สื่อเทศมอง ‘อาเซียน’ ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ภูมิภาคในภาวะใต้ร่มลายมังกร

กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาคอย่าง สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ ‘อาเซียน’ มีอายุครบ 50 ปีแล้วในวันนี้ นับตั้งแต่ถูกก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2510 ถือเป็นกลุ่มความร่วมมือที่ถูกพูดถึงและมีพัฒนาการอย่างมีนัยยะสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ผ่านร้อนผ่านหนาวจากภาวะเศรษฐกิจทั้งที่เกิดขึ้นภายในและภายนอกภูมิภาค ภัยการก่อการร้ายที่ยืดเยื้อ กระแสโลกาภิวัฒน์ และการแผ่ขยายอิทธิพลของชาติมหาอำนาจที่กลายเป็นประเด็นกันอยู่ในขณะนี้

สื่อต่างชาติหลายสำนักต่างวิเคราะห์ทิศทาง โอกาสและอุปสรรคที่อาเซียนยังคงและจะต้องเผชิญอยู่ อย่างเว็บไซต์บลูมเบิร์กได้ออกรายงานเรื่อง Fifty Years On, Southeast Asia Emerges as Global Growth Leader โดยระบุว่า ชาติอาเซียนทั้ง 10 กำลังกลายเป็นภูมิภาคที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในโลก ด้วยมีเวียตนามและฟิลิปปินส์ที่มีอัตราเติบโตกว่าร้อยละ 6 ซึ่ง World Economic Forum คาดการณ์ว่า อาเซียนที่มีประชากรรวมกันกว่า 620 ล้านคนและมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ จะกลายเป็นภูมิภาคที่มีพลังทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก ภายในปี 2020

อย่างไรก็ตาม บลูมเบิร์กมองว่า การรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนยังอีกยาวไกล เพราะธุรกิจยังต้องเจอกับเงื่อนไขกีดกันหรือข้อจำกัดต่างๆ ทั้งที่พิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558 กำหนดให้ต้องขจัดอุปสรรคต่างๆ ทำให้กลายเป็นเศรษฐกิจเดียวเพื่อทำให้สินค้า การบริการและแรงงานเคลื่อนย้ายได้สะดวก รวมถึงความหลากหลายของระบบการเมือง ตั้งแต่ระบอบประชาธิปไตยในอินโดนีเซียจนถึงระบอบทหารของไทย รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ของลาวและเวียตนามต่างมีข้อตกลงร่วมมือกัน และการแข่งขันบนพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ เป็นเชื้อไฟที่ทำให้หลายประเทศไม่ลงรอยกัน

ด้านเว็บไซต์อีสต์เอเชียฟอรั่ม ได้ลงบทวิเคราะ์หของ ศ.พอล ดิบบ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย มองว่า อาเซียนรวมถึงประเทศในภูมิภาคมีปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ โดยดูจากตัวอาเซียนและเวทีการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือ เออาร์เอฟ ก็อื้อฉาวจากความไร้สามารถที่จะตัดสินใจร่วมกันในการจัดการกับประเด็นที่เกี่ยวข้องไม่ว่า การทูตเชิงป้องกันหรือการแก้ไขความขัดแย้ง โดยเฉพาะประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนได้ขับเคลื่อนการทหารลงในพื้นที่และเมินเฉยการอ้างสิทธิ์บนทะเลจีนใต้ของชาติอาเซียน ทำให้ตลอด 15 ปีของการสร้างแนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้ภายใต้กฎหมายที่เข้มแข็งนั้นก้าวหน้าน้อยมาก

อีกทั้งมองว่าจีนยังคงเดินเกมส์ตีจุดอ่อนด้วยการแยกประเทศสมาชิกอาเซียนไม่ให้ต่อกันติด โดยอดีตจนท.ระดับสูงคนหนึ่งถึงกับกล่าวว่า อาเซียนได้แตกเป็นเสี่ยงๆแล้ว และความผิดพลาดอันใหญ่หลวงคือการขยายรับสมาชิกจาก 6 เป็น 10 ประเทศ อย่างกัมพูชาและลาวที่ตอนนี้อยู่ในกำมือจีนแล้ว และที่เป็นไปได้มากขึ้นคือไทย ฟิลิปปินส์หรือแม้แต่มาเลเซีย ทำให้ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในขณะนี้คืออาเซียนอ่อนแอมากในการสร้างความเชื่อมั่นถึงเสถียรภาพในอนาคต เพราะตอนนี้อาเซียนกำลังเข้าสู่วงโคจรของจีน อันเป็นสัญญาณว่าจีนกำลังประสบความสำเร็จในการแผ่ขยายอิทธิพลเหนือภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ รวมถึงคุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญอย่างทะเลจีนใต้ ทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นความท้าทายเชิงยุทธศาสตร์ต่อไปหากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องสยบแทบเท้าจีน

ส่วนเว็บไซต์ เอเชีย นิคเคอิ รีวิว ได้ออกบทวิเคราะห์ไปในทิศทางคล้ายกันของอาเซียนในภาวะที่จีนกำลังแผ่ขยายอิทธิพล โดยระบุว่า การมีอยู่ของจีนสามารถรับรู้ได้ตั้งแต่ชานเมืองหลวงพระบางของลาว ซึ่งถูกกำหนดเป็นจุดเริ่มเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว เชื่อมไปยังเมืองคุนหมิงและสิงคโปร์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ OBOR- One belt one road ของจีน การสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินในเวียตนาม และด้วยนโยบายพลังงานอันเหนียวแน่นของจีน รัฐบาลเวียตนามถึงกับหงุดหงิดอย่างไม่เต็มใจกับรัฐบาลปักกิ่ง เมื่อต้องสั่งให้บริษัทของสเปนหยุดการเจาะสำรวจก๊าซธรรมชาติในทะเลจีนใต้ทั้งที่อนุมัติโครงการไปแล้ว โดยกล่าวกับสำนักข่าวบีบีซีว่า จีนขู่จะโจมตีกองทัพเวียตนามในหมู่เกาะสแปรตลี่ย์

นายรีทรีโน่ มาสุดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซียกล่าวว่า อาเซียนเป็นผลผลิตในช่วงสงครามเย็น การแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้สร้างความกังวลหลังสหรัฐฯต้องพ่ายแพ้ในสงครามเวียตนาม ซึ่งตามคำกล่าวของนายลีกวนยู นายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับของสิงคโปร์กล่าวว่า 5 ชาติสมาชิกรุ่นก่อตั้ง ได้จัดตั้งอาเซียนด้วยแรงจูงใจของการร่วมสร้างความเข้มแข็งเพื่อเผชิญหน้ากับภาวะสุญญากาศทางอำนาจหลังสหรัฐฯถอนทัพออกไป

 

ในมุมมองของอาเซียน จีนได้ขยายตัวใหญ่ขึ้นจากการค้า โดยในปี 2000 สหรัฐฯมีมูลค่าการส่งออกไปยังอาเซียนถึงร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับจีนที่ส่งออกเพียง 4% ตามข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ มาตอนนี้จีนถือส่วนแบ่งการส่งออกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใหญ่ที่สุดจนตามทันสหรัฐฯแล้ว หลังเกิดวิกฤตการเงินโลก