เชิงบันไดทำเนียบ : ย้อนรอย ‘เดอะมาร์ค – บิ๊กตู่’ 10 ปี กรำศึกการเมือง ‘เดินคู่ – เดินแยก’

“ใครจะเป็นก็เหมือนกัน ถ้าทำประโยชน์เพื่อประชาชนก็ทำไปสิ”
‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีการเสนอชื่อชิงตำแหน่ง ปธ.กรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและวิธีการแก้ไข รธน. หลังพรรคประชาธิปัตย์ดันชื่อ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’อดีตหน.พรรค ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ก็มีท่าทีในการดัน ‘สุชาติ ตันเจริญ’รอง ปธ.สภาฯคนที่ 1 ขึ้นมาตีคู่ชิง แต่งานนี้ ‘บิ๊กตู่’ ออกตัวตลอดสัปดาห์ว่าไม่ยุ่งเกี่ยว จะเป็นใครก็เหมือนกัน ให้เป็นไปตามกลไกสภาและกมธ.ได้เลือกกันเอง หากตนเข้าไปยุ่งเกี่ยว เกรงว่าจะไม่เป็นธรรม
.
หากจับท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้หนักใจในเรื่องนี้มากนัก เพราะหนทางการแก้ไข รธน. ยังอีกนยาวไกล หากดูตาม ม.256 ในรธน.60 ที่ฝ่ายค้านพยายามจะปลดล็อคให้ได้ ขั้นตอนการตั้ง กมธ.ชุดนี้ จึงเป็นเพียงด่านแรกเท่านั้น ท่ามกลางความเห็นที่หลากหลายทันที หลัง ‘เทพไท เสนพงศ์’ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เปิดชื่อ‘อภิสิทธิ์’ออกมา เมื่อช่วงต้นสัปดาห์

หากย้อนกลับไปช่วงก่อนลงประชามติร่าง รธน. ‘อภิสิทธิ์’ ได้ออกมาประกาศชัดไม่รับร่าง รวมทั้งก่อนการเลือกตั้ง 24มี.ค.62 นั้นก็ได้แสดงจุดยืนไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ โดยชี้ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ จะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น ซึ่งการตัดสินใจครั้งนั้นก็นำมาสู่การเป็น ‘พรรคต่ำร้อย’ ทำให้ ‘อภิสิทธิ์’ ประกาศลาออกจากการเป็น หน.พรรค และได้ลาออกจากการเป็น ส.ส. ก่อนการโหวตเลือก นายกฯ หลังมติพรรค ปชป. หนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็น นายกฯ ซึ่ง ‘อภิสิทธิ์’ ได้แถลงข่าวย้ำถึงจุดยืนตัวเอง ขอรักษาคำพูด จึงไม่อยากโหวตสวนมติพรรค ดังนั้นชื่อของ ‘อภิสิทธิ์’ จึงเป็นชื่อที่พรรคพลังประชารัฐต้องขวางไว้เป็นธรรมดา อีกทั้งเพื่อรักษาสิทธิ์ของพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลด้วย
.
หากย้อยอดีตไป พล.อ.ประยุทธ์ กับ ‘อภิสิทธิ์’ ได้ร่วมงานกันมาตั้งแต่สมัย รบ.อภิสิทธิ์ โดย พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ช่วง ต.ค.53 แต่ก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่ง 5 เสือ ทบ. โดยมี ‘บิ๊กป๊อก’พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. และมี ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรมว.กลาโหม ครบทีม ‘บ้าน 3ป.บูรพาพยัคฆ์’ รวมทั้ง ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ นั่ง รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงในขณะนั้นด้วย ในขณะนั้นสิ่งที่ ทบ. และ รบ.อภิสิทธิ์ ต้องเจอคือการเผชิญหน้ากับกลุ่มคนเสื้อแดง นปช. ที่ชุมนุมในพื้นที่กทม. จนนำมาสู่การสลายการชุมนุม

