ไซเบอร์ วอชเมน : โพลฉบับม็อบ

การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ ที่มีคนเข้าร่วมแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลกันตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมาด้วยจำนวนจากหลายพัน สู่เรือนหมื่นและแตะเกินแสนคนทั่วประเทศ นอกจากการปราศรัยด้วยเนื้อหาแบบจุใจ บางเรื่องอานุภาพรุนแรงชนิดทุบเพดานแหลก ฉีกหลังคาปลิวว่อน หรือป้ายข้อความแบบสื่อสารตรงๆ ไปจนถึงข้อความจิกกัด ล้อเลียน เสียดสีให้ขบขำ

ยังจะเห็นกิมมิกปรากฏในการชุมนุมจากกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นเฉพาะร่วมกับธงนำใหญ่ จากธงไพรด์ผืนยักษ์ หุ่นจำลองลอร์ดโวลเดอมอร์ หน้ากากลุงป้อม หมุดคณะราษฎร 2563 วิ่งแฮมทาโร่ ชุดมาสคอตที-เร็กซ์ จนล่าสุดคือเป็ดยาง ที่สร้างวีรกรรมหน้าแยกเกียกกายจนกลายเป็นไอคอนยอดนิยมในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย

แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ขึ้นชื่อว่าเป็นม็อบของเยาวชน ความเป็นวิชาการมาควบคู่กันด้วย

ในท่ามกลางคนที่รวมตัวกันแน่นขนัด กระดาษแข็งขนาดใหญ่ปรากฏกลางม็อบ พร้อมเสียงของคนจัดกิจกรรมนี้ ชักชวนผู้ร่วมชุมนุมที่เดินไปมา ร่วมแปะสติ๊กเกอร์กันอย่างต่อเนื่อง

สติ๊กเกอร์ที่เขียนอายุของผู้ร่วมทำโพล บางข้อถูกแปะแน่นไม่เหลือช่องว่าง จนต้องหากระดาษมาเสริม

 

นี่คือโพลแบบมีส่วนร่วมฉบับผู้ชุมนุมทำเอง จุดเริ่มต้นที่มาของการเชิญชวนให้ผู้ชุมนุมร่วมทำโพลรูปแบบนี้ ประมาณการว่าเกิดขึ้นในการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนเลวที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการเมื่อตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยคำถามง่ายๆ เกี่ยวกับปัญหาในโรงเรียนและการศึกษาไทย

ต่อมาโพลแบบนี้ได้สร้างความสนใจให้กับผู้ชุมนุมที่เดินไปมาในม็อบได้มาแปะสติ๊กเกอร์ ระยะหลังมีหลายกลุ่มทำมากขึ้น และประเด็นต่างๆ ก็หลากหลาย

ยกตัวอย่าง ม็อบตุ้งติ้ง 2 ไพร่มาร์ช จากแยกสามย่านไปสีลม ก็มีโพลกระดาษแข็งนี้ร่วมในการชุมนุม ถามความเห็นประเภท เห็นด้วยหรือไม่กับค้าประเวณีแบบถูกกฎหมาย หรือผู้หญิงจ่ายเท่าไหร่กับผ้าอนามัย

หรือล่าสุด การชุมนุมของกลุ่มนักเรียนเลวที่ย่านสยามเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ก็มีทั้งนักเรียนและนักศึกษาทำโพลแบบนี้ให้คนร่วมแปะสติ๊กเกอร์สะท้อนมุมมองในหลายเรื่อง ตั้งแต่การละเมิดทางเพศในโรงเรียน ค่าติวเตอร์ ไปจนถึงผู้ใหญ่กับการร่วมม็อบของเยาวชน

แน่นอนว่าผู้ร่วมชุมนุมให้การตอบรับอย่างดี ไปแปะสติ๊กเกอร์กันจนเต็มกระดาษแข็งแผ่นใหญ่

 

หลายคนสงสัยว่า แล้วสติ๊กเกอร์ที่ถูกแปะลงบนกระดาษแข็งแผ่นใหญ่นี้จะเอาไปทำอะไรต่อจากนี้ หลังจากผู้ร่วมการชุมนุมไปมีส่วนร่วมกันอย่างสนุกสนาน

ตอนแรกที่มีการโพลแบบนี้ ยังไม่มีการเผยแพร่ผลสำรวจอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จนกระทั่งมีเพจเพจหนึ่งใช้ชื่อว่า “เนิร์ดข้างบ้าน” รายงานผลสำรวจจากการทำโพลแปะสติ๊กเกอร์ในประเด็นที่สนใจ

ซึ่งผลสำรวจก็เป็นเครื่องสะท้อนพลวัตของการเคลื่อนไหวของคนหนุ่ม-สาวและประชาชนที่ร่วมการชุมนุมตลอดหลายครั้งจนถึงตอนนี้

