เชิงบันไดทำเนียบ:ป.เปรม โมเดล บิ๊กตู่ อยู่ยาว สูตรลัด66/23สงบศึก เจาะป.ประยุทธ์-ประวิตรโมเดล

โดย ปรัชญา นงนุช

“เปรม โมเดล” เป็นคำเปรียบการเมืองยุค ‘ป๋าเปรม’พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี ยาวกว่า 8 ปี ตั้งแต่ปี2523-2531  ที่สำคัญ ‘ป๋าเปรม’ ก็ไม่ได้เป็นนายกฯจากการเลือกตั้ง แต่ถูกเชิญทาบทามให้มาเป็น

เป็นยุคที่เรียกกันว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” จน ‘ป๋าเปรม’ ต้องออกมาบอกว่า “ผมพอแล้ว” หลัง’น้าชาติ’พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน หัวหน้าพรรคชาติไทย จะเชิญ ‘ป๋า’ เป็นนายกฯอีกครั้ง ด้วย ‘ป๋าเปรม’ จับพิกัดได้ ถึงความไม่ราบเรียบและสิ่งที่เปลี่ยนไป

สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ นายกรัฐมนตรีคนนอก ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่เป็นที่ยอมรับ กระแสประชาธิปไตย ลมเปลี่ยนทิศ นับจาก ‘บิ๊กสุ’พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้นำทัพคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) กล่าว “เสียสัตย์เพื่อชาติ” นั่งนายกฯแทน นายณรงค์ วงศ์วรรณ จากพรรคสามัคคีธรรม ที่ชนะเลือกตั้งและเป็นพรรคที่หนุนรสช.ด้วย แต่ติดแบล็คลิสต์สหรัฐฯว่าเกี่ยวข้องกับพ่อค้ายาเสพติด จึงไม่สามารถเป็นนายกฯได้ จนนำมาสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ2535 นั่นเอง

ซึ่งนี้เองอาจทำให้ ‘ป๋าเปรม’ ปฏิเสธรับตำแหน่งนายกฯต่อ เพราะชีวิตทางการเมืองของ ‘บิ๊กสุ’ นับจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็เก็บตัวเงียบ ไม่ออกงานมากนัก แม้แต่วันเกิด ก็เปิดให้คนใกล้ชิดเข้าอวยพรเท่านั้น

“เปรม โมเดล”กลับมาอีกครั้งจึงเป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” ให้ ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเป็นนายกฯคนนอกยาวได้ และตั้งพรรคทหารขึ้น แต่ในเวลานี้เห็นทีจะผ่านกลไกร่างรธน. ที่เปิดช่องผ่านส.ว.แต่งตั้ง หากส.ส.ไม่สามารถเลือกนายกฯจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอมาได้ โดยให้ส.ส.และส.ว.มีมติไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง สามารถเสนอชื่อนายกฯนอกบัญชีได้ และในวาระสุดท้ายให้ส.ส.เป็นผู้เสนอชื่อนอกบัญชีเท่านั้น แต่ให้ส.ว.โหวตร่วมกับส.ส.ได้ ผ่านเสียงรับรองมากกว่ากึ่งหนึ่ง ในการรับรองชื่อให้ขึ้นเป็นนายกฯคนนอก

ในส่วนส.ว.นี้ก็มาจากการคัดเลือกโดย คสช. นั่นเอง แม้จะแบ่งให้มาจากการคัดเลือกโดยคณะกรรมการย่อยและสาขาอาชีพต่างๆ และมาจากผบ.เหล่าทัพ ผบ.ตร. ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นโดยตำแหน่ง โดยมีวาระ 5 ปี ซึ่งสามารถอยู่เลือกนายกฯคนนอกได้ถึง 2 วาวะ หากนายกฯอยู่ในตำแหน่ง 4 ปี

ทว่านายกฯก็ปฏิเสธเสมอที่จะอยู่ยาว หรือไม่สบอารมณ์ทุกครั้งที่มีคนถามถึงโรดแมปว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ เพราะ นายกฯมองว่าเป็นการมาเร่งหรือไม่อยากให้ตนอยู่แล้วนั่นเอง จนเป็นปมในใจเอาท่อน เพลงคืนความสุขให้ประเทศไทย “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” มาแทรกไว้ในเพลงสะพาน ที่แต่งรับปี2560

หากผนวกกับการตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) แล้ว ให้ ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พี่ที่เคารพไปนั่งเป็นประธานคณะกรรมการเตรียมการสร้างความปรองดอง ที่จะเชิญพรรคการเมือง-กลุ่มการเมืองมาเพื่อให้แสดงความเห็นตามหัวข้อที่ได้กำหนดไว้

โดยมีอนุกรรมการรับฟังความเห็น ที่มี บิ๊กช้าง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ที่จะมีผบ.เหล่าทัพไปนั่งอยู่ด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ แต่อยู่ในระหว่างทำรายละเอียดที่จะเพิ่มนักวิชากร ทั้งสายนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสายอื่นๆเข้ามา โดยไม่ได้จำกัดแค่สำนักสามย่าน หรือ ท่าพระจันทร์ เท่านั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักการเมืองที่จะมาพูดคุยราว 3 เดือน อนุกรรมการก็จะทำการรวบรวม เพื่อมาสรุปกับนักการเมืองเป็นข้อคิดเห็นประชาสังคม เพื่อให้ลงนามสัตยาบันต่อไป

