บทวิเคราะห์ | ออสซี่ เกต การเมืองกล้วย-กล้วย

ออสซี่ เกตการเมืองกล้วย-กล้วย

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแกนนำคนสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ ผู้มีบทบาท “มือประสานสิบทิศ” อันโดดเด่น โด่งดัง

กำลังกลายเป็นเป้าแห่งความสนใจของสังคม 2 ประเด็นพร้อมกัน

ประเด็นหนึ่ง มาจากต่างประเทศ

เมื่อเครือสื่อยักษ์ใหญ่ของออสเตรเลีย คือ หนังสือพิมพ์ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ (Sydney Morning Herald) และหนังสือพิมพ์ดิเอจ (The Age)

ตีพิมพ์รายงานสืบสวนสอบสวน อ้างบันทึกคดีของตำรวจออสเตรเลียและศาลว่า ร.อ.ธรรมนัสเคยรับโทษจำคุกเป็นเวลา 4 ปีในเรือนจำออสเตรเลียจริง

ก่อนถูกเนรเทศในปี พ.ศ.2540 เนื่องจากความผิดฐานสมรู้ร่วมคิดกับแก๊งอาชญากรลักลอบนำเข้าและค้าเฮโรอีน 3.2 กิโลกรัม

กลายเป็นกรณี “ออสซี่ เกต” แบบไทย-ไทย ที่สังคมให้ความสนใจ

อีกประเด็น เป็นคำกล่าวติดตลกของ ร.อ.ธรรมนัส

กรณีนายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย ประกาศแยกตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล ภายหลังไม่พอใจที่พรรคเล็ก 11 พรรคไม่ได้รับการจัดสรรโควต้าในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ของสภาผู้แทนราษฎร

ว่า “ผมเป็นคนเลี้ยงลิง เลยต้องเอากล้วยให้ลิงกินตลอดเวลา ขณะนี้เชื่อว่ากินจนอิ่มแล้วน่าจะพอได้แล้ว”

แต่ดูเหมือนคนฟัง โดยเฉพาะกลุ่มพรรคเล็ก 11 พรรค ต่างแสดงความไม่พอใจต่อคำพูดดังกล่าว

กลายเป็นแรงกระเพื่อมทางการเมืองแบบกล้วย-กล้วย

ที่ทำให้สปอตไลต์ฉายจับ ร.อ.ธรรมนัสในเวลานี้

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่สอง คือ การเมืองแบบกล้วย-กล้วย นั้น

คงจะไม่เหนือบ่ากว่าแรงที่จะเคลียร์

โดย ร.อ.ธรรมนัสโชว์ความเป็นสุภาพบุรุษ

ด้วยการขอโทษผู้ที่ไม่พอใจ

“ต้องขอโทษพี่ๆ ที่เราไปล้อเล่นมากเกินไป ยืนยันว่าไม่มีเจตนาที่จะเปรียบเทียบให้เป็นลิงหรือเป็นสัตว์อะไร แต่เป็นเพราะสนิทกันมาก ลงพื้นที่ด้วยกันตลอด ผมผิดเอง โดยหลังจากนั้นก็โทรศัพท์ไปขอโทษทุกคน รวมทั้งนายพิเชษฐ สถิรชวาล หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย ว่าไม่ได้มีเจตนาจริงๆ”

“ขอย้ำว่าทุกพรรคมีความสนิทกันดี พูดเล่นกันมาตลอด จนบางครั้งลืมไปว่าคำพูดอาจทำให้เสียความรู้สึก จึงต้องขอโทษอีกครั้ง ทั้งนี้ ผมขอโทษผ่านสื่อมวลชนอีกครั้งว่าไม่มีเจตนา เราเป็นพี่น้องกัน จากการพูดคุยกับทุกคนก็เข้าใจกันว่าตนไม่ได้มีเจตนา”

ซึ่งเชื่อว่าเหล่าบรรดาพรรคเล็กก็คงฟัง

เพราะว่าที่จริง คนจากพรรคพลังประชารัฐ ที่ดูดำดูดีพรรคเล็กมากที่สุด ก็คงไม่พ้น ร.อ.ธรรมนัส ที่ตามเคลียร์ยามเกิดปัญหาต่างๆ

โดยอาศัยจุดแข็งของตนเอง 2 อย่าง

หนึ่งคือ ความอู้ฟู่ของทรัพย์สิน ร.อ.ธรรมนัสแจ้งแก่ ป.ป.ช.ไว้ว่า ในจำนวนภรรยา 2 คน และลูก 7 คนนั้น

เขามีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันทั้งหมด 929,706,302.68 บาท

แน่นอนในจำนวนทรัพย์สินอันมหาศาลนี้ ส่วนหนึ่งย่อมแบ่งปันไปถึง “คนอื่นๆ” ตามสมควร ด้วยความเป็นคนกว้างขวางของเขานั่นเอง

“ผมเป็นคนกว้างขวาง ผมเป็นคนคบเพื่อนฝูงเยอะและเป็นคนใจกว้าง”

