การเมืองไทยละครน้ำเน่า : มองนางเอก-นางร้าย จากในจอสู่ภาพใหญ่

ละครไทยขึ้นชื่อบนภาพจำที่ถูกเรียกแบบประชดประชันว่าเป็น “ละครน้ำเน่า” เพราะด้วยบทละครและตัวแสดงที่มีมิติเดียว วางโครงเรื่องวนอยู่กับการแย่งชิงเอาชนะ การถูกกลั่นแกล้งและกดขี่ ภาพลักษณ์กับอารมณ์แบบสุดขั้ว หรือการอิงศาสนาโดยเฉพาะเรื่องคนดี-คนชั่ว ขาว-ดำแบบชัดเจน ไม่มีความซับซ้อนให้ต้องขบคิดวิเคราะห์จนปวดหัว เพราะเป็นละครที่ฉายหลังข่าวค่ำ ซึ่งสอดรับกับผู้ชมที่ต้องการการผ่อนคลายจากความเครียดกับชีวิตในแต่ละวัน

การผลิตซ้ำของละครไทยแบบเดิมๆ ที่ไม่มีการฉีกแนวหรือนำเสนอรูปแบบใหม่ ส่งผลต่อวิธีคิดของคนที่อินกับเรื่องราวไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม จนทำให้ผู้คนเอาสิ่งที่รับรู้จากละครมาใช้ตัดสินกับการดำเนินชีวิตจนถึงเรื่องการเมืองด้วยความเชื่อเดิมที่ถูกผลิตซ้ำจากสื่อหลายทางอยู่แล้วที่คิดว่าถูกต้องที่สุด

อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางการเมืองไทยที่นับวันซับซ้อนและท้าทายกับวิธีคิด หลายเรื่องไปไกลเกินกว่าบรรทัดฐานหรือความเชื่อเดิมๆ ที่ถูกปลูกฝังมานั้นจะเข้าใจได้

ถ้าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น กำลังดำเนินไปจนออกมาไม่เหมือนตอนจบแบบละครไทย เราจะทำอย่างไร?

 

“อาร์ม” นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมแสดงทัศนะในเวทีสาธารณะ “ชาติ เสรีภาพ และประชาชน” เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า มีละครไทยหลายเรื่องที่ส่วนใหญ่คนรู้จักกันดี ตัวอย่างเช่น “นางทาส” จะมีบทสนทนาในตอนหนึ่งของละครว่าด้วยพระเอกคือ “คุณหลวง” หูเบาหลงเชื่อว่า “อีเย็น” ซึ่งเป็นนางเอกคบชู้

สายตาคุณหลวงที่มองอีเย็นจากนางเอก เปลี่ยนไปเป็นนางร้ายหลังได้ยินว่าอีเย็นมีชู้ จับอีเย็นมัดกับเสาและให้ข้าทาสในเรือนเฆี่ยนตี คุณหลวงกล่าวกับคนรับใช้ว่าตีอีเย็นให้แรงกว่านี้ พร้อมขู่ว่าถ้าตีไม่เจ็บจะโดนตีเสียเอง อีเย็นได้ยินแล้วถึงกับร้องไห้แล้วบอกคุณหลวงว่า “พอได้แล้ว เย็นเจ็บแล้ว”

ตามบทละคร คุณหลวงได้ยินเช่นนี้แล้ว คุณหลวงบอกว่า “มึงเจ็บเป็นด้วยเหรอ นึกว่าหนังเหนียว ไม่รู้จักเจ็บจักปวดเสียอีก”

บทสนทนาจากละครเรื่องนี้ สะท้อนอะไร?

 

อาร์มกล่าวอีกว่า นางทาสถือเป็นหนึ่งในละครไทยที่รีเมกหลายครั้ง แป๊บเดียว ละครอีกหลายเรื่องก็ถูกทำใหม่ ละครในฐานะเรื่องเล่าหนึ่งในสังคมถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เมื่อเทียบกับซีรี่ส์จากต่างประเทศที่แทบจะไม่มีการทำซ้ำ ไทยกลับก้าวนำมาก เรื่องนั้นเคยเป็นนางเอก พอมาฉายใหม่นักแสดงคนนี้รับบทเป็นแม่นางเอก และมาเป็นยายของนางเอกอีกที

จำนวนการผลิตซ้ำนี้สะท้อนว่า ละครนี้มีความนิยม ยังขายได้อยู่ หรือพูดให้ไปไกลกว่านั้นคือ ความน้ำเน่าที่อยู่ในคู่กรรม นางทาส หรือเรื่องอะไร เป็นสิ่งที่คนในประเทศอยากชม อยากเสพ

ถ้าเราไปดูตัวละครในแต่ละเรื่อง จะมีความสุดจัดในด้านนั้น นางร้ายจะร้ายกาจจริงๆ ปากแดง เอะอะจะตบอย่างเดียว พระเอกไม่ซาดิสต์ก็หูเบา นางเอกก็แม่พระแม่นางเสียเหลือเกิน การผลิตซ้ำความสุดจัดในทุกด้าน เป็นแบบแผนเดียวกันซ้ำๆ สะท้อนว่าคนดูในสังคมรับรู้และการตีความเรื่องเล่าแบบนั้น

ดังนั้น วัฒนธรรมการดูละครของบ้านเรา จึงหยิบยื่นเพียง 2 ทางเลือกให้กับตัวละคร คือ จะเป็นนางเอก ตัวดี หรือเป็นตัวร้าย

 

อาร์มกล่าวต่อจากนั้นว่า พอเมื่อเราเอาภาพการเมืองเข้าไปใส่ในละคร ผมคิดว่าทั้งละครและการเมืองไม่ได้ต่างกัน เราทุกคนและตัวละคร ถูกให้หยิบยื่นทางเลือกเพียง 2 ทางคือตัวดีหรือตัวร้ายในการเมือง โดยอ้างถึงคำพูดของ อ.เกษียร เตชะพีระ ที่ระบุว่า