แต่ช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. คือหลังเหตุการณ์เหล่านั้น คือช่วง ต.ค.53 ถือเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของ รบ.อภิสิทธิ์ ก่อนจะมีการเลือกตั้ง ก.ค.54 ที่นำมาสู่ความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ ‘ขั้วเพื่อไทย’ ได้ขึ้นมาเป็น รบ. นำโดย ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ที่อยู่ในอำนาจได้เพียง 2 ปีกว่าเท่านั้น
.
จนเกิดเหตุการณ์ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ที่เป็น ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ นำมาสู่การเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. นำโดย ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ ซึ่ง ‘อภิสิทธิ์’ ก็ได้ร่วมขึ้นเวทีและเดินขบวนด้วย แม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ปชป.ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง จากนั้น ศาล รธน. ได้ตัดสินให้การเลือกตั้ง 2ก.พ.57 เป็นโมฆะ

รวมทั้งการเจรจา 7 ฝ่าย ที่ สโมสร ทบ. ช่วง พ.ค.57 ล้มเหลวไม่ได้ข้อยุติ จึงนำมาสู่การ ‘รัฐประหาร 22พ.ค.57’ นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. ในขณะนั้น ขึ้นเป็น หัวหน้า คสช. และนั่ง นายกฯ ด้วยตัวเองยาว 5 ปี ซึ่งผลพวงจากเหตุการณ์นั้น เมื่อมาถึงก่อนการเลือกตั้ง มี.ค.62 พรรคประชาธิปัตย์แบ่งเป็น 2 สาย ได้แก่ ‘สาย กปปส.’ และ ‘สายอภิสิทธิ์’ เกิดขึ้น
.
ดังนั้นชื่อ ‘อภิสิทธิ์’ จึงเป็นชื่อที่ต้องติดตามบนถนนการเมืองต่อไป ด้วยสายเลือดประชาธิปัตย์ที่มีอยู่ รวมทั้ง ‘ชั่วโมงบิน’ ทางการเมืองของ ‘อภิสิทธิ์’ ที่มากขึ้น ก็ทำให้เขาสามารถมองอนาคตตัวเองได้ว่าจะต้องวางบทบาทตัวเองอย่างไร แม้ผ่านมาเกือบ 1 สัปดาห์แล้ว ที่ชื่อ ‘อภิสิทธิ์’ ถูกหยิบขึ้นมาเป็น ปธ.กมธ.แก้ไข รธน. แต่เจ้าตัวยังคงเงียบนิ่งและเลี่ยงเจอสื่อ
.
ที่สำคัญชื่อ ‘อภิสิทธิ์’ ได้รับไฟเขียวจากที่ประชุม ส.ส.พรรค แล้วด้วย จึงเป็นสิ่งที่ชี้ชัดว่า ‘ประชาธิปัตย์’ เอาจริงกับเรื่องนี้ ท่ามกลางภารกิจการทวงคืน ‘ศักดิ์ศรีพรรคสีฟ้า’ รวมทั้งการทำตามสัญญาของพรรค ปชป. ที่เคยตั้งเงื่อนไขการเข้าร่วม รบ.ประยุทธ์ มีเรื่องการแก้ไข รธน. ด้วยนั่นเอง
.
เพราะงานนี้ ‘ประชาธิปัตย์’ ไม่ได้มาเล่นๆ รวมทั้งท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ขอไม่ข้องเกี่ยว แต่ก็ไม่ได้แสดงท่าที ‘ปิดประตู’ ไม่รับชื่อ ‘อภิสิทธิ์’ จึงต้องติดตามต่อไปว่า งานนี้ ‘พลังประชารัฐ’ จะถอยหรือไม่ ? รวมทั้ง ‘ประชาธิปัตย์’ จะดึงดันชื่อ ‘อภิสิทธิ์’ ต่อไปได้หรือไม่ เพราะออกตัวแรงมาแล้ว !!