ไซเบอร์ วอทช์เมน : มาตรการใหม่เฟซบุ๊ก รับมือเลือกตั้งไทย แก้ทางเพื่อบรรยากาศเสรี-เป็นธรรมได้หรือ?

เฟซบุ๊กกับการเมืองได้กลายเป็นสิ่งเชื่อมโยงที่ตัดขาดไม่ได้ ตราบใดที่มนุษย์ยังคงสื่อสารและแสดงความคิดเห็นหลายเรื่องรวมถึงการเมือง

โดยเฟซบุ๊กก็เจอเรื่องฉาวชนิดสาหัสเมื่อปีที่แล้ว จากกรณีที่หน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐชี้ว่า รัสเซียได้เข้าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปี 2016

โดยหนึ่งในความพยายามแทรกแซงคือ การใช้โซเชียลมีเดียในการทำสงครามจิตวิทยามวลชน สร้างข่าวเท็จป้อนเข้าสู่สังคมออนไลน์

ในขณะนี้ซีไอเอเองก็สืบสวนหาความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธินดีสหรัฐคนปัจจุบันกับรัสเซีย

ส่วนเฟซบุ๊กเองก็โดนร่างแห ต้องชี้แจงต่อสังคมเพื่อพิสูจน์ความโปร่งใส

แต่ก็มิวายโดนซ้ำสองจากกรณีอื้อฉาวในการดึงข้อมูลผู้ใช้หลายล้านโดยเคมบริดจ์ แอนาไลติก้า เพื่อทำข้อมูลวิเคราะห์เพื่อใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และทีมหาเสียงของนายทรัมป์ก็เป็นลูกค้าสำคัญของเคมบริดจ์ แอนาไลติก้าด้วย

เรื่องนี้ถึงกับทำให้มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ต้องเร่งกู้ศรัทธา ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการด้านพาณิชย์และการค้าของสหรัฐ ประกาศต่อผู้ถือหุ้นว่าเฟซบุ๊กจะปรับปรุงไม่ให้โซเชียลมีเดียถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อหวังผลทางการเมือง

และยังคงเป็นพื้นที่แห่งความหลากหลายในความคิดเห็น เป็นชุมชนของโลก

จนในที่สุดบทเรียนที่เจอครั้งนั้นก็นำมาสู่มาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยอีก แล้วมาตรการที่ว่านี้ก็ถูกนำมาใช้กับการเลือกตั้งของไทยที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมนี้

 

มาตรการใหม่ เพื่อเลือกตั้งไทย
เสรี-เป็นธรรม ไม่ถูกแทรกแซง

เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ในหน้าเว็บไซต์ห้องข่าวของบริษัทเฟซบุ๊กได้เผยแพร่มาตรการล่าสุด โดยเคธี ฮาร์บาร์ต ผอ.ฝ่ายกิจการทางไกลด้านการเมืองและรัฐบาลโลก และรอย ทัน ผจก.ฝ่ายกิจการทางไกลด้านการเมืองและรัฐบาลโลกประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้เปิดเผยมาตรการใหม่นี้ว่า จากบทเรียนที่เจอเมื่อ 2 ปีก่อน การปกป้องความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้งพร้อมกับทำให้มั่นใจว่าประชาชนจะใช้เสียงในกระบวนการทางการเมืองได้ เป็นหัวใจสำคัญของเฟซบุ๊ก

เฟซบุ๊กจะเพิ่มศักยภาพในการจัดการบัญชีผู้ใช้ปลอม ลดจำนวนข่าวปลอม สกัดผู้แสดงที่ไม่ดี สนับสนุนข้อมูลและขับเคลื่อนการเลือกตั้ง รวมถึงเพิ่มความโปร่งใสกับโฆษณาออนไลน์ที่เข้ามา

สาระสำคัญของมาตรการดังกล่าวเพื่อรับมือสถานการณ์การเลือกตั้งของไทยนั้นคือ ส่วนของโฆษณาหรือ “แอดส์” ที่เฟซบุ๊กได้เพิ่มรายละเอียดเพื่อให้ผู้ใช้สามารถดูข้อมูลว่าเพจสร้างขึ้นเมื่อไหร่ ใช้ชื่ออะไรก่อนหน้า

