ติดตามเกือบจะไปสร้างเรื่องขายหน้าไว้ที่นั่นเสียแล้ว บังเอิญใช้ความว่องไวเอาตัวรอดมุดเข้าไปอ้วกในห้องน้ำได้ทัน

ความที่พยายามจะลอกเลียนแบบอาจารย์คึกฤทธิ์ แทบทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งการรับประทานอาหาร ซึ่งท่านก็แนะนำสั่งสอนให้กินนั่นกินนี้จนชีวิตอยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ

เช่น ก่อนรับประทานอาหารเย็นจะต้องมีเหล้าบางชนิดดื่มเพื่อเรียกน้ำย่อย อาหารกลางวันมื้อแรกในต่างเมือง ผู้ติดตามจึงแอบสั่ง “มาร์ตินี” (Dry Matini on the rocks) มาจิบก่อนรับประทานอาหาร

โดยไม่เจียมตัวว่าเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมานั่งอยู่บนเครื่องบินทั้งคืน นอนหลับๆ ตื่นๆ เมื่อบินถึงซูริก-สวิตเซอร์แลนด์ อากาศก็เปลี่ยน

พอดื่มเหล้าเข้าไปก็ได้เรื่องทันที เมื่อตามด้วยอาหารมันจึงออกมาหมด

 

อันที่จริงคนระดับ (อดีต) นายกรัฐมนตรี เดินทางโดยสายการบินแห่งชาติ คิดว่าจะมีเจ้าหน้าที่ซึ่งอย่างน้อยควรเป็นระดับผู้บริหาร ไปอำนวยความสะดวกบ้าง แต่ก็ไม่เห็นหน้าผู้ใหญ่มาส่ง

เพิ่งจะรู้ทีหลังว่าเพราะอาจารย์ไม่ต้องการ เนื่องจากความขัดแย้งเดิมระหว่างการบินไทยกับท่านซึ่งเข้าใจผิดขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรี ยังไม่จางหาย เอาเป็นว่าอดีตนายกฯ ยังไม่ยอมให้อภัยในเวลานั้น

อาจจะลืมกันไปแล้วก็ได้ว่าช่วงหนึ่งบ้านเรามีสายการบินชื่อ “แอร์สยาม” เกิดขึ้นมาอีกสายหนึ่ง ซึ่งทำให้การบินไทยถูกแบ่งผู้โดยสารในบางเส้นทางไปบ้าง เรื่องราวแต่หนหลังเกิดขึ้นจากการแบ่งโควต้าของผู้โดยสารเส้นทางบินกรุงเทพฯ-ฮ่องกง ประมาณนี้แหละ อาจารย์คึกฤทธิ์เล่าว่าพยายามช่วยเหลือการบินไทยให้ได้มากที่สุด แต่ข่าวที่ออกมาเผยแพร่กลายเป็นว่าท่านยืนเข้าข้างแอร์สยาม

การบินไทยในยุคนั้นมี ร้อยตำรวจโทฉัตรชัย บุญยะอนันต์ (เสียชีวิต) เป็นใหญ่ เรียกกันว่าเป็น “ผู้กว้างขวาง” แห่งการบินไทย ก็ทำการต่อต้านพรรคกิจสังคม และ (อดีต) นายกรัฐมนตรี

คนอย่างท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ คงไม่ยอมง่ายๆ ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีไม่ยอมใช้บริการของการบินไทยระหว่างเดินทางไปต่างประเทศทั้งๆ ที่เป็นสายการบินแห่งชาติ

ท่านเคืองมาก ทำดีไม่ได้ดี ถึงขนาดเรียกกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ว่า “ตี๋ใหญ่” ตามเชื้อชาติจีน (ไหหนำ) ทีเดียว แม้จะเป็นนักเรียนเก่าอังกฤษก็ตาม

 

ข้าราชการของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งประจำอยู่ที่นครเจนีวาให้การต้อนรับเป็นอย่างดีทั้งๆ ที่อาจารย์คึกฤทธิ์อยากจะเที่ยวพักผ่อนแบบสบายๆ เป็นส่วนตัว เขาก็ไม่ยอม จึงส่งท่าน “สุพจน์ ธีรเกาศัลย์” มาช่วยเหลือดูแล ช่วยขับรถพาไปเที่ยวชมบ้านเมือง

กระทั่งวันหนึ่งเกือบจะไปติดบนยอดเขาขณะเมื่อเดินทางออกนอกเมืองเพื่อหาดูหิมะ ด้วยว่าอาจารย์คึกฤทธิ์ต้องการจะเอาใจลูกศิษย์บ้านนอกคอกนาได้เห็นหิมะ

ท่านสุพจน์ ซึ่งเพิ่งย้ายมาจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนามเพื่อนบ้านในเอเชียของเรา เมื่อออกจากกระทรวงไปประจำที่นั่นหลังสงครามเวียดนาม แล้วมารับตำแหน่งอยู่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เรียกว่าเติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงานอันเนื่องมาจากความสามารถรวมกับนิสัยใจคอด้วยอีกส่วนหนึ่ง

