จำกัดโดยอำนาจรัฐ : ส่องแนวโน้มสิทธิ(ไม่)เสรีภาพทางความคิด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคปัจจุบัน

รายงานพิเศษ
อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ /รายงาน

รัฐบาล คสช.ของไทยประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็น “วาระแห่งชาติ” พร้อมกับร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 สนับสนุนการพัฒนาประเทศ

แต่กลับมีการตั้งข้อหาที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพและการชุมนุมทางการเมืองในจำนวนที่มากขึ้น

รัฐบาลพม่าภายใต้การนำของพรรคเอ็นแอลดี ที่ทำให้หนังสือพิมพ์และพื้นที่แสดงออกกลับมาคึกคักอีกครั้ง

แต่ในเวลาเดียวกัน มีรายงานการจับกุมนักข่าว ใช้กฎหมายปิดปากนักเคลื่อนไหวโดยเฉพาะกรณีโรฮิงญา

หรือในกัมพูชาที่ใกล้ถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ออกมายืนยันว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ยุติธรรม

กลับมีการจับกุมนักการเมืองฝั่งตรงข้าม ยุบพรรคฝ่ายค้าน และการสร้างความหวาดกลัวจนประชาชนไม่กล้าวิจารณ์

สิ่งสะท้อนอันแสนขัดแย้งกันอย่างประหลาดนี้ ทำให้เกิดคำถามขึ้นตามมาว่า ทำไม?

เหตุใดการใช้สิทธิเสรีภาพถึงกลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ประชาชนพึงกระทำและกฎหมายสูงสุดให้การรับรองและคุ้มครอง

 

ในงานเสวนาเรื่อง Freedom of expression comes under fire in Southeast Asia ที่จัดขึ้นที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยเมื่อวันพุธที่ 13 มิถุนายน ได้ชวนขยายภาพและคลายข้อสงสัยถึงสภาวะของการใช้อำนาจบังคับใดๆ ตามกฎหมาย ถึงกลายเป็นความไม่ปกติและความหวังที่จะฟื้นฟูพื้นที่แห่งเสรีภาพนี้ไว้

น.ส.หวาย เพียว มินต์ ผู้จัดการโครงการภูมิภาคของศูนย์ธุรกิจที่รับผิดชอบของพม่า ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มระหว่างสถาบันเพื่อสิทธิมนุษยชนและธุรกิจ กับสถาบันสิทธิมนุษยชนของเดนมาร์ก ได้เล่าบรรยากาศที่เกิดขึ้นในพม่าช่วงไม่กี่ปีมานี้ว่า

สถานการณ์การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกถือว่าน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทในการปิดปากไปทั่วประเทศ ซึ่งมีการฟ้องทั้งจากรัฐบาล กองทัพ ด้วยมาตรา 66(d) ในกฎหมายโทรคมนาคมฉบับปี 2556 ที่ระบุว่าผู้ใดกระทำการขู่เข็ญ, ข่มขู่, ยับยั้งชั่งใจ, ดูหมิ่น, รบกวน, ก่อให้เกิดอิทธิพลที่ไม่เหมาะสมหรือคุกคามจะมีความผิดถูกจำคุก 3 ปี และถูกใช้เอาผิดกับสื่อมวลชนอย่างหนักเพื่อปิดปากไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือกองทัพได้

“ตอนนี้มีกรณีสื่อมวลชนถูกจับกุมในคดีเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพแล้ว 32 คดี ส่วนใหญ่จากความผิดในมาตรา 66(d)” หวาย เพียว มินต์ กล่าว

ผู้เสวนาจากพม่ากล่าวอีกว่า ในพม่ายังมีการใช้กฎหมายที่ใกล้เคียงกับมาตรา 66(d) ในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ โดยมีกรณีสมาชิกสภาของพม่า ฟ้องร้องสื่อรวมถึงบุคคลทั่วไปที่ออกมาวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

“โดยพื้นฐาน ก่อนหน้านี้กฎหมายเหล่านี้ถูกตