สมหมาย ปาริจฉัตต์ : สันทรายวิทยาคม คู่บัดดี้ พี่ช่วยน้อง (8)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

“ลูกสันทราย ยิ้ม ไหว้ ทักทาย แต่งกายดี มีวินัย รักการอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ”

ค่านิยมประจำโรงเรียนสันทรายวิทยาคม ถูกฉายขึ้นจอรอรับคณะ กพฐ.บ่ายวันนั้น ทำให้บรรยากาศในห้องประชุมโรงเรียนคึกคักขึ้นมาทันที

หน้าประตูห้อง นักเรียนชาย หญิง เป็นคู่ๆ คนหนึ่งนั่งบนวีลแชร์ อีกคนยืนประกบอยู่ด้านหลัง เรียงแถวต่อกัน คู่บัดดี้ เพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง ประคองกันไป หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ยกมือไหว้นอบน้อม ก่อนพากันเข้าห้องเรียน

สันทรายวิทยาคม โรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอสันทราย สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา 34 จ.เชียงใหม่ ก่อตั้งเมื่อ 14 มิถุนายน 2516 เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ปัจจุบันมีนางสุปราณี ปัญญานะ เป็นผู้อำนวยการ

นักเรียนทั้งหมด 1,444 คน เป็นเด็กพิการ 44 คน แยกเป็นบกพร่องทางการเรียนรู้ 25 คน บกพร่องพิการทางร่างกาย 15 คน บกพร่องทางการได้ยิน 2 คน บกพร่องทางสติปัญญา 2 คน ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาในเขตพื้นที่ อ.สันทราย เชียงใหม่ นอกนั้นมาจากต่างจังหวัด กรุงเทพฯ สมุทรปราการ อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงราย แม่ฮ่องสอน

ครู และบุคลากรทางการศึกษารวม 94 คน มีหัวหน้างานเรียนรวมเฉพาะ 1 คน คือ ครูประไพ สุวรรณโสภณ

 

ปี2553 ได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนแกนนำเรียนรวม (Inclusive education) เด็กพิการเรียนร่วมกับเด็กปกติ ต่อมาปี 2557 ได้เป็นโรงเรียนต้นแบบการจัดการเรียนรวม ตามวัตถุประสงค์และหลักการที่ครู พี่เลี้ยง บุคลากรของโรงเรียนทุกคนยึดมั่น

ได้แก่ รับเด็กเข้ารับการศึกษาโดยไม่แบ่งแยกความบกพร่อง หรือคัดแยกเด็กที่ด้อยกว่าเด็กส่วนใหญ่ออกจากชั้นเรียน แต่จะใช้การบริหารจัดการและวิธีการ ให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาการตามความต้องการ จำเป็นอย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคล เพื่อขยายโอกาสให้กับนักเรียนพิการ มีสิทธิทางด้านการเรียนและด้านอื่นๆ ให้เท่าเทียมกับนักเรียนปกติ

ทั้งนี้ก็เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมไทยและสังคมโลกอย่างสันติสุขบนพื้นฐานสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นไทย ขณะเดียวกันให้ครูเกิดความตระหนักในการจัดการศึกษาแก่เด็กพิเศษ

ที่สำคัญ เพื่อให้เด็กพิเศษสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีศักดิ์ศรี

 

“การปฏิบัติต่อเด็กนักเรียนพิการ โรงเรียนทำเหมือนเด็กปกติหมด” ผอ.สุปราณีเริ่มบทสนทนาของเธอกับคณะผู้มาเยือน

“เพียงแต่เขาต้องการความช่วยเหลือบ้างเท่านั้น และมีเด็กปกติเป็นบัดดี้ อาคารที่มีห้องเรียนเรียนรวม จะจัดเป็นการเฉพาะเพื่ออำนวยความสะดวก”

“การคัดกรองเด็กโดยการอ่าน เขียน ภาษาไทยก่อน และท่องสูตรคูณ ท่องไม่ได้ ด้านไหนอ่อนโรงเรียนมีคูปองสอนเสริมให้”

อย่างไรก็ตาม การจัดการเรียนร่วมที่ผ่านมายังมีปัญหา ต้องหาทางแก้ไขเป็นด้านๆ ไปค่ะ ด้านบุคลากรไม่ได้รับการอบรมด้านการศึกษาพิเศษ พี่เลี้ยงเด็กพิการได้ค่าตอบแทนน้อยก็จะลาออก อัตราถูกสงวน ผู้ปกครองไม่ยอมรับผลการคัดกรองเด็กพิการ ทั้งผู้ปกครองเด็กปกติทั่วไปและผู้ปกครองเด็กพิการเอง

อาคารสถานที่ งบประมาณไม่พอจัดทำทางลาดขึ้นลง เพราะอาคารเรียนเป็นโรงเรียนปกติ สำหรับเด็กปกติส่วนใหญ่ ด้านความปลอดภัยถ้าเป็นโรงเรียนปกติประตูจะเปิดตลอด แต่โรงเรียนเฉพาะทางพิการ ต้องระมัดระวัง ดูแลเพิ่มขึ้น

ฉะนั้น ด้านอัตรากำลัง หากมีนักเรียนพิการมาเรียนรวม ควรใช้เกณฑ์เดียวกันกับโรงเรียนการศึกษาพิเศษ สูตรการคำนวณควรแยกต่างหาก

 