ตั้งแต่ได้พบและรู้จักกันแบบผิวเผินในฐานะผู้ติดตามอาจารย์คึกฤทธิ์ ไปยังสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเกือบ 40 ปีก่อนก็มิได้ติดต่อกันอีกเลยอาจเป็นเพราะความแตกต่างเรื่องอาชีพ และสังคมของนักการทูตกับคนในแวดวงสื่อมวลชนซึ่งน่าจะไม่ค่อยข้องเกี่ยวกัน

แต่ก็ทราบว่าท่านเติบโตในหน้าที่การงานโยกย้ายไปอยู่กรุงโรม ประเทศอิตาลี (Italy) และข้ามจากยุโรปไปเป็นกงสุลใหญ่ประจำนครลอสแองเจลิส (Los Angeles) สหรัฐอเมริกา

ขณะยังพักอยู่ที่ Hotel De La paix นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ได้รับการอธิบายว่าโรงแรมริมทะเลสาบเจนีวาแห่งนี้แปลว่า “สันติภาพ” ซึ่งเราไม่แปลกใจเลยเนื่องจากตามห้องพักจะประดับไปด้วยงาน ชื่อ “Peace” ของ ปิกัสโซ (Pable Picasso) ซึ่งเป็นงานพิมพ์หิน (Lithograph) รูป “นกพิราบคาบช่อมะกอก” อันโด่งดัง ซึ่งรัฐบาลสเปนประเทศแม่ของศิลปินใหญ่ผู้โด่งดังก้องโลกจอมเจ้าชู้ท่านนี้ถือกำเนิด ได้นำไปเป็นสัญลักษณ์ และแปรอักษรในสนามกีฬาระหว่างพิธีเปิดการแข่งขันกีฬา “โอลิมปิก” ซึ่งสเปนได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ท่านสุพจน์ขับรถมารับไปหาดูหิมะนอกเมืองตามประสงค์ ขึ้นไปบนเขาซึ่งมีหิมะเริ่มโปรยปรายลงมาบ้าง แต่ดูเหมือนว่าจะเดินทางกันไปตามแผนที่เพื่อค้นหาโดยขับรถไต่ถนนแคบๆ ขึ้นไปบนภูเขาซึ่งขณะมองลงมาด้านล่างสูงจนน่ากลัว และไม่มีที่กลับรถ ไม่รู้เหมือนกันว่าทางจะไปตันตรงไหน แต่เราก็ดั้นด้นไปจนเจอบ้านหลังหนึ่งมีลานใช้กลับรถลงมาได้อย่างน่าอัศจรรย์

อาจารย์คึกฤทธิ์ได้พูดคุยกับเจ้าของบ้านขณะที่ผู้ติดตามพยายามสำรวจด้วยสายตากับบ้านน่าอยู่อาศัยนั้นเห็นว่าเต็มไปด้วยกองฟืนจำนวนมากรวมทั้งมีขาหมู ขาวัวรมควัน หมูแฮม ฯลฯ ซึ่งเป็นการเตรียมไว้ระหว่างฤดูหิมะตกไม่สามารถออกเดินทางไปไหนได้ เรียกว่าพักอยู่กับบ้านจนหมดหิมะซึ่งคงจะเป็นเวลาหลายเดือน

อาจารย์บอกกับพวกเราเมื่อหลายสิบปีแล้วว่า ศิลปิน นักเขียนต่างๆ จะใช้เวลาในช่วงที่หิมะปกคุลมไปทั้งยอดเขาเดินทางไปไหนไม่ได้ ก่อไฟผิงด้วยฟืนที่เตรียมไว้จนเพียงพอเช่นเดียวกับอาหารเพื่อคิดค้นสร้างงาน

ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทุกวันนี้วิถีเหล่านี้ อะไรๆ จะเปลี่ยนแปลงไปจนหมดสิ้นแล้วไม่?

 

แรกทีเดียวก็ออกจะงงๆ ว่าประเทศสวิสซึ่งมีทิวทัศน์สวยงามจะมีทะเลสาบทุกเมือง หลังจากได้ศึกษาแผนที่ของบ้านเมืองเขา และพูดกับท่านผู้รู้ทั้งหลายก็พออธิบายง่ายๆ อย่างนี้ว่าทะเลสาบยาวเหยียดจะผ่าไปกลางเมือง แล้วล้อมรอบไปด้วยภูเขาผ่านเมืองไหนก็เรียกว่าทะเลสาบตามชื่อของเมืองนั้น เช่น ทะเลสาบเจนีวา ทะเลสาบโลซานน์ ลูเซิร์น ฯลฯ ประมาณนี้

โรงแรมที่อาจารย์คึกฤทธิ์พัก อยู่ไม่ไกลจากบ้านพักของ (อดีต) นายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (เสียชีวิต) ซึ่งท่านก็เดินทางมาพร้อมกับท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ ช่วงเวลานั้นเช่นกัน เพื่อรอให้การต้อนรับ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (อดีต) นายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมาถึงในวันรุ่งขึ้น

เพื่อปฏิบัติภารกิจเดียวกันกับ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (อดีต) นายกรัฐมนตรี