กรองกระแส/พัฒนาการ การต่อสู้ จากรัฐประหาร 2549 และ 2557 ก้าวให้พ้น ‘ทักษิณ’

กรองกระแส

 

พัฒนาการ การต่อสู้

จากรัฐประหาร 2549 และ 2557

ก้าวให้พ้น ‘ทักษิณ’

 

การปรากฏขึ้นของข้อความ “12 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549” จากนายทักษิณ ชินวัตร ไม่เพียงแต่จะเป็นการยืนยันถึงการดำรงอยู่ของนายทักษิณ ชินวัตร หากแต่ยังเป็นการเปิดเกม “รุก” อย่างใหญ่หลวงไปยังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562

เป้าหมายมิได้อยู่ที่ 1 รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 หากแต่ยังอยู่ที่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

1 ยังเป็น คมช. และยังเป็น คสช.

กรณีของนายทักษิณ ชินวัตร จึงไม่เพียงแต่จะสะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ผ่านบทสรุปที่ว่าเป็นรัฐประหาร “เสียของ” กระทั่งต้องทำซ้ำอีกคำรบหนึ่งโดยรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เท่านั้น

หากยังยืนยันว่า นายทักษิณ ชินวัตร มิได้ดำรงอยู่ในทางการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังพร้อมที่จะใช้การดำรงอยู่ของตนเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งของปี 2562 อย่างแข็งขัน

ปรากฏการณ์นายทักษิณ ชินวัตร จึงเป็นปรากฏการณ์อันสะท้อนลักษณะใหม่ในทางการเมือง

เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นภายหลังการโค่นจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เมื่อปี 2500 เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นภายหลังการพังทลายของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อปี 2516 รวมถึงกรณีการพังทลายของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในปี 2523 และการพังทลายของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในปี 2535

เท่ากับยืนยันว่ากำจัดนายทักษิณ ชินวัตร ได้ แต่ยังไม่สามารถขจัดนายทักษิณ ชินวัตร ได้ในทางเป็นจริง

 

การคงอยู่ ความคิด

ของทักษิณ ชินวัตร

 

ภายในประเทศ นายทักษิณ ชินวัตร ไม่อยู่แล้ว เขาถูกโค่นทางการเมืองตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไปแล้ว ยิ่งมีรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อันเป็นการโค่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยิ่งเด่นชัด

คำถามก็คือ ทำไมต้องมีรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ตามมา

คำตอบ 1 เพราะว่าซากเดนของนายทักษิณ ชินวัตร ยังคงอยู่เห็นได้จากชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 และชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 จึงจำเป็นต้องกำจัด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกไป

คำตอบ 1 เพราะว่ามรดกทางการเมืองของนายทักษิณ ชินวัตร ดำรงอยู่ผ่านการสืบทอดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เป็นมรดกในทาง “ความคิด” อันสำแดงพลานุภาพผ่าน “พรรคเพื่อไทย”

เป็นมรดกในทาง “ความคิด” อันสะท้อนผ่านผลงานและความสำเร็จในทางการเมืองจากภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 เป็นต้นมา

อย่างที่ต่างประเทศสรุปและเรียกขานว่า “ทักษิโณมิกส์”

การดำรงอยู่ของนายทักษิณ ชินวัตร จึงเป็นการดำรงอยู่ในทาง “ความคิด” และเมื่อความคิดนี้ได้รับการปรับประสานเข้ากับปฏิบัติการทางการเมืองที่เป็นจริงก็สามารถสำแดงพลานุภาพทาง “การเมือง” ออกมา

ตรงนี้ต่างหากที่ยืนยันว่า ไม่ว่ารัฐประหารกี่ครั้งก็ยัง “ขจัด” ระบอบคิดอันเป็นมรดกของนายทักษิณ ชินวัตร ลงไปได้

 

เลือกตั้ง 2562

บทพิสูจน์ใหม่

 

การเลือกตั้งไม่ว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 จึงจะเป็นการพิสูจน์ทราบอีกครั้งว่าจะสามารถ “ขจัด” อิทธิพลในทางความคิดของนายทักษิณ ชินวัตร ลงไปได้ตามความปรารถนาหรือไม่

จึงไม่เพียงแต่ คสช.จะจัดทัพโดยผ่านรัฐธรรมนูญ ผ่านประกาศและคำสั่งมากมาย

หากแต่ 1 ยังมีการจัดตั้งพรรคการเมืองอันเป็นเครือข่ายของตน ตัวแทนความคิดของตน ขณะเดียวกัน 1 ยังสามัคคีกับบางพรรคการเมืองเพื่อจะสร้างแนวร่วมในการต่อต้านกับสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ”

ขณะเดียวกัน 1 ทางด้านตัวแทนระบอบในทาง “ความคิด” ของนายทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่เพียงแต่จะสำแดงออกผ่านพรรคเพื่อไทย หากแต่ยังเกิดพันธมิตรในแนวร่วมทั้งที่แยกตัวออกจากพรรคเพื่อไทยและที่เกิดขึ้นไปตามธรรมชาติในทางการเมือง

ก่อนการเลือกตั้งจึงปรากฏแนวรบ 2 แนวขึ้นอย่างเด่นชัด 1 คือ แนวที่จะต้องการรักษาและสืบทอดอำนาจของ คสช.ต่อไป 1 คือ แนวที่ปฏิเสธอำนาจและการสืบทอดอำนาจของ คสช.

นับวันแนวรบ 2 แนวนี้ยิ่งมีความเด่นชัด และเข้าปะทะกันโดยตรง

การเลือกตั้งในปี 2562 จึงเป็นการต่อสู้ในแนวรบที่ไม่เพียงแต่จะรักษาอำนาจของ คสช.ให้ยืนยาวต่อไป หากแต่ยังเป็นการต่อสู้กับฝ่ายที่ไม่ต้องการเห็นการสืบทอดอำนาจของ คสช. ต้องการคืนประชาธิปไตยให้กับสังคมไทย

ปมเงื่อนอยู่ตรงที่ฝ่ายใดจะสามารถยืนอยู่กับประชาธิปไตยในทางเป็นจริงได้มากกว่า ลึกซึ้งมากกว่า

ปมเงื่อนอยู่ตรงที่ฝ่ายใดจะสามารถยึดกุม “อำนาจนำ” ในทางความคิดได้เหนือกว่า

ปัจจัยชี้ขาดอย่างแท้จริงคือ ประชาชนอันเป็นคนส่วนข้างมากที่สุดจะตัดสินใจเลือกยืนอยู่กับฝ่ายใด

ผลการเลือกตั้งจึงเป็นคำตอบสุดท้าย