วอชเชอร์ : เมื่อ “กองทัพ” ต้องเผชิญหน้า “การตรวจสอบและถ่วงดุล”

ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งจัดการประชุมของชุดกรรมาธิการสภาฯ มี 2 คณะที่น่าสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการพิจารณานั้นเกี่ยวข้องกับกองทัพ และพวกเขากำลังถูกกลไกตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาตรวจสอบการทำงานอย่างเลี่ยงไม่ได้

คณะแรกคือ คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่พิจารณารับฟังกรณีการใช้อำนาจของกองทัพในการจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมืองในยุครัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. โดยผู้ถูกเชิญให้การคือ พ.อ.พิทักษ์พล ชูศรี หรือ “เสธ.พีท” เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษากลุ่มดินและประชาชนในภาคอีสาน

อีกคนคือ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญที่ถูกขนานนามว่า มือฟ้องผู้ต่อต้าน คสช. ตั้งแต่กรณีชุมนุมหน้าหอศิลป์ จนถึงเวทีเสวนาแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 7 พรรคฝ่ายค้านที่ปัตตานี

คณะที่สองคือ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณ 63 โดยเป็นการพิจารณาในส่วนของงบประมาณกลาโหม และเชิญบรรดานายพลทุกเหล่่าทัพนำโดย พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.สส.เข้ามาชี้แจงงบประมาณจัดสรรของกระทรวงกลาโหมในวงเงิน 2.3 แสนล้านบาท

ต้องมาอธิบายว่างบประมาณถูกใช้กับอะไร แบบละเอียดยิบ

 

การรับฟังของคณะแรกในกรณีไล่จับผู้เห็นต่าง จะเห็นความเข้มข้นของคำถามที่ถาโถมใส่ พล.ต.บุรินทร์และเสธ.พีท จากผู้ได้รับผลจากคดีทางการเมืองอันเนื่องจากการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช.ที่ไร้ชอบธรรมและเข้ามามีอำนาจอย่างไม่ถูกต้อง

รวมถึงเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน กับนายทหารที่ฟ้องเขา จนต้องติดคุกกว่า 2 ปี โดยที่นายจตุภัทร์จับจ้องแบบไม่คลาดสายตาในขณะที่ตั้งคำถามใส่พวกเขา

คำชี้แจงของ 2 นายทหาร ทำให้เห็นกลไกของคสช.ที่ทหารมีบทบาทสำคัญในการติดตามความเคลื่อนไหว ประเมินภัยคุกคามต่อความมั่นคงของคสช. ใครเป็นผู้สั่งการให้จับกุม และเสริมเพิ่มเติมจากนายทหารว่า พวกเขาเป็นเพียงผู้รับคำสั่งจาก คสช.เป็นผู้ปฏิบัติงาน เปรียบตัวเองเป็นเพียงฟันเฟืองตัวเล็กๆในระบบ และไม่คิดจะเป็นศัตรูกับประชาชน ทั้งๆที่ผู้ใช้เสรีภาพในการต่อต้านความไม่ชอบธรรมจนถูกจับกุม เป็นประชาชนในประเทศนี้

การรับฟังนี้ แม้ทั้ง 2 นายทหารจะแสดงตัวเป็นเพียงคนปฏิบัติคำสั่งก็ตาม แต่การใช้อำนาจและกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ในมาตรฐานสากล หากมีการพิจารณาเป็นเรื่องเป็นราวจนไปสู่กลไกกระบวนการยุติธรรม การละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างเป็นระบบเช่นนี้ ผู้สั่งการ ผู้สนับสนุนไปจนถึงผู้ปฏิบัติตามคำสั่งที่ทำให้การล่วงละเมิดสำเร็จ

ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบในการกระทำดังกล่าวได้

 

ในขณะที่ คณะที่สอง ก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน แต่ก็ไม่รู้ว่ากรรมาธิการคนใดตั้งคำถามบ้าง ยกเว้นนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจที่เปิดเผยประเด็นคำถามของตัวเองในการพิจารณางบประมาณกลาโหม ซึ่งแต่ละคำถาม สำหรับหลายคนถือว่า กล้ามาก! ที่ถามใส่หน้าบรรดานายพล ทั้งแนวทางการใช้ เงินนอกประมาณกว่า 1 หมื่น 8 พันล้านบาท และแหล่งรายได้ในสัมปทานสัญญาณคลื่นวิทยุ-โทรทัศน์ สนามมวย และสนามแข่งม้าที่อยู่ในความดูแลของกองทัพ อันควรสงสัยว่าทำไมนายพลหลายคนร่ำรวยผิดปกติ

บางคำถามโดยเฉพาะความร่ำรวยอันผิดปกติของบรรดานายพลและงบประมาณที่ถูกใช้เกี่ยวกับปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือไอโอ สิ่งที่นายพลตอบกลับมา คือ ความเงียบงัน

ไม่เพียงเท่านี้ นายธนาธร ยังเสนอให้ลดงบจัดซื้ออาวุธไป 40% ด้วยเหตุผลว่าประเทศไม่ควรก่อหนี้เพิ่มในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ

จนกระทั่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายธนาธร ตัดสินใจลาออกจาก กมธ.ทุกคณะ และวิจารณ์การใช้งบประมาณของกองทัพที่ไม่โปร่งใสอย่างดุเดือด

 

ตลอดการบริหารของรัฐบาล คสช.หรือรัฐบาลก่อนหน้า น้อยมากหรือแทบเป็นไปไม่ได้ที่กองทัพจะถูกตรวจสอบทั้งนโยบายและการใช้งบประมาณ จนกระทั่งการเกิดรัฐบาลหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม คณะกรรมาธิการชุดต่างๆก็ทำงานอย่างแข็งขัน

กองทัพอาจรู้แล้วว่า จะต้องถูกตรวจสอบจากกลไกของรัฐสภา แต่ก็อาจคาดไม่ถึงว่า จะต้องเจอคำถามจี้ใจดำขนาดนี้ และอาจถูกมองว่าเป็นการท้าทาย

ในกลไกรัฐบาลประชาธิปไตยซึ่งประชาชนคือเจ้าของอำนาจ และอำนาจนี้ถูกส่งมอบให้ผู้แทนราษฎรซึ่งอยู่ในรัฐสภา กลไกรัฐสภาต้องทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลแทนประชาชน ทุกหน่วยงานที่ใช้งบประมาณจากเงินภาษีประชาชนต้องถูกตรวจสอบความโปร่งใส กองทัพเองก็ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน ต้องแน่ใจว่าเงินทุกบาทถูกใช้อย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

สำหรับกองทัพไทย แม้จะบอกกับสาธารณชนกับวางตัวเป็นกลางทางการเมือง แต่จากการมีบทบาทสำคัญในการรัฐประหารยึดอำนาจและใช้อำนาจลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งต้องถูกสงสัยว่าใช้งบประมาณกับสิ่งเหล่านี้แค่ไหน

จึงไม่แปลก หากเห็นสีหน้ากระอักกระอ่วนเมื่อถูกตรวจสอบและตั้งคำถามเข้มข้นเป็นพิเศษ