จักรกฤษณ์ สิริริน : “พลาสติก” มิตรหรือศัตรู ศัตรูหรือมิตร

นับตั้งแต่ที่ Leo Baekeland ได้ค้นคิดประดิษฐ์ “พลาสติก” ขึ้นมาในปี ค.ศ.1907 โลกของเราก็ไม่เคยเหมือนเดิมอีกเลย

โดยเฉพาะปัญหา “ขยะพลาสติก” ที่ทำลายยาก ได้สะสมมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 ถึง 2020 มีมากถึงเกือบ 10 ล้านตัน!

แม้จะเกิดการรณรงค์ลดใช้ “พลาสติก” โดยเฉพาะ “ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง” ที่สร้างปัญหา “ขยะพลาสติก” ในมหาสมุทร

ผ่านแคมเปญอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลกมานานหลายสิบปี ทว่าพี่ไทยเพิ่งประกาศงดแจก “ถุงพลาสติก” เมื่อ 1 มกราคมที่ผ่านมา

ต้องยอมรับว่า ปัญหา “ขยะพลาสติก” ในมหาสมุทรเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะสัตว์น้ำในทะเลได้ดูดกลืน “ไมโครพลาสติก”

และพวกมันไม่มีระบบกรองหรือย่อยสลาย เพราะ “พลาสติก” ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ของธรรมชาติที่เผ่าพันธุ์สัตว์ทะเลรู้จัก จึงอันตรายมาก

แน่นอนว่าวัสดุที่สร้างจากธรรมชาติจะสามารถย่อยสลายได้เอง ไม่ว่าจะเป็นยางพารา อำพันต้นไม้ หรือกระดองเต่า กระทั่งนอแรด ที่เป็น “พลาสติก”

กระทั่งแกนปลาหมึก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พืชที่มีลักษณะแบบพลาสติก เช่น ข้าวโพด หรือการแปรรูปถั่วเหลือง ก็ล้วนเป็นวัสดุธรรมชาติ

แต่ถ้าเป็น “พลาสติกสังเคราะห์” ที่เกิดขึ้นจากการนำวัตถุดิบจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม หรือน้ำมัน “ฟอสซิล” มาผสมเคมี จะย่อยสลายไม่ได้

 

อย่างไรก็ดี นอกจากพิษภัยของมัน “เหรียญอีกด้าน” ของ “พลาสติก” ก็เคยสร้างคุณประโยชน์ให้กับโลกใบนี้มาแล้วไม่น้อย

โทรศัพท์มือถือ เครื่องคอมพิวเตอร์ แผ่นเสียง CD เทปเพลง ไปจนกระทั่งถึงรถยนต์ เรือ เครื่องบิน ลูกกอล์ฟ และผสมในเส้นใยผ้า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เข็มฉีดยา” ที่ทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนผสมและใช้ “พลาสติก” เป็นองค์ประกอบหลักในการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์

เพราะ “พลาสติก” ขึ้นรูปง่าย ผลิตได้รวดเร็ว ราคาถูก มีความทนทาน น้ำหนักเบา ทนความร้อน และไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า

 

ทุกสิ่งที่กล่าวมา เป็นผลงานของ Leo Baekeland นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ที่นำคำกรีก คือ Plastik?s มาตั้งชื่อ Plastic ของเขา

Plastic หรือ Plastik?s เป็นศัพท์ในภาษากรีก มีที่มาจากคำว่า หมายถึง “การหล่อ” หรือ “การขึ้นรูป”

ในตอนนั้น Leo Baekeland ได้ผสมสาร Phenol ที่ได้จากน้ำมันปิโตรเลียมเข้ากับแอลกอฮอล์ Formaldehyde เป็น Phenolic

Leo Baekeland เรียก Plastic ของเขาว่า Bakelite ใช้ Monomer ของ Propylene ซึ่งมี “คาร์บอน” เป็นส่วนประกอบสำคัญ

สร้างปฏิกิริยาทางเคมีให้ Monomer จะเชื่อมต่อกัน กลายเป็น Polymer ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ Thermoplastic กับ Thermoset

 

Thermoplastic คือ “พลาสติก” ที่ดูจะ “เป็นมิตร” กับมนุษย์มากกว่า Thermoset เพราะพวกมันสามารถนำไปรีไซเคิลได้

Polyester Nylon Teflon ชื่อที่คุ้นเคยเหล่านี้คือ Thermoplastic เป็นส่วนผสมของเสื้อผ้า พรม เครื่องครัว และเฟอร์นิเจอร์

Thermoplastic เหล่านี้ เมื่อสัมผัสกับความร้อนก็จะอ่อนตัว และเราสามารถนำพวกมันไปเข้ากระบวนการ Recycle ได้

 

ส่วน Thermoset เช่น Bakelite Melamine Silicone แม้เราจะเคยผ่านหูคำเหล่านี้เช่นกัน ทว่า Thermoset ดูจะ “ไม่เป็นมิตร” เท่าไหร่

เพราะเมื่อขึ้นรูป Thermoset ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนประกอบของรถยนต์ หรือเฟอร์นิเจอร์ Build-in ต่างๆ

ที่ดูเหมือนว่า Thermoset จะ “เป็นศัตรู” ของเรานั้น เพราะถ้ามันแข็งตัว ไม่ว่าจะผ่านการใช้งานหรือไม่ มันก็ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้

 

อย่างไรก็ตาม แม้ Thermoplastic จะดู “เป็นมิตรมากกว่า” ทว่ามันก็ยังไม่สามารถ “ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ” อยู่ดี

เพราะปัญหาใหญ่ในวันนี้ก็คือ โลกของเรามีการใช้ Thermoplastic เช่น “ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง” มากถึง 500,000 ล้านใบต่อปี!