แม้ก่อนหน้านี้พล.อ.ประวิตร จะบอกว่าไม่ต้องออกกฎหมายมาลงโทษหากไม่ทำตามที่ลงสัตยาบันไว้ แต่ล่าสุดเปิดเผยว่าในช่วงปลายทางถ้าเดินต่อไปไม่ได้ก็จะต้องมีการออกกฎหมายลูกขึ้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อไม่ให้การปรองดองครั้งนี้ “เสียของ” นั่นเอง หรือมีการปรามาสไว้ว่า “ทำไม่ได้หรอก”

“ส่วนปลายทางจะออกเป็นกฎหมายหรือไม่นั้น อาจจะเป็นเช่นนั้นถ้าไปกันไม่ได้ และขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ต้องออกเป็นกฎหมายลูก แต่ต้องรอให้ทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยก่อน ผมไม่อยากให้คิดไปไกล ขอรับฟังความคิดเห็นกันก่อน”พล.อ.ประวิตร กล่าว

ที่สำคัญมีการเสนอให้กลับมาใช้คำสั่งที่ 66/23 ที่เกิดขึ้นในสมัย พล.อ.เปรมอีกครั้ง เช่นที่เคยใช้นิรโทษกรรมสมัยต่อสู้กับลัทธคอมมิวนิสต์  ซึ่งทั้ง ‘บิ๊กตู่’ และ ‘บิ๊กป้อม’ ก็ประสานเสียงเลยว่า ไม่รับข้อเสนอนี้ อย่างที่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่าจะไม่มีการคุยเรื่องของกฎหมาย คดีความ นิรโทษกรรม การขออภัยโทษ ทั้งสิ้น แต่จะมาคุยแนวทางที่นักการเมือองอยากให้เป็น เพื่อจะอยู่กันอย่างสันติในอนาคต

“คำสั่ง 66/23 เป็นเรื่องนานมาแล้ว มันมีเรื่องของผู้ก่อการร้าย แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ มันเป็นเรื่องความปรองดองของคนในชาติ และผมไม่ยึด 66/23 ผมจะทำให้คนมีความเข้าใจร่วมกัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติในอนาคต และไม่ได้ไปยกเลิกให้คนทำผิดแล้วไม่ผิด ครั้งนี้มันไม่ใช่วิธีการเดียวกับกลุ่มพัฒนาชาติไทย มันคนละแบบกัน” พล.อ.ประวิตร กล่าว

“สูตรดังกล่าวเป็นคนละกรณีกัน ครั้งนี้เป็นเรื่องการต่อสู้กัน ซึ่งมีทั้งการใช้กำลัง การใช้อาวุธสงคราม แบ่งฝ่ายต่อสู้กัน ซึ่งเป็นคนละเรื่อง วันนี้เราไม่ได้แบ่งแบบนั้น สูตร 66/23 เป็นการนำคนกลับเข้ามาเพื่อเป็นกลุ่มพัฒนาชาติไทย แต่กรณีปัจจุบันมันเป็นคนละอย่าง และไม่ได้แบ่งกันเป็นคนละลัทธิ” นายกฯ เผย

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าแนวคิด “เปรมโมเดล” ตั้งแต่ให้ให้นายกฯนั่งนายกฯยาว ที่ต้องมาทำกลไกใหม่ให้แยบยลขึ้นผ่านรัฐสภา มีการเลือกตั้ง ให้เกิดข้อทวงติงน้อยที่สุด และ การปฏิเสธสูตร 66/23 สมัยสู้รบกับคอมมิวนิสต์ ไม่สามรถทำได้ง่ายด้วยปัจจัยและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปกว่า 30ปี

ตอนนี้ไม่ใช่มีแต่ “ป.เปรม โมเดล” แต่มี “ป.ประยุทธ์-ประวิตร โมเดล”ด้วย บางอย่างถูกทำให้แยบยล บางอย่างถูกตัดเสีย บางอย่างอาจกลับมาใครจะรู้ได้ แต่โมเดลหลังน่าสนใจจะใช้ได้ผลในยุคนี้หรือไม่

เพราะ “บารมี” ของ พล.อ.เปรม ที่สามารถประสานฝ่ายการเมือง-กองทัพในยุคนั้นได้ และเป็นยุคที่”ประชาธิปไตยครึ่งใบ” การมีส่วนร่วมของประชาชน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ “เปรม โมเดล” เกิดขึ้นยากในวันนี้

กระนั้นหากนำชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” มาผ่านระบบรัฐสภาในการเลือกนายกฯคนนอกที่ได้เปิดช่องไว้ จะได้รับความยอมรับมากกว่าการเชิญมาเป็น ก็น่าสนใจว่า แล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะใช้ “บารมี” ใดประสานระหว่างฝ่ายการเมืองและกองทัพในอนาคต

ดังนั้นชื่อ พล.อ.ประวิตร ที่จะมาเป็นนายกฯคนนอก เลยยังไม่ตกไปเสียทีเดียว เพราะ พล.อ.ประวิตรถือเป็นมือประสานฝ่ายการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ และมี “บารมี” ในกองทัพ แม้แต่ในวงการ “ตำรวจ” เอง

อีกทั้งการให้ พล.อ.ประวิตร มานั่งเป็นประธานคณะกรรมการที่จะพูดคุยปรองดองกับนักการเมืองด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้มีการจับตามองว่า จะเป็นห้วงเวลาที่ พล.อ.ประวิตร ได้คืนฟอร์มและได้ใช้โอกาสนี้ดีลฝ่ายการเมืองหรือไม่ แม้จะปฏิเสธมาตลอดก็ตาม

“ผมไม่ดีลกับใครอยู่แล้ว” ‘บิ๊กป้อม’ เผย

“ป.เปรม” หรือ “ป.ประยุทธ์-ประวิตร” โมเดล ไหนจะรอด !!