จักรกฤษณ์ สิริริน : ไม่ใช่ App สุดท้าย Telegram ขวัญใจ Generation Z

เหมือนที่ผมเคยเขียนเอาไว้ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ของเราแห่งนี้ ชื่อตอน “มอง Disruptive Generation ผ่าน #เยาวชนปลดแอก”

ว่าลักษณะกว้างๆ ของ Generation Z คือคนกลุ่มที่ไม่เชื่อใครหรือเชื่ออะไรง่ายๆ มีการสอบทวนข่าวสาร ผ่านการค้นคว้าหาข้อมูล มาเทียบเคียงอย่างรอบด้าน

และที่สำคัญก็คือ นอกจากเป็นผู้รับสารแล้ว Generation Z ยังเป็นผู้ส่งสารเองอีกด้วย

อีกทั้งยังเป็นกลุ่มคนที่ไม่ยึดติดกับสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทห้างร้าน แม้แต่ที่พักอาศัย อย่าว่าแต่การยึดติดตัวบุคคล ที่หากเบื่อ หรือไม่พอใจ ก็จะลาออกจากงาน หรือย้ายหอ ย้ายคอนโดฯ กันได้ไม่ยาก

นี่คือ Life Style สำคัญอันหนึ่งของ Generation Z

ใช่ครับ มันคือลักษณะเฉพาะของ Generation Z ทั่วทั้งโลก

 

การไม่ยึดติดตัวบุคคลของ Generation Z ทำให้ดูเหมือนว่า โดยผิวเผินพวกเขาไม่ค่อยสนใจกฎระเบียบเท่าใดนัก ทว่าอันที่จริง Generation Z มีความเคร่งครัดกับกฎเกณฑ์ต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขเสรีภาพ และการปฏิบัติต่อกันในสังคมอย่างเท่าเทียม

พูดอีกแบบก็คือ Generation Z เป็นคนรุ่นที่เชื่อมั่นในระบบสังคม ตราบใดที่ระบบดังกล่าวไม่สร้างหรือเกิดขึ้นบนความเหลื่อมล้ำ เพราะแม้จะยึดถืออิสรภาพเป็นสรณะ ทว่า Generation Z ก็ยอมรับกฎเกณฑ์สังคมที่ยุติธรรมอย่างเคร่งครัดเช่นกัน

ภายใต้ลักษณะเฉพาะของ Generation Z เช่นนี้ ทำให้ Generation Z กลายมาเป็นกำลังสำคัญให้กับการเรียกร้องความยุติธรรมของสังคมในหลายประเทศทั่วโลก

ผนวกกับความที่ Generation Z เกิดและเติบโตมาในระหว่างปี ค.ศ.1995-2010 ซึ่งตรงกับห้วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) หรือที่เรียกกันว่ายุค Digital

Generation Z จึงมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในโลก Online เป็นส่วนใหญ่

ทำให้ Generation Z นำเครื่องมือ ICT มาใช้ในการร้องหาความยุติธรรม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง App มือถือที่มีชื่อว่า Telegram

 

Telegram เป็น Chat Room Application คล้ายกับ LINE แต่ Telegram มีความปลอดภัยมากกว่า เพราะมี Function ปิดบังข้อมูลส่วนตัว และมี Feature ที่เรียกว่า Secret Chats สำหรับการเข้ารหัส Chat แบบ End-to-End

Telegram เป็น App ที่เกิดขึ้นจากฝีมือของ Pavel Durov เจ้าของฉายา Mark Zuckerberg แห่งรัสเซีย และ Nikolai Durov ผู้ให้กำเนิด Social Media ที่ชื่อ VKontakte หรือ VK ครับ

Pavel Durov บอกว่า ที่เขาและ Nikolai Durov คิดค้น Telegram ขึ้นนั้น เกิดจากความเบื่อหน่ายที่รัฐบาลรัสเซียเฝ้าเพียรพยายามปิดกั้น VKontakte ของพวกเขา

ทั้งคู่จึงออกนอกประเทศ บินไปสร้าง Telegram ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

วัตถุประสงค์หลักคือการทำ Chat Room Application เข้ารหัสที่ปลอดภัยจากการแทรกแซง ที่แม้แต่สายลับของรัสเซียก็ไม่สามารถเจาะระบบของพวกเขาได้!

จากคุณสมบัติชั้นยอดของ Telegram คือความปลอดภัยจากการปิดบังข้อมูลส่วนบุคคล และการเข้ารหัส Chat ทำให้ Generation Z ทั่วโลกที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมนิยมชมชอบ Telegram เป็นอย่างมาก

เพราะการประท้วงแบบปกปิดตัวตนผ่าน Telegram สามารถช่วยลดความหวาดระแวงของกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีต่อการไล่ล่าจากอำนาจรัฐ ที่จับกุมคุมขังผู้นำม็อบหลายคนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2014

โดยเฉพาะสถานการณ์การประท้วงของ Generation Z ชาวฮ่องกงใน “ขบวนการปฏิวัติร่ม” เมื่อปีก่อน ที่มีการนำ Telegram มาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารหลัก

ที่สำคัญที่สุดก็คือ Telegram เหมาะอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการชุมนุมที่ “ไร้ผู้นำม็อบ” ของชาวฮ่องกง

ทำให้ Telegram โด่งดังเพียงข้ามคืน!

