ไซเบอร์ วอชเมน : ส่องสมรภูมิชิงไหวพริบ การชุมนุมคณะราษฎร เมื่อ “ความมั่นคง” ชนกับ “ความคล่องตัว”

อาจเป็นสัปดาห์ที่เข้มข้นที่สุดของการเมืองไทย นับตั้งแต่ความเคลื่อนไหวของประชาชนฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย ที่รวมตัวกันในนาม “คณะราษฎร” ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม จากการยึดหัวหาดของคณะราษฎรอีสาน นำโดยไผ่ ดาวดิน หรือจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ลากมาจนถึงวันที่ 14 ตุลาคม การเดินขบวนแสดงพลังพร้อมข้อเรียกร้อง 3 ข้อ จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจนไปปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล และจบลงด้วยการสลายการชุมนุมในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม

แต่แทนที่จะจบลง กลับเพิ่มพูนเป็นทวีกลางแยกราชประสงค์ในช่วงเย็นของวันเดียวกันด้วยจำนวนมากหลายหมื่นคน ต่อจากนั้นวันที่ 16 ตุลาคม ที่หลอกฝ่ายรัฐมาล้อมแยกราชประสงค์อย่างแน่นหนา ก็ไปจัดชุมนุมที่แยกปทุมวันแทน แต่ก็จบลงอย่างน่าสะเทือนใจเมื่อรัฐตัดสินใจใช้กำลังเข้าสลายด้วยน้ำแรงดันสูงใส่ผู้ชุมนุมที่มีเพียง 2 มือเปล่าและร่มคันน้อย

ภาพสลายการชุมนุมต่อผู้ชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนมัธยม นักศึกษาและคนวัยทำงานกลับเป็นการราดน้ำมันเข้ากองไฟ ปลุกความโกรธของประชาชนต่อรัฐบาลหนักขึ้นอีกจนเกิดการชุมนุมใหญ่หลายจุดทั่วประเทศในวันที่ 17 ตุลาคม และเพิ่มขึ้นไปอีกในวันที่ 18 ตุลาคม

ความน่าสนใจในการชุมนุมรอบนี้คือเทคโนโลยีการสื่อสารและแพลตฟอร์มยุคดิจิตอล ได้เป็นจักรสำคัญให้กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนรอบนี้ ชนิดที่ทำเอาผู้มีอำนาจนั่งไม่ติดได้อย่างไร

 

จากการติดตามการไหลของข้อมูลรวมถึงการลงพื้นที่แบบใกล้ชิดตลอดการชุมนุมจนถึงวันที่ 19 ตุลาคม เผยให้เห็นบทบาทของโซเชียลมีเดียที่ผู้จัดการชุมนุมหลักอย่างคณะประชาชนปลดแอก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และอีกหลายองค์กรรวมตัวกันภายใต้ชื่อ “คณะราษฎร 2563” พร้อมธงการเปลี่ยนแปลงลึกลงระดับโครงสร้าง 3 ข้อ ได้เปลี่ยนให้ผู้ติดตามบนโลกออนไลน์ที่ตื่นตัวและอัดอั้นไม่พอใจต่อการบริหารประเทศของอดีตผู้นำก่อการรัฐประหารและยังได้นั่งรากงอกเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ได้ออกมาขับเคลื่อนแสดงพลังผ่านข้อความและเสียงตะโกน

องค์กรหรือผู้จัดการชุมนุมใช้โซเชียลตั้งเพจสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น “เยาวชนปลดแอก” (Youth People), คณะประชาชนปลดแอก (Free People), แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, ขอนแก่นพอกันที, เกียมอุดมไม่เอาเผด็จการ, คณะจุฬา ประชาคมมอชอ, คนคอนจะไม่ทน, ภาคีนักศึกษาศาลายา หลายกลุ่มใช้เพื่อเป็นสื่อกลางในการประสานนัดหมายการชุมนุม แลกเปลี่ยนข่าวสาร