แต่ที่น่าสนใจและเกิดการตั้งคำถามคือ การห้ามโฆษณาการเลือกตั้งจากต่างประเทศ

โดยเฟซบุ๊กระบุว่าเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้ซ้ำรอยกับเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐ 2016 ซึ่งห้ามไม่ให้มีโฆษณาเลือกตั้งของต่างชาติในไทย

โดยมีผลบังคับใช้ในกลางเดือนนี้

ซึ่งจะส่งผลกับโฆษณาการเลือกตั้งที่ดำเนินการโดยบริษัทโฆษณาที่มีฐานอยู่นอกประเทศไทยเท่านั้น นั่นหมายถึงโฆษณาที่มาจากพื้นที่ต่างประเทศ โดยที่โฆษณานั้นมีลักษณะเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่มีเนื้อหาอ้างถึงนักการเมือง พรรคการเมือง การออกไปใช้สิทธิ และ/หรือ ปราบปรามการเลือกตั้ง และรวมถึงคำขวัญและโลโก้พรรค

หรือในความเข้าใจง่ายๆ คือ เนื้อหาที่มีลักษณะให้คุณหรือโทษต่อการเลือกตั้งของไทยที่เจอการตรวจตรา

และการตรวจตรานี้ จะใช้ร่วมทั้งระบบตรวจสอบอัตโนมัติและเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ โดยภายในมิถุนายนนี้เฟซบุ๊กจะตั้งเครื่องมือโฆษณาทางการเมืองระดับโลกขึ้น โดยการเลือกตั้งแต่ละครั้ง จะเรียนรู้การใช้เครื่องมือดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ข้อสังเกตหนึ่งต่อมาตรการนี้ อยู่ที่บริบททางการเมืองของไทยและสหรัฐต่างกันมาก

โดยเฉพาะช่วงศตวรรษทางการเมืองอันวุ่นวายและภายใต้การปกครองกว่า 4 ปีของ คสช. ซึ่งมีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพอย่างเข้มข้น

การใช้หน่วยงานความมั่นคงในการเซ็นเซอร์และใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือไอโอบนโซเชียลมีเดียในการสอดแนมผู้ใช้เฟซบุ๊ก โดยเฉพาะนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม นักเคลื่อนไหว สื่อมวลชนที่มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับ คสช. สร้างเนื้อหาข่าวเชิงปลุกกระแสกับผู้สนับสนุนฝ่าย คสช.และสร้างข่าวเท็จ ข่าวเชิงโจมตีกับฝ่ายต่อต้านด้วยการใส่ข้อมูล เนื้อหาภาพ ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

หรือแม้แต่ความพยายามแฮ็กหรือรายงานบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กฝ่ายต่อต้านเพื่อสกัดการเคลื่อนไหว

ที่ผ่านมารัฐบาลทหารไทยและฝ่ายสนับสนุนมักมีความกังวลต่อการเผยแพร่เนื้อหาจากต่างประเทศอย่างมาก เพราะไม่สามารถลบหรือจัดการได้ทันที แม้มาตรการสกัดโฆษณาออนไลน์จากต่างประเทศอาจทำให้ฝ่ายรัฐบาล คสช.โล่งใจได้ระดับหนึ่ง

แต่มีอยู่อย่างหนึ่งคือ นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามหรือนักเคลื่อนไหวที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้บริการผ่านบริษัทโฆษณา แต่พวกเขาเผยแพร่ความคิดเห็นผ่านบัญชีส่วนตัว ส่งข้อความสื่อสารกับคนไทย

ด้วยเจตนาและความตั้งใจให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตย และไม่ต้องการให้ระบอบเผด็จการทหารมีอำนาจอีก

 

ส่วนมาตรการอื่นที่เฟซบุ๊กระบุ ยังมีทั้งแผนการตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อการเลือกตั้งโดยเฉพาะ หรือการสร้างความร่วมมือกับสำนักข่าวไทยและมหาวิทยาลัยชั้นนำเพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนและเฝ้าระวัง โดยเฉพาะข่าวปลอม ข้อมูล ผรุสวาท หรือการแทรกแซงการเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม

ไม่เพียงเท่านี้ เฟซบุ๊กยังระบุว่า พวกเขาได้ร่วมจัดการอบรมพิเศษให้กับสำนักข่าวต่างๆ ของไทยในเรื่องนี้ ไม่ว่าห้องข่าวหรือการรายงานข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

