เชิงบันไดทำเนียบ : เกม 3ป. สูตร 3 ก๊ก !! แค่ออเดิร์ฟ ‘เรืองไกรเอฟเฟกต์’

จากปรากฏการณ์ ‘เรืองไกรเอฟเฟกต์’ ซึ่งต้องมองให้ไกล และมองย้อนไปว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการ ‘เปลี่ยนโปรย้ายค่าย’ เป็นวิถีการเมืองไทย ฉายภาพกันชัดๆผ่าน ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ที่รวมคน ‘หลายก๊กหลายมุ้ง’ เข้าด้วยกัน เมื่อไปส่องรายชื่อ แกนนำพรรค หรือ ส.ส.บางคน ล้วนเคยอยู่ในขั้วตรงข้ามกับ ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวคือเคยอยู่กับ อดีตนายกฯทักษิณ หรือ ขั้วพรรคสีแดง มาก่อน ซึ่งหลายคนพอมาอยู่ พปชร. ก็ได้ขึ้นเป็นแกนนำ รบ.ประยุทธ์ เป็น ‘คีย์แมน-ขุนพล-มือทำงานลับ’ ทั้งสิ้น
.
สิ่งเหล่านี้ย่อมเข้าสำนวน ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’ ย่อมรู้ทันความเคลื่อนไหวกันและกัน แน่นอนว่านักการเมืองเหล่านี้ที่เข้าสู่การ ‘เปลี่ยนโปรย้ายค่าย’ ก็เพื่อกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ซึ่งนักการเมืองเหล่านี้ย่อม ‘เห็นทางลม’ ในประเทศนี้ในขณะนั้น

ดังนั้นภารกิจดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็น นายกฯ ผ่าน ‘อิทธิฤทธิ์พลังดูด’ จึงเกิดขึ้น และนำมาซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็น นายกฯ อีกครั้ง ทว่าก่อนจะได้ ครม.ประยุทธ์2 กลับใช้เวลากว่า 3 เดือน กว่าจะเจรจากันลงตัว แน่นอนว่าเป็นผลพวงจากพลังดูด ที่นับวันยิ่งร้าวลึก จนนพมาสู่การ ‘เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล’ ปฏิบัติการยึดพรรคคืนได้เกิดขึ้น ทำให้ ‘4 กุมาร-สมคิด’ ต้องออกจาก พปชร. และพ้น ครม. ไป
.
จากนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นเป็น หัวหน้าพรรค ด้วยตัวเอง แม้จะทำให้ลูกพรรคเกรงใจได้บ้าง แต่ใช่ว่าปัญหาก๊กมุ้งจะหมดไป กลายเป็นเรื่อง ‘คลื่นใต้น้ำ-แทงข้างหลัง’ ที่มีให้เห็นเนืองๆ จึงเชื่อได้ว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภาเมื่อใด มีคนออกจากพรรคเพียบ ทำให้ ‘3ป.’ ต้องให้คีย์แมนไปเดินเกม ‘ตั้งพรรคสำรอง’ เพื่อรองรับ สถานการณ์ภายภาคหน้า
.
แน่นอนว่า ‘พลังดูด’ ยังคงมีต่อมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะมาทางพรรคพลังประชารัฐ คนที่มาต่างมีตำแหน่งแห่งที่ในทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา ล่าสุด คือ ‘เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ’ นั่ง กมธ.พิจารณางบปี2565 ในสัดส่วน ‘พลังประชารัฐ’ สำหรับ ‘เรืองไกร’ เป็นอีก ‘นักร้อง’ แห่งยุค ในการยื่นตรวจสอบทั้ง ‘ฝ่ายค้าน-รัฐบาล แม้แต่พรรคเพื่อไทยก็ไม่รอด
.
ทั้งนี้ ‘เรืองไกร’ เป็นที่รู้จักจากการมาทำคดีซุกหุ้นของ ‘อดีตนายกฯทักษิณ’ และได้รับการทาบทามจาก ‘คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา’ ขณะเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้มาเป็น ‘ที่ปรึกษา’
.
ต่อมา ‘เรืองไกร’ เคยอยู่ในกลุ่ม 40 ส.ว. และเป็นผู้ยื่นศาล รธน. ตรวจสอบ ‘สมัคร สุนทรเวช’ นายกฯขณะนั้น ถึงการจัดรายการโทรทัศน์ ‘ชิมไป บ่นไป’ ขัด รธน.50 ม.267 เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ? ในเวลาต่อมา ศาล รธน. มีคำวินิจฉัยให้ ‘สมัคร’ พ้นจากตำแหน่ง และตามมาด้วยการยุบพรรคพลังประชาชน ยังไม่นับรวมคดีอื่นๆอีก จนได้รับฉายา ‘แจ๊คผู้ฆ่ายักษ์’