“การเมืองเป็นเรื่องของการหาแนวร่วม อย่าไปเรียกร้องหาการเสียสละและความร่วมมือในระดับสูงสุด แต่เราเรียกร้องความร่วมมือและมาตรการที่เขาจะเข้าร่วมต่ำที่สุด เพื่อเปิดโอกาสให้คนเข้าร่วมให้มากที่สุด อันนี้คือเรื่องการเมืองเป็นการหาพวก ประเมินว่าคนในสังคมอยู่ตรงไหน ชวนเขาเดินไปข้างหน้าหนึ่งก้าว หากเราอยากเดินไปสิบก้าว ก็เป็นเรื่องของเขา แต่เราต้องควรเดินไปข้างหน้าหนึ่งก้าว ในกระบวนการที่จะดึงคนมาเข้าร่วมเพื่อผลักดันให้ความปรารถนาของคุณกลายเป็นพลังทางการเมืองที่สามารถทำงานได้ อย่าไปไกล อย่าไปไกลจากคนในสังคมมากนัก”

อาร์มได้ตอบต่อคำกล่าวนี้ว่า แล้ว “มาตรการต่ำที่สุด” คืออะไร? อะไรคือมาตรการขั้นต่ำที่สุดที่เราจะเรียกร้องให้คนมาเข้าร่วมกับเรา

มาตรการที่ต่ำที่สุดในความคิดผมในความเป็นมนุษย์ในละคร คือความสุดจัดแบบละครระหว่างตัวร้ายกับตัวดี

 

“อาร์ม” กล่าวชวนตั้งคำถามถึงกลุ่มคนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในตอนนี้ แทนค่าด้วยคำว่า “ตัวดี” กับ “ตัวร้าย” ลงไป โดยจะเห็นว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนเลว (กลุ่มนักเรียนมัธยมที่เคลื่อนไหวปฏิรูปการศึกษาเชิงก้าวหน้า) ถูกมองว่าเป็นตัวร้าย เด็กมัธยมที่ออกมาเรียกร้องปฏิรูปการศึกษา การชูสามนิ้วขณะเคารพธงชาติตอนเช้า สิ่งนี้ขัดกับความคิดของกลุ่มตัวดีหรือคนที่ไม่เห็นด้วยกับความเคลื่อนไหว เพราะขัดต่อวิธีคิดและความเชื่อแบบดั้งเดิม

และยิ่งไม่ต้องพูดถึงกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะออกมาขนาดนั้น กลุ่มตัวดีจะมองคนที่ออกมาเรียกร้องเรื่องดังกล่าว เป็นตัวร้ายที่ยิ่งกว่าตัวร้าย เป็นกบฏของประเทศเสียด้วยซ้ำ ในทางตรงกันข้าม กลุ่มตัวดีกลับแทนตัวเองว่าเป็นกลุ่มพลังเงียบ พวกเขาอ้างว่าเป็นกลุ่มพลังเงียบ ซึ่งวันนี้ก็เห็นได้ชัดกับการรวมตัวหน้าสถานทูตสหรัฐว่าเป็นอย่างไร

ตัวร้ายกลับกลายเป็นพลังของเยาวชนที่ออกมาเรียกร้องตอนนี้ ยิ่งไปกว่านั้นตัวดีก็บอกว่ากลุ่มที่ออกไปเรียกร้องนี้ เป็นพวกชังชาติ

และที่น่าเจ็บปวดคือ กลุ่มตัวดีเห็นด้วยกับความชอบธรรมของรัฐในการกระทำความรุนแรงต่อประชาชน

 

อาร์มได้ขยายความวิธีการมองการเมืองไทยแบบละครน้ำเน่าว่า ไม่เพียงทำลายความสัมพันธ์คนในสังคม แต่ยังกัดเซาะถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น กรณีน้องนักเรียนคนหนึ่งต้องขายพวงกุญแจเพื่อหาเงินสู้คดีที่ถูกพ่อของตัวเองฟ้องเอาผิดในมาตรา 112

ดังนั้นแล้ว อะไรคือมาตรการขั้นต่ำที่สุดสำหรับตัวเองที่เราควรเรียกร้องกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา คือให้เลิกมองการเมืองแบบ 2 ทางเลือก เพราะการเมืองไม่ใช่เรื่องที่มีแต่ตัวดี-ตัวร้าย การเมืองไม่ใช่บทละครหลังข่าวที่กำหนดสถานะ ตำแหน่งตัวละครที่ชัดเจน

มาตรการขั้นต่ำที่สุดคือ หยุดผลิตซ้ำ เลิกทำซ้ำกับละครน้ำเน่าทางการเมืองที่แบ่งเป็น 2 ฝ่าย หากต่ำกว่านี้ ก็ต่ำกว่าความเป็นคนแล้ว

นอกจากนี้ อีกหนึ่งสิ่งที่ควรบอกพวกเขาคือ ได้โปรดมองความขัดแย้งทางความคิด ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ปกติของสังคมการเมือง

ทั้งนี้ อาร์มทิ้งท้ายด้วยว่า ถ้าตัวเองมาพูดโดยสวมเสื้อสีอื่น พอเปลี่ยนมาเป็นสวมเสื้อสีเหลือง ทุกคนจะมองผมว่าเป็น “ตัวดี” หรือ “ตัวร้าย” ในละครการเมืองเรื่องนี้

ถ้าประเทศชาติและประชาชนมีเสรีภาพ จะไม่มีใครหน้าไหนถูกมองว่าเป็น “ตัวดี” หรือ “ตัวร้าย”