 

นอกจากคุณสมบัติหลักของ Telegram ที่เป็น Chat Room Application หรือห้องสนทนาแบบ Online เพื่อ Update ข้อมูลข่าวสารการชุมนุมแล้ว

ยังเป็นการเผยแพร่ฉากที่เกิดขึ้นในพื้นที่โดยผู้เห็นเหตุการณ์โดยตรงจากที่ชุมนุม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามารถร่วมออกเสียงลงมติแบบ Real-time ในเรื่องต่างๆ อาทิ การวางแผนในขั้นตอนต่อไป หรือวันต่อๆ ไป

นอกจากนี้ ยังใช้เป็นช่องทางในการร่วมระดมทุนสาธารณะ เพื่อใช้ในการสนับสนุนการเรียกร้องความยุติธรรมได้อีกด้วย

 

เมื่อ Telegram มีประสิทธิภาพมากถึงเพียงนี้ ก็เป็นธรรมดาของคนที่กุมอำนาจรัฐจะต้องไม่ชอบใจ ผู้นำเผด็จการหลายคนจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะปิด Telegram หรืออาจถึงขั้นอยากกำจัดให้สิ้นซาก

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะ Telegram สร้างขึ้นจากบทเรียนการปิดกั้น Social Media ที่ชื่อ VKontakte ของ Pavel Durov และ Nikolai Durov อันนำมาสู่การให้กำเนิด Telegram ดังที่ได้กล่าวไป

ไม่ต้องพูดถึงจีนที่ต้องการกำจัด Telegram ในม็อบฮ่องกง ประเทศไทยก็มีข่าวความพยายามสกัดกั้น Telegram เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

Vladimir Putin ประธานาธิบดีรัสเซียผู้เรืองอำนาจก็พากเพียรที่จะปิด Telegram อย่างต่อเนื่อง

แต่ก็เป็นเวลาหลายมาปีแล้วที่ Putin หรือทางการจีนยังไม่สามารถจัดการกับ Telegram ได้!

 

หากเราพิจารณาสถานการณ์การชุมนุมในบ้านเรา ก่อนหน้าที่กลุ่มผู้ประท้วงจะนำ Telegram มาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสาร

เราจะพบการใช้ Social Media เป็นช่องทางการติดต่อประสานงานกันมาแล้วครบทุก Platform ไม่ว่าจะเป็น LINE, Facebook Messenger, Instagram และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Twitter ก่อนที่จะขยับมาเป็น Telegram

จะเห็นได้ว่า Generation Z ไม่หยุดนิ่งต่อการหาเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา

โดยหากย้อนกลับไปดูในอดีต บ้านเราเคยใช้ Chat Room Application มาแล้วหลายตัวด้วยกัน

เรียงไล่ไปตั้งแต่ ICQ, Pirch98, MSN หรือ Microsoft Network, Blackberry Messenger หรือ BBM, WhatsApp, Skype

มาจนกระทั่ง Facebook Messenger, LINE, YouTube, TikTok ไปจนถึง Zoom

และถ้าเรามองออกไปจากประเทศไทย เราจะพบการเกิดขึ้นของ Chat Room Application ระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Snapchat และ iMessage (อเมริกา), QQ Mobile และ WeChat (จีน), Kakao Talk (เกาหลีใต้)

หรือจะเป็น Zalo (เวียดนาม), Viber (อิสราเอล) และล่าสุดกับ Telegram (รัสเซีย)

 

ดังที่กล่าวไปว่า Generation Z นั้นเกิดและเติบโตมาในระหว่างปี ค.ศ.1995-2010 ซึ่งตรงกับห้วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) หรือที่เรียกกันว่ายุค Digital

Generation Z จึงมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในโลก Online เป็นส่วนใหญ่

แน่นอนว่า ไม่ว่าการเกิดขึ้นของระบบ Digital ก็ดี โลก Online ก็ดี Social Media ก็ดี หรือเทคโนโลยีการค้นหาข้อมูลอย่าง Search Engine ไปสอดคล้องกับวิถีของ Generation Z ที่ชอบทำงานแบบ Workation ก็ดีหรือใช้ชีวิตแบบ TeleLife ก็ดี

หรือในทางตรงกันข้าม ทุกสิ่งทุกอย่างในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Digital ก็ดี โลก Online ก็ดี Social Media ก็ดี หรือเทคโนโลยีการค้นหาข้อมูลอย่าง Search Engine ก็ดี อาจเป็นการถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการขับเคลื่อนชีวิตของ Generation Z

การปิดกั้นและทำลาย Telegram ของผู้นำเผด็จการทั้งหลาย นอกจากจะไม่ใช่เรื่องง่าย หรือแม้ว่าจะสามารถกำจัด Telegram ลงไปได้เป็นสำเร็จแล้วก็ตาม

ผมเชื่อว่า Generation Z จะต้องเสาะหาเครื่องไม้เครื่องมือใหม่เอามาทดแทน Telegram อย่างรวดเร็ว

ดังนั้น Telegram ขวัญใจ Generation Z จะไม่ใช่ App สุดท้ายอย่างแน่นอน!