ทว่าสุดท้าย ‘เรืองไกร’ ก็ได้รับไฟเขียวให้เข้ามาอยู่ ‘พรรคเพื่อไทย’ จนเกิดคำถามถึงจุดยืน ‘เรืองไกร’ อยู่เนืองๆ
.
ทั้งนี้ ‘เรืองไกร’ เคยเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ เคยลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ แต่พรรคถูกยุบเสียก่อน ต่อมา ‘เรืองไกร’ กลับมาช่วยงานพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง เข้าเป็น กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี2563 และ ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ ปี 2563 ในสัดส่วนพรรคเพื่อไทย ต่อมากลางปี63 ‘เรืองไกร’ ได้ลาออกจาก สมาชิกพรรคเพื่อไทย จาดชนวนเหตุถูกสลับชื่อหลุด กมธ.พิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 สัดส่วนพรรคเพื่อไทย
.
สำหรับกรณี ‘เรืองไกร’ ต้องมองให้ไกล แม้เจ้าตัวจะออกมาระบุว่า คนอย่างตัวเองเป็นคนทำงาน อยู่ที่ไหนก็ได้
.
แต่อย่าลืมว่า ‘เรืองไกร’ เองก็มี ‘บาดแผล’ ก่อนออกมาจากพรรคเพื่อไทย อีกทั้งที่ผ่านมา ‘เรืองไกร’ เองก็เคยยื่นตรวจสอบทั้ง ‘3ป.บิ๊กป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์’ จึงมีการมองว่าเป็นการ ‘ดึงศัตรูมาเป็นมิตร’ ตามสูตรตำรา 3 ก๊ก หรือไม่ ?

อีกทั้ง ‘เรืองไกร’ ได้สมัครเป็น สมาชิกพรรค พปชร. มากว่า 1 เดือนแล้ว จึงต้องจับตาบทบาทต่อจากนี้ให้ดี อย่ามองเพียงมานั่ง กมธ.พิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณปี2565 เท่านั้น
.
ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นสิ่งต่างๆนับจากนี้ อย่างน้อยก็สร้างความฮือฮาและ ‘หัก’ กับพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นทางการ ในอีกแง่หนึ่งด้วย ‘ผลงานในอดีต’ ผนวกกับความแม่นยำ
.
ข้อกฎหมายและด้วยความสามารถในการตรวจสอบต่างๆ จึงถือเป็นอีก ‘มือกฎหมาย’ ของ พปชร. ไปโดยปริยาย แม้เจ้าตัวจะย้ำหลักการทำงานถึงความตรงไปตรงมา อีกทั้งที่ผ่านมาเป็นที่รู้กันว่าคนอย่าง ‘เรืองไกร’ นั้น ‘คุมยาก’ ก็ตาม เพราะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง
.
อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูอีกว่าการ ‘เปลี่ยนโปร ย้ายค่าย’ จะมีใครตามมาอีกหรือไม่ ? ซึ่ง ‘โปรใหม่ ย้ายค่าย’ ไม่ได้มีย้ายมา ‘ค่ายพลังประชารัฐ’ แต่ในอนาคตมี ‘พรรคเครือข่าย’ ให้เลือกด้วย ใครสะดวกใจ ไปค่ายใด ก็ไปค่ายนั้น
.
เครส ‘เรืองไกร’ แค่ออเดิร์ฟ !!