ในส่วนด้านเทคนิคของเฟซบุ๊ก ก็ได้ระดมเจ้าหน้าที่หลายพันคนเพื่อตรวจตราสิ่งที่บ่งชี้ได้ว่าเป็นข่าวปลอม ข้อมูลเท็จ โดยอิงกับหลักมาตรฐานชุมชนว่าจะต้องไม่ขัดหรือละเมิดหลักปฏิบัติดังกล่าว

แม้ว่าเฟซบุ๊กจะวางกลไกรับมือยังไง อีกสิ่งที่สำคัญที่เฟซบุ๊กย้ำอยู่เสมอคือ ผู้ใช้จะต้องมีความรู้เท่าทันสื่อดิจิตอลโดยเฉพาะโซเชียลมีเดียมากขึ้น

 

ปัญหาต่อบริบทเมืองไทย

ปัญหาหนึ่งที่นักสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสงสัยคือ เฟซบุ๊กได้วางมาตรการในลักษณะเดียวกันนี้กับฝ่ายอำนาจรัฐที่ร่วมเล่นสงครามข่าวด้วยหรือไม่

เพราะที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจใช้กลไกรัฐควบคุมและจัดการฝ่ายต่อต้านที่เคลื่อนไหวบนโลกโซเชียลอย่างจริงจัง ตั้งแต่การแสดงความคิดเห็นให้เข้าใจผิด หรือเจ้าหน้าที่สร้างบัญชีปลอมในการติดตาม ปล่อยข่าวปลอม หรือแม้ระดมรีพอร์ตบัญชีผู้ใดไม่ให้สามารถใช้งานได้ (ศัพท์เฉพาะคนเล่นโซเชียลจะเรียกพฤติกรรมนี้ว่า “รุมยิงเพจให้ดับ”)

ยกตัวอย่างกรณีของเพื่อนผู้เขียนคนหนึ่งที่เป็นนักข่าวพลเมือง ถูกรุมรีพอร์ตจนถูกแบน ไม่ให้ใช้เฟซบุ๊กนานหลายสัปดาห์ เพราะถูกหาว่าโพสต์ภาพอนาจาร เช่นเดียวกับผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านหนึ่งที่เป็นศิลปินแห่งชาติก็ถูกรีพอร์ตจนบัญชีถูกแบนด้วยสาเหตุนี้ แต่ต่อมาก็ได้บัญชีคืน พร้อมกับอีเมลคำขอโทษจากเฟซบุ๊กที่ดำเนินการผิดพลาด

ข้อสังเกตจากเรื่องนี้คือ พวกเขาไม่เคยโพสต์ภาพอนาจาร โพสต์แต่ภาพหรือข้อความที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร คสช.อย่างต่อเนื่อง

ไม่รู้ว่าเฟซบุ๊กมีความเข้าใจต่อสถานการณ์การเมืองไทยภายใต้ยุคเผด็จการทหารมากแค่ไหน และมาตรการดังกล่าวที่ตั้งขึ้น เป็นการแก้แบบเหมารวมหรือไม่ เพราะผู้ที่เคลื่อนไหวบนโลกโซเชียลก็มีส่วนหนึ่งลี้ภัยออกนอกประเทศ เพียงเพราะมีจุดยืนต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร และไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่อุ้มชูคณะรัฐประหารผ่านการเลือกตั้งแล้วกลับมามีอำนาจบริหารประเทศ

มาตรการดังกล่าวของเฟซบุ๊กอาจถูกมองว่าเป็นคุณต่อฝ่ายหนึ่ง และเป็นโทษต่ออีกฝ่ายขึ้นมาได้

ความต่างในบริบทของทั้งสองประเทศแบบนี้ เครื่องมือในการใช้งานก็ต้องแตกต่างกัน

 

ทั้งนี้ ยังไม่นับกิจกรรมการหาเสียงของพรรคการเมืองบนโลกโซเชียลก็ทำได้อย่างยากลำบาก เพราะด้วยกฎอันหยุมหยิมของ กกต.ทำให้นักการเมืองจำนวนไม่น้อยต้องสื่อสารกับผู้ใช้เฟซบุ๊กอย่างระมัดระวัง

การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม อาจเป็นสิ่งที่ดูเลือนราง

และยิ่งจะเลือนรางไปอีก หากโซเชียลมีเดียยังแก้ไขปัญหาโดยไม่เข้าใจต้นตอของปัญหาอย่างถูกต้องและแท้จริง