หรือ 1,000,000 ใบต่อนาที! นี่เป็นตัวเลขที่น่ากลัวมาก ยิ่งหากพิจารณาถึงปัญหา “ขยะพลาสติกในมหาสมุทร” ซึ่งกำลังทวีความรุนแรง

นอกจาก “ถุงพลาสติก” แล้ว “ขวดน้ำพลาสติก” ก็สร้างปัญหาไม่แพ้กัน เพราะมันต้องใช้เวลามากถึง 450 ปีที่ธรรมชาติจะย่อยสลาย!

อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบันดูเหมือน “พลาสติก” จะมีโทษภัยกับสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมากในระดับที่น่าวิตกกังวลถึงอนาคตของธรรมชาติ

ทว่าเรามิอาจปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ “พลาสติก” ได้สรรค์สร้างประโยชน์โภคผลให้กับมวลมนุษยชาตินับตั้งแต่มันปรากฏตัวไปได้เลย

ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกได้รู้จักกับเฟืองพลาสติกแข็งหลายขนาดในรถถัง เครื่องบินรบ และได้มีการสร้างยางสังเคราะห์ 100%

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชือกและร่มชูชีพที่ทำจาก Nylon เหนียวแน่น ทนทาน และน้ำหนักเบา กระทั่งธงชาติสหรัฐที่ปักบนดวงจันทร์ก็ทำจาก Nylon

 

แต่สิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งผมคิดว่า “พลาสติก” เป็น “มิตร” มากกว่า “ศัตรู” ก็คือ คุณูปการของ “พลาสติก” ในแวดวงการสาธารณสุขครับ!

เพราะนอกจากอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนประกอบของรถยนต์ เครื่องใช้ในครัวเรือนต่างๆ ล้วนต้องพึ่งพา “พลาสติก”

ในฐานะฉนวนไฟฟ้าเพื่อป้องกันไฟรั่วใส่เรา ฉนวนความร้อนสำหรับจับหม้อและกระทะแล้ว “พลาสติก” กับ “การแพทย์” นั้นสุดยอดมาก!

ไล่ตั้งแต่ ตู้อบเด็กอ่อน ขวดนม ฟิล์มเอ็กซเรย์ เข็มฉีดยา กล้องผ่าตัด ข้อต่อเทียมที่ลดการปวดกระดูกจากอากาศเย็นแทนข้อต่อเหล็ก

ไปจนกระทั่งถึงอุปกรณ์ในห้องทดลองทางการแพทย์ หลอดยาต่างๆ ในการวิจัย เครื่องมือผสมเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง MRI

ยังไม่ต้องพูดถึงขวดน้ำเกลือ หรือถุงเลือดจำนวนมาก ที่ถ้าใช้แก้วแบบเก่าคงสิ้นเปลืองงบประมาณ และการขนย้ายก็ไม่สะดวกเท่า “พลาสติก”

ทุกวันนี้มีคนมากกว่า 600,000 คนที่รอดชีวิตจากเครื่องช็อตไฟฟ้าแรงสูง และเครื่องกระตุ้นหัวใจที่มีฉนวนหุ้มซึ่งทำจาก “พลาสติก”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน จำนวนกว่า 10 ล้านคน ได้อาศัยเครื่องช่วยฟังที่ทำจาก “พลาสติก” ผ่านเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

และที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้ป่วยเบาหวาน จำนวนมากกว่า 35 ล้านคนได้ใช้ประโยชน์จาก “เข็มพลาสติก” เพื่อฉีด “อินซูลิน” บรรเทาอาการป่วย

 

“พลาสติก” ยังมีประโยชน์อีกมาก โดยเฉพาะการนำไปประยุกต์ใช้เป็นอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์

อาทิ ชุด PPE ของนักรบชุดขาว เครื่องแบบทีมกู้ภัย นักผจญเพลิง เสื้อเกราะของทหาร ตำรวจ อุปกรณ์กีฬา และชุดกีฬา โดยเฉพาะ “กีฬาปะทะ”

ยังไม่นับเข็มขัดนิรภัย และ “พลาสติก” อีกหลายอย่างในรถยนต์ และอุปกรณ์ต่างๆ บนเครื่องบิน รวมถึงเรือ ที่ช่วยเซฟชีวิตคนมานักต่อนัก

อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ลดใช้ “พลาสติก” โดยเฉพาะ “พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง” หรือ “พลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิล” ได้ ยังต้องคงอยู่ต่อไป

เพื่อช่วยกันรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเล ที่กำลังได้รับความเสียหายมากที่สุดอยู่ในขณะนี้!

และถือเป็นข่าวดีพอสมควร ที่ทุกวันนี้ได้เริ่มมีการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ทำจาก “พลาสติกรีไซเคิล 100%” ซึ่งสามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้อีกรอบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประกายความคิดของการสร้าง “สารเคมี” ที่สามารถ “ย่อยสลาย พลาสติก” และ “เอ็นไซม์” ที่สามารถ “กินพลาสติก” ได้!

 

ศาสตราจารย์ ดร. John McGeehan แห่ง “ศูนย์นวัตกรรมเอ็นไซม์” หรือ Centre for Enzyme Innovation (CEI) มหาวิทยาลัย Portsmouth ประเทศอังกฤษ

คือผู้ริเริ่มการคิดค้น “เอนไซม์” ที่สามารถ “กินพลาสติก” ได้เป็นคนแรก! เขากล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่เอนไซม์จะมาช่วยกินพลาสติก

“ปกติแล้วพลาสติกต้องใช้เวลาเฉลี่ยถึง 400 ปีเพื่อย่อยสลาย แต่เราจะใช้เอ็นไซม์กินมันในเวลาไม่กี่วันครับ!”

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่