ด้านวิชาการ การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรเหมือนเด็กนักเรียนทั่วไป เกณฑ์วัดสำหรับเด็กกลุ่มพิการที่จะร่างใหม่ควรต่างจากเด็กปกติ ลดความเข้มข้นในการวัด ให้คะแนน ให้งานลง ซึ่งโรงเรียนมีกิจกรรมโฮมรูม แนะแนว เพื่อให้คำปรึกษาหารือและช่วยแก้ปัญหา มีองค์กรพันธมิตรสนับสนุน เช่น คณะกรรมการสถานศึกษา ประธานเป็นคนท้องถิ่น เครือข่ายซัมซุง สมาร์ท เลินนิ่ง เซ็นเตอร์ มูลนิธิฟูลไบรซ์ และะมหาวิทยาลัยแม่โจ้

“การเรียนสำหรับเด็กพิการแต่ละคน โรงเรียนจะมีแผนพัฒนารายบุคคล จะพบความอัจฉริยะปรากฏในตัวเขา อย่างคนหนึ่งเขียนหนังสือด้วยปาก จบปริญญาโท บางคนชอบเล่นไอที เล่นเฟซบุ๊กมีเพื่อนเป็นรัฐมนตรี”

ฟังบรรยายถึงช่วงนี้ คณะศึกษาดูงานได้จังหวะถามถึง ด.ช.ณัฐมัย ไอซีทีทาเลนซ์ ที่มาจากโรงเรียนศรีสังวาลย์ เป็นอย่างไรบ้างตอนมาเรียนที่สันทราย

ผอ.เล่าต่อ “ได้ 0 แต้ม มีปัญหาป่วยเป็นอาจิณ ไม่อยากเรียนวิทยาศาสตร์ เคมี ชีวะ แต่กลับไป เป็นเด็กอัจฉริยะ ชอบไอที เอาจริงจนได้ดี”

ครูเนรมิต ใจแก้ว รองผู้อำนวยการเสริมต่อ เพื่อตอบคำถามที่ว่า มีนักเรียนพิการมาเรียนรวมส่งผลต่อการเรียนของเด็กปกติอย่างไร

“แรกๆ ห้อง 1/4 เด็กพิเศษไปรวมกันอยู่ในห้องเดียว ครูไม่รู้พื้นฐาน ขาดประสบการณ์ ร้องกรี๊ดเลย พอเริ่มเรียนรวม เด็กปกติมาบ่นให้ครูฟัง หนูไม่อยากอยู่ด้วย สมาธิสั้น กวนเพื่อน แกล้งเพื่อน ไม่ยอมเรียน ไม่ฟัง ปากกา ดินสอหายทุกห้อง มุมลบอีกด้านเด็กจะล้อกัน”

แต่ต่อมาก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เด็กปกติมีโอกาสศึกษา เรียนรู้ความไม่ปกติของเพื่อนมนุษย์ อย่างเช่น ตัวอยู่ ม.1 สมองแค่ ป.3 ทำให้เกิดความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ แต่ครูก็ต้องดูแลใกล้ชิด มีชั่วโมงสอนเสริม อยู่ด้วยกันแบบพี่แบบน้อง เพื่อนกอดคอเพื่อน พี่กอดคอน้อง

ความรู้สึกครูเชิงลบตอนนี้ไม่มีเลย จิตใจเป็นบุญกุศล เด็กแต่ละคนจะมีครูในใจของเขา

 

“การจัดการศึกษา หากเราแยกเด็กพิการออกไปเฉพาะเป็นห้องหนึ่งต่างหากเด็กจะไม่ได้อะไร รวมดาวเมื่อไร ทั้งห้องง่าวกันหมด ช่วยกันไม่ได้เลย แต่หากเรียนร่วมจะได้ทั้งเด็กพิการและเด็กปกติ ได้ช่วยเหลือกัน”

“การคัดกรองเด็กด่านแรกอย่าใช้อคติของตัวเองในการวัด ขั้นต่อไปค่อยไปที่แพทย์วินิจฉัย เด็กควรเรียนระดับไหน ปัญหาผู้ปกครองไม่ยอมรับ โรงเรียนก็พยายามสื่อสารอธิบายให้เข้าใจ”

“ปัจจุบันแนวโน้มเด็กแอลดีเพิ่มขึ้น เพราะการยอมรับมีมากขึ้น การแพทย์ก้าวหน้า การคัดกรองจะไม่เอาเด็กกลุ่มนี้มาคิดร่วมกับเด็กพิการรุนแรง ผลสัมฤทธิ์ต่ำ พัฒนาการช้า”

“เด็กชายขอบติดใช้ภาษาถิ่น มีปัญหาภาษาไทย อ่านไม่ออก ครูไม่มีพื้นฐานด้านเด็กพิเศษ ไม่เข้าใจก็หาว่าเป็นเด็กพิเศษ เป็นเด็กแอลดี ขณะที่บางวิชาเขาเรียนได้ คณิต ฟิสิกส์ แต่บางวิชาขาไม่ได้ ฉะนั้น ครู ผู้ปกครอง สังคมต้องเข้าใจเขา”

เรื่องเล่าจากครูผู้มีประสบการณ์จริงในสนามการจัดการเรียนร่วมเด็กพิเศษกับเด็กปกติ ทำนองนี้จะได้ยินไปถึงผู้บริหารระดับสูง และนำไปสู่การปลดล็อกปัญหาอุปสรรคให้ลดลงอย่างไร เมื่อไหร่ จึงต้องติดตาม