ร.อ.ธรรมนัสพอใจที่จะถูกเรียกว่า “ผู้มีบารมี”

“บารมีมันเกิดจากคอนเน็กชั่นที่เรามี เนื่องจากเราจบ ตท.รุ่น 25 ทำให้รู้จักรุ่นพี่รุ่นน้องที่เป็นตำรวจ ทหารหรือนักธุรกิจ…ความที่เรารู้จักคนเยอะทำให้เรามีคอนเน็กชั่น เวลามีปัญหาเราติดต่อแก้ปัญหาให้คนได้ ไม่ใช่มาเฟียที่รังแกชาวบ้าน เราช่วยคน”

ซึ่งการช่วยคนนี้เอง ทำให้ ร.อ.ธรรมนัสถูกผู้ใหญ่ในรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ ถูกใช้ให้เป็นมือเคลียร์ ซึ่งเขาก็ทำสำเร็จในแทบทุกรณี

แน่นอน เชื่อกรณี “คนเลี้ยงลิง” ที่แม้จะแสลงใจคนฟัง

แต่กล้วยที่อิ่มท้องนั้น ย่อมทำให้กระแสความไม่พอใจเงียบหายไปในที่สุด

และไม่ใช่ปัญหาของผู้มีบารมีอย่าง ร.อ.ธรรมนัสนัก

แม้ว่าตอนนี้ นายพิเชษฐและพรรคประชาธรรมไทย จะยัง “มึนตึง” กรณีเลี้ยงลิง ประกาศตัวเป็นฝ่ายค้านอิสระ ไม่หนุนรัฐบาลแบบเดิมก็ตาม

แต่ที่น่าหนักใจ เป็นประเด็นที่มาจากต่างประเทศเสียมากกว่า

เพราะพาดพิง ร.อ.ธรรมนัสโดยตรง

นั่นคือ การที่หนังสือพิมพ์ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ (Sydney Morning Herald) และหนังสือพิมพ์ดิเอจ (The Age)

นำเสนอบทความเรื่อง “จากอาชญากรสู่รัฐมนตรี : เปิดโปงกรณีนักการเมืองต้องโทษจำคุกในคดีค้ายาเสพติด” (From sinister to minister : politician’s drug trafficking jail time revealed)

โดยนายไมเคิล รัฟเฟิลส์ ผู้สื่อข่าว และนายไมเคิล อีแวนส์ บรรณาธิการข่าวสืบสวนสอบสวนของหนังสือพิมพ์ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์

ทั้งนี้ เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า สื่อออสเตรเลียรายงานเรื่องนี้โดยอ้างจากบันทึกของตำรวจและศาลออสเตรเลีย

โดยระบุเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2536 หลัง ร.อ.ธรรมนัสเดินทางมาถึงนครซิดนีย์ได้ไม่กี่ชั่วโมง

ในขณะนั้น ร.อ.ธรรมนัสยังมียศเป็นร้อยตรี และใช้ชื่อในหนังสือเดินทางว่า Manat Bophlom ซึ่งแตกต่างจากชื่อสกุลที่ใช้ในปัจจุบัน

สื่อออสเตรเลียรายงานอีกว่า หลายปีต่อมา ก่อนที่ ร.อ.ธรรมนัสจะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีเพียงหนึ่งวัน เขาได้ยืนกรานหนักแน่นว่า

“ไม่ได้เป็นผู้ผลิต นำเข้า หรือค้าเฮโรอีน” ซึ่งเป็นความผิดที่จะทำให้ขาดคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรี

ร.อ.ธรรมนัสยังยืนยันว่า เขาถูกควบคุมตัวไว้สอบสวนเพียงไม่กี่เดือน ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวมาประกอบอาชีพเป็นผู้จำหน่ายกระดาษชำระในออสเตรเลียอยู่หลายปี

และตัดสินใจเดินทางกลับไทยในเวลาต่อมา เนื่องจากนโยบายต่อต้านการประกอบอาชีพของคนต่างชาติ ไม่ใช่เพราะถูกเนรเทศด้วยความผิดฐานค้ายาเสพติดแต่อย่างใด

ถึงกระนั้นก็ตาม เอกสารจากแฟ้มของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์กลับระบุชัดว่า ร.อ.ธรรมนัสมีบทบาทสำคัญในกรณีนี้

ในที่สุดศาลมีคำพิพากษาให้ ร.อ.ธรรมนัสกับเพื่อน รับโทษจำคุกคนละ 6 ปี โดยจะสามารถยื่นคำร้องขอทำทัณฑ์บนได้หลังรับโทษครบ 4 ปี

ทั้งนี้ หลังจากรับโทษจำคุกครบ 4 ปี ร.อ.ธรรมนัสและเพื่อนได้รับการปล่อยตัว โดยศาลมีคำสั่งเนรเทศกลับไปยังประเทศไทยในทันที

สื่อออสเตรเลียยังรายงานว่า ในการแถลงข่าวก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ร.อ.ธรรมนัสยังคงยืนยันว่า ไม่เคยต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 4 ปี หรือถูกเนรเทศ

“ผมใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาทั่วไปที่ออสเตรเลียเป็นเวลา 4 ปีเต็ม” ร.อ.ธรรมนัสกล่าว

นั่นคือ รายละเอียดบางส่วนที่สื่ออสเตรเลียรายงาน

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัสรับว่า มี “นักข่าวที่ชื่อ ‘ไมเคิล’ โทร.มาหาอยากขอคำอธิบายเรื่องดังกล่าว ผมบอกว่า ผมชี้แจงไปหมดแล้ว ทำไมต้องมาอธิบายกับคุณอีก”

ก่อนหน้านี้ ร.อ.ธรรมนัสเคยระบุในการแถลงข่าวเมื่อ 11 กรกฎาคม 2562 ว่า มีข้อมูลจาก “สื่ออวตาร” ที่พยายามโจมตีเขา

เพราะเขา “เป็นเส้นเลือดใหญ่ที่จะเอาเลือดไปหล่อเลี้ยงในหัวใจของรัฐบาล จึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อล้มผม”

“สื่ออวตารพวกนี้มาจากนอกประเทศทั้งนั้น”

โดยตอนนี้รู้หมดแล้วว่าใครอยู่เบื้องหลัง แต่ไม่เป็นไร เพราะเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขด้วยตัวเอง

“ส่วนการต้องโทษจำคุกนั้น เป็นข้อตกลงระหว่างผมกับศาล รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดไม่ได้ แต่ที่สื่อมวลชนออสเตรเลียเอามาเขียนนั้น ผมรู้หมดแล้วว่าโยงใยและมีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง โดยตอนนี้รู้ถึงโครงข่ายทั้งหมด และได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายเป็นผู้ดำเนินการทั้งทางแพ่งและอาญาแล้ว” ร.อ.ธรรมนัสระบุ

และย้ำว่า ไม่เคยรับสารภาพ เพราะไม่เคยกระทำความผิดอย่างที่มีการกล่าวอ้าง

ส่วนที่หนังสือพิมพ์ดังกล่าวอ้างว่า ได้ข้อมูลจากบันทึกของศาลออสเตรเลียนั้น คิดว่าคงไม่ใช่

เชื่อว่าเป็นการเขียนภายในประเทศไทย แล้วส่งไปให้ผู้สื่อข่าวที่ประเทศออสเตรเลียมากกว่า

“ต้องไปเจาะว่าเครือข่ายที่ออกมาให้ข้อมูลเป็นเครือข่ายอะไร ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ดิสเครดิตทางการเมือง แต่ไม่อยากจะพูดมาก”

“ผมว่าหากข้องใจเปิดหน้ามาชกกันเลยดีกว่า ไม่ต้องเป็นอีแอบแบบนี้ ต่อไปใครพูดเรื่องอดีตของผม ผมจะไม่โต้ตอบ แต่จะดำเนินคดีทุกอย่าง แล้วเราจะจมอยู่กับอดีตหรือ” ร.อ.ธรรมนัสกล่าว

เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีดังกล่าวจะทำให้ต้องลาออกจากรัฐมนตรีหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวย้อนว่า ทำไมต้องลาออก และลูกผู้ชายอย่างตน อยู่บนโลกของความเป็นจริง และเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ขอให้รอดูว่าจะทำงานรับใช้ประชาชนและแผ่นดินได้หรือไม่

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ดูจะมีท่าทีเช่น ร.อ.ธรรมนัส คืออยากให้ยุติเรื่อง

“ในเรื่องของคดีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของ ร.อ.ธรรมนัส จะไม่ขอพูดเพราะมีการชี้แจงไปหลายรอบแล้ว”

แต่กระนั้นก็ดูเรื่องจะไม่จบง่ายๆ

เมื่อฝ่ายค้านอย่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาจุดพลุ

ด้วยการโพสต์ทวิตเตอร์ถึงกรณี ร.อ.ธรรมนัส ว่า

เคยติดคุกคดียาเสพติด รัฐธรรมนูญมาตรา 98(10) ห้ามสมัคร ส.ส.

รัฐธรรมนูญมาตรา 160(6) ห้ามเป็นรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญมาตรา 170(4) ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว

“อย่าบอกนะว่าไม่ใช่คุกไทย” #จงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ อีกแล้วครับ!

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เสนอแต่งตั้งเข้ามาได้อย่างไร

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านก็นำเอาเรื่องไป “ขยายความ” ด้วยการยื่นกระทู้สด ถาม พล.อ.ประยุทธ์ จะดำเนินการอย่างไรกับ ร.อ.ธรรมนัส

จะสะเทือนต่อสถานะรัฐมนตรีของเขาหรือไม่ ซึ่งหากสะเทือน ย่อมจะส่งผลต่อการทำหน้าที่ประสานงานทั้งภายใและภายนอกพรรคอย่างแน่นอน

ซึ่งคงทำให้มีเรื่องต่างๆ ผุดต่อเนื่องออกมาอีก

ปัญหาไม่จบลงง่ายๆ อย่างการเมืองกล้วย-กล้วย แน่นอน!