และเมื่อพูดถึงโซเชียลมีเดีย ก็ยังเป็นช่องทางใหม่ที่สำนักข่าวหลายแห่งใช้ในการนำเสนอข่าว ซึ่งข้อแตกต่างจากสื่อดั้งเดิมอย่างทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ คือ หลากหลายมุมมองและเปิดกว้างชนิดยากจะเซ็นเซอร์เนื้อหา และทำให้ประชาชนทำหน้าที่เป็นสื่อเสริมอีกชั้นหนึ่งด้วย

นี่คือเครื่องมือที่มีบทบาทต่อการเคลื่อนไหวของประชาชนในขณะนี้

 

หากถามว่า เทคโนโลยีดิจิตอลมีบทบาทยังไงต่อการชิงไหวชิงพริบระหว่างรัฐบาลที่เอาเป็นเอาตายกับการไม่ให้มีผู้ต่อต้านหลงเหลือ กับประชาชนผู้ประท้วงจำนวนมากที่อยากไล่รัฐบาลอยู่มา 6 ปี กลับมีแต่แย่ลง?

คำตอบคือ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในอีกหลายส่วน เทคโนโลยีสื่อสารดิจิตอลนี้มีสภาพเหมือนกับเครื่องมืออเนกประสงค์ ตอนที่ผู้ชุมนุมคณะราษฎรยังมีตัวแกนนำที่ขับเคลื่อนอย่างอานนท์ นำภา รุ้ง ปนัสยา เพนกวิน พริษฐ์ หรือไมค์ ภาณุพงศ์ ไลน์ ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ถูกใช้อย่างมากทั้งในการแจ้งข่าวสาร รายงานความเคลื่อนไหวระหว่างกลุ่มกับผู้ร่วมชุมนุม

แต่เมื่อแกนนำหลายคนถูกจับไปตั้งแต่วันที่ 13 ไล่จนถึงวันที่ 15 และ 16 ตุลาคม หลังการประกาศว่า “ทุกคนคือแกนนำ” ก็เป็นการเปิดโหมดให้ทุกคนพร้อมเคลื่อนไหวไปด้วยตัวเอง ใครอยากเป็นอาสาการ์ด หน่วยเสบียง หน่วยพยาบาล หน่วยสนับสนุน โซเชียลได้ช่วยตรงนี้

แต่เหนือสิ่งใด หัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่โซเชียลมีเดียหรือเครื่องมือสื่อสาร แต่เป็น “คน” ผู้ตื่นตัวที่ไม่สยบยอมต่อการใช้ความรุนแรงหรือกดขี่ข่มเหงได้อีก

พร้อมกับสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่เหลือเชื่อว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศนี้ได้

 

เมื่อ “คน” ผู้ตื่นตัว บวกกับแพลตฟอร์มดิจิตอลที่รวดเร็ว ผลก็คือ แฟลชม็อบที่ระดมพลได้ในเวลาอันสั้น พร้อมกับเคลื่อนย้ายได้อย่างรวดเร็ว

ทำให้การชุมนุมรอบนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการปักหลักยืดเยื้อ ไม่ใช่วิธีหลักสำหรับเวลานี้อย่างการชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 14 ตุลาคม ที่มีจุดอ่อนหลายเรื่อง

แต่การเคลื่อนย้ายแบบรวดเร็วโดย “คน” ที่ตื่นตัวและมีวินัยทำให้แฟลชม็อบที่มีชีวิตรวมตัวกดดันตำรวจจนถอยร่นอย่างรวดเร็ว และพอถึงเวลายุติก็จะสลายหายไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน

หรือการแสร้งว่าจะจัดที่หนึ่งแต่กลับไปรวมตัวอีกที่ (ที่คนโซเชียลยุคนี้ใช้คำว่า “แกง” ซึ่งก็คือ แกล้งในคำพูดปกติ) อย่างวันที่ 16 ตุลาคม ที่บอกจะนัดไปแยกราชประสงค์ ผลคือทำให้ฝ่ายรัฐทุ่มกำลังและทรัพยากรไปที่แยกราชประสงค์ ซึ่งใช้เวลาเตรียมการหลายชั่วโมง

