บทวิเคราะห์ : วิกฤตเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางสังคมและสงคราม

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

Professor Jomo (1) ซึ่งติดตามศึกษาวิกฤตเศรษฐกิจโลกมานานได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบใหม่อาจเกิดขึ้นได้

พร้อมทั้งยังชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงของวิกฤตเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางสังคมและสงครามอย่างน่าสนใจ

สำหรับเขาแล้ว ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจกำลังเพิ่มขึ้น ความไม่เท่าเทียมต่างๆ และความเสื่อมค่าเหล่านี้คาดว่าจะเพิ่มความเข้มแข็งให้กับประชานิยมแบบเชื้อชาติ (ethno-populist) ความรู้สึกชาตินิยมแบบอวดดี (jingoistic Nationalism) และความตึงเครียดทางสังคม

โดยเฉพาะความไม่แน่นอนที่ทำให้รู้สึกอ่อนแอและถูกคุกคามแพร่กระจายไปทั่วโลก

 

วิกฤตกับการตอบสนองที่จำกัด

สําหรับศาสตราจารย์เชื้อสายมาเลย์ เรียนจบมหาวิทยาลัยเคมบริจด์ สหราชอาณาจักร แต่ทำงานที่องค์การสหประชาชาติกลับเห็นว่า วิกฤตการเงินระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นนั้นสร้างความกังวลและอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางทหารครั้งใหญ่ได้ (2)

ที่มากไปกว่านั้น เพราะช่วงนี้ภูมิทัศน์ทางการเมืองปัจจุบันได้ทอดยาววิกฤตเศรษฐกิจ ผสมกับการทะยานขึ้นของความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจผสมกับประชานิยมแบบเชื้อชาติย่อมก่อให้เกิดการควบคุมได้ยากและนำไปสู่ความขัดแย้งทางทหาร ที่แย่ไปกว่านั้นคือ สงครามโลก

เขายกตัวอย่าง วิกฤตการเงินโลกปี 2008-2009 เกือบทำให้รัฐบาลต่างๆ ล้มละลายและทำให้ระบบล่มสลาย ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจให้การดึงเศรษฐกิจเข้ามาใกล้ ใช้มาตรการการเงินอย่างไม่เป็นทางการและค่อยๆ ดำเนินการอย่างช้าๆ ซึ่งไม่มีผลร้ายต่ออัตราดอกเบี้ย

แต่ในช่วงการแทรกแซงการเงิน ผู้กำหนดนโยบายดำเนินการน้อยมากเนื่องด้วยปัญหาทางการเงินในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ต่อจากนั้น แม้ว่ามีการให้คำสัญญาเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่ผู้กำหนดนโยบายก็ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง แทนที่จะทำเช่นนั้น นักปฏิรูปเชิงโครงสร้างได้อาศัยประโยชน์จากวิกฤตนี้ไปสู่ตลาดแรงงานและก่อผลเสียหายโดยเฉพาะการปลดคนงานและลดทอนบทบาทของสหภาพแรงงานทั่วโลก

 

จากเศรษฐกิจแตกสู่เศรษฐกิจฟองสบู่

ก่อนปี 2008 ในสหรัฐอเมริกาให้เครดิตที่อยู่อาศัยง่ายเพื่อเพิ่มราคาทรัพย์สิน หลังจากนั้น ปัจจุบันราคาบ้านในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 8% มากกว่าจุดสูงสุดของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในปี 2006 ซึ่งคาดการณ์ว่าคล้ายกับปี 1929 เมื่อเกิดการล่มสลายในตลาด Wall Street จนเกิดเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)

อาจกล่าวได้ว่า ทศวรรษของนโยบายการเงินแบบไม่เป็นทางการ ดอกเบี้ยที่ต่ำนำมาสู่ความลดน้อยลงต่อความสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจ การปล่อยความยากลำบากให้ยาวนานมีผลต่อสาธารณะทางด้านการแบ่งแยกทางวัฒนธรรมทั้งภายนอกและภายในประเทศ นำไปสู่การต่อต้าน ความขัดแย้ง

และแม้แต่สงครามโดยอ้างว่ามาจากภายนอก

 

ความไม่พอใจต่อระบบเสรีนิยม

เมื่อประชานิยมแบบเชื้อชาติได้กระตุ้นชาตินิยมแบบอวดดีอาจทำให้เกิดความตึงเครียดต่างๆ และความตึงเครียดระหว่างประเทศเหมือนในช่วงทศวรรษ 1930 มีผู้นำที่ฉวยโอกาสอ้างความอับโชคจากภายนอกและอาจหาทางหมุนกลับนโยบายที่เกี่ยวพันการรับรู้สาเหตุต่างๆ เช่น เสรีนิยมเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์

นโยบายที่ประสบความสำเร็จ เช่น ตรวจสอบปัญหาต่างๆ อาจช่วยลดความตึงเครียดทางสังคมภายในและระหว่างประเทศได้ อย่างไรก็ตาม อาจมีการพลั้งเผลอให้ปัญหาเลวร้ายลง การแพร่ระบาดความรู้สึกต่อต้านโลกาภิวัตน์ แม้ไม่ได้มีผลต่อรายได้ต่อหัวมากนัก แต่ก็เพิ่มความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ

แต่ที่แน่ๆ โลกาภิวัตน์และระบบเสรีนิยมมีความเชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและการเติบโตของประชานิยมแบบเชื้อชาติ แม้จะมีการพิสูจน์ยากเรื่องความมั่งคั่งและความไม่เท่าเทียมกัน แต่ก็มีบทพิสูจน์ในประวัติศาสตร์ เช่น เกิดสงครามกลางเมืองแบบพลั้งเผลอและความตึงเครียดระหว่างประเทศ

ความดึงดูดทางอารมณ์ของประชานิยมแบบเชื้อชาติกำลังนำไปสู่มาตรการต่างๆ ที่ชั่วร้ายซึ่งอาจทำให้บางสิ่งแย่ลง แต่ในระดับนานาชาติ แม้โลกไม่ได้คาดการณ์มาก่อน แต่ความเชื่อมโยงระหว่างกัน (interconnectedness) ของระบบพหุพาคี (multilateralism) ยิ่งหลีกเลี่ยงการที่สหรัฐอเมริกาแยกใหม่ไปเป็น “เอกภาคี” (unilateral)

ให้สังเกตว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความไม่เท่าเทียมกันในด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองเพิ่มขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ ผสมกับการแพร่ระบาดของประชานิยมแบบเชื้อชาติและชาตินิยมแบบอวดดีก่อผลความรุนแรงและการต่อต้านไม่เพียงแต่ภายในสังคมใดสังคมหนึ่ง แต่ได้บูรณาการในเชิงเชื่อมต่อกับระบบโลกโดยเปลี่ยนระบบพหุภาคี ไปสู่เอกภาคี ดังในกรณีสหรัฐอเมริกา ยุโรปดำเนินการอยู่ อันอาจแปรความตึงเครียดสู่สงครามกลางเมืองและสงครามระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้น

ความตึงเครียดนำไปสู่ความขัดแย้งในระดับต่างๆ ดังเป็นแนวโน้มปัจจุบัน

—————————————————————————————————————————–
(1) Professor Jomo Kwame Sundaram, United Nation Assistant Secretary-General for Economic Development
(2) Jomo Kwame Sundaram and Vladimir Popov, “Economic Crisis Can Trigger World War” Third World Network Feature, February 2019.