โดยเพจได้สรุปผลสำรวจแบบสถิติ มีกราฟ มีคำอธิบายแต่ละข้อ ตัวแปรถูกแสดงออกมาแบบครบถ้วนตามหลักการรายงานเชิงสถิติ แค่วิธีการเก็บข้อมูลไม่ได้เป็นแบบแผนประเภท กระดาษแผ่นหนึ่งที่บรรจุคำถามแน่นเต็มหน้า แต่ดูจากจำนวนสติ๊กเกอร์ถูกแปะบนบอร์ดกระดาษแข็ง

อาจดูเหมือนทำกันเล่นๆ แต่เวลาผลออกมานั้น มีความจริงจังและรายละเอียดถูกทำเพื่อนำเสนอให้เข้าใจง่าย

 

จากการสอบถาม “ผิง” แอดมินเพจเนิร์ดข้างบ้านที่ลงมาสำรวจความเห็นด้วยตัวเองพร้อมเพื่อนๆ ได้เปิดเผยจุดเริ่มต้นของโพลสำรวจกลางม็อบว่า ที่มาทำแบบนี้เพราะความสนใจ มีใครมาบ้าง อยากรู้พลวัตของการชุมนุม และด้วยความที่ตอนนี้เรียนปริญญาโทด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ก็เอาความรู้มาใช้กับกิจกรรมนี้

“เริ่มขึ้นในตอนแรก คนทั่วไปมักเรียกม็อบที่เกิดขึ้นในตอนนี้ว่าเป็น “ม็อบเด็ก” แต่สำหรับตัวเอง วันที่เดินขบวนไปสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย กลับเห็นคนวัยทำงาน เลยตั้งคำถามว่า คนทำงานมาร่วมเยอะ จะทำยังไงให้พิสูจน์ได้ว่าม็อบไม่ใช่มีแต่เยาวชน เลยคุยกับเพื่อน จนออกมาเป็นการให้คนมาติดสติ๊กเกอร์ และการทำโพลครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 แล้ว” แอดมินเพจกล่าว

เครื่องมือในการทำแบบสำรวจความเห็นก็แตกต่างเป็นพิเศษแล้ว แต่ให้ผลลัพธ์กับความน่าเชื่อถือได้มากแค่ไหน ผิงกล่าวว่า คิดว่าได้ประมาณหนึ่ง แม้จะไม่ได้รัดกุมมาก แต่การทำโพลแบบนี้ก็ทำให้คนมีส่วนร่วม และม็อบร่วมชุมนุมทีก็น่าให้ผู้ร่วมชุมนุมได้แสดงตัวตนว่าเป็นใครในม็อบ พวกเขาได้ร่วมสนุกและให้ข้อมูลมากับเราด้วย

ผิงกล่าวถึงผลสำรวจหลายครั้งที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาชัดเจนคือ คนเจนวาย (Generation Y – เกิดตั้งแต่ปี 2523-2540) เป็นคนกลุ่มใหญ่สุดที่มาร่วมการชุมนุม

อย่างการชุมนุมที่สีลม (ม็อบแฟชั่นโชว์) 75%ของผู้ร่วมชุมนุมเป็นเจนวาย ส่วนชุมนุม 3 ครั้งที่เหลือ เจนวายมาร่วม 50% เพราะเวลาคนพูดว่าเป็นม็อบเด็ก แต่จริงๆ คือไม่เด็กเลย คนวัยทำงานหรือเพิ่งเรียนจบและเข้าสู่โลกการทำงาน

หรือม็อบกลุ่มนักเรียนเลวก็ชอบมาก เพราะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ถ้ารัฐหมายมั่นจะปราบม็อบต้องคิดดีๆ เพราะพ่อ-แม่ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ลูกม็อบร่วมชุมนุม

 

การเก็บผลสำรวจกลางม็อบนี้ ผิงกล่าวว่า สามารถเห็นถึงแนวโน้มได้คือ จำนวนคนร่วมการชุมนุมมากขึ้น อย่างครั้งแรกที่เก็บหลังวันสลายการชุมนุมที่แยกเกียกกาย (17 พฤศจิกายน) ถามว่ามีคนมาร่วมชุมนุมครั้งแรกด้วยไหม ก็มีประมาณ 10% ถือว่ามาก และส่วนใหญ่เป็นคนเจนวาย

แต่ทุกการทำวิจัยภาคสนามก็มีข้อจำกัดในตัว เช่นเดียวกับโพลกลางม็อบตัวนี้คือ ในการทำแบบสำรวจจากการสุ่มตัวอย่าง คนทำก็ต้องเดินในพื้นที่เป้าหมาย แต่การทำแบบนี้ (ยืนถือบอร์ดกระดาษแข็ง) คือขยับไปไหนไม่ได้ ต้องยืนอยู่กับที่แล้วรอให้คนเดินเข้ามาหาเรา

เรียกว่าผลที่ได้คือคนที่เดินในม็อบแล้วเห็นป้ายนี้เท่านั้น

ทั้งนี้ เมื่อถามว่าได้อะไรจากทำโพลแบบนี้ ผิงตอบว่า เราอยากช่วยในเรื่องการเคลื่อนไหว อะไรที่ช่วยการขับเคลื่อนของประชาชนไปได้ เราก็อยากทำ