แต่พอผู้จัดแจ้งผ่านโซเชียลย้ายสถานที่เป็นแยกปทุมวัน ใช้เวลาเพียง 30 นาที “คน” ผู้ตื่นตัวก็รวมตัวกันเต็มแยกที่จราจรติดขัดที่สุดไปแล้ว

ทว่าในคืนวันนั้น ทั้งฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ผู้ชุมนุมโดยตรงหรือการใช้น้ำที่ผสมสารที่ทำให้ระคายเคืองผิวและดวงตาต่อผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนที่ทั้งโดนลูกหลงหรือโดนแบบเต็มๆ ถูกเผยแพร่ผ่านโซเชียลของประชาชนและสำนักข่าวต่างๆ

โซเชียลได้เผยด้านที่รัฐไม่ต้องการให้เห็นออกไป ภาพด้านมืดของการใช้กำลังกับประชาชน

นำไปสู่การปลุกความโกรธคนทั้งประเทศ ชนิดที่คาดไม่ถึง

 

ทําให้การชุมนุมอย่างสันติบานสะพรั่งทั่วประเทศ แม้ฝ่ายรัฐจะพยายามใช้โซเชียลในการทำสงครามข้อมูลข่าวสารกับประชาชนตลอดมาและเข้มข้นกับช่วงการชุมนุมในขณะนี้ แต่ก็กลับส่งผลลัพธ์และการตอบรับที่ต่ำมาก

ล่าสุด Twitter และ Stanford Internet Observatory ก็ออกมาเปิดโปงบัญชีที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลหรือกองทัพในการทำปฏิบัติการไอโอกับประชาชน โดยไทยมากสุดถึง 962 บัญชี เป็นการดึงรัฐและกองทัพไทยเอามาไว้ที่แจ้งให้เห็นกันชัดๆ ว่าทำสงครามจิตวิทยาบนโลกออนไลน์ทั้งเชิดชูตัวเองและดิสเครดิตฝ่ายตรงข้ามแบบทุ่มสุดตัวยังไง ก็กลับยิ่งไม่ได้ทำให้ประชาชนเห็นใจหรือสงสาร

แต่ส่งผลตรงกันข้ามให้ตกต่ำลง และยิ่งมีความพยายามปิดสื่อ 4 แห่ง และ 1 เพจ ที่รายงานข่าวการชุมนุมผ่านโซเชียลมีเดีย และความพยายามที่จะปิดแอพพ์เทเลแกรม (ซึ่งรัฐบาลรัสเซียเคยพยายามแล้วแต่ก็ล้มเหลว) เพราะรัฐบาลจะไปปิดเพจเฟซบุ๊กผู้จัดการชุมนุม 2 เพจ จนผู้จัดชุมนุมต้องเปิดช่องทางให้ติดตามผ่านเทเลแกรม เกิดปรากฏการณ์ Digital Migration แบบเดียวกับกรณีเพจรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส จนมีจำนวนผู้ติดตามเกือบ 2 แสนคน

แทนที่จะทำให้ประชาชนลงถนนน้อยลง กลับยิ่งกระตุ้นให้คนลงถนนขับไล่กันมากขึ้น แม้จะโจมตีด้วยถ้อยคำหรือความเชื่อใส่ผู้ชุมนุมยังไง ก็กลับมีแต่เสื่อมลง

ยิ่งเป็นสัญญาณให้เห็นแล้วว่า จะแนบเนียนหรือดันเป็นเผด็จการกันตรงๆ แค่ไหน คนก็ยิ่งไม่เอา และ 3 ข้อเรียกร้อง กลับมีแต่ดังขึ้นเรื่อยๆ

หากคิดใช้ทางเลือกที่เหลือไม่มาก อย่างใช้กำลังทหารหรือการทำรัฐประหารซ้อน บอกได้เลยว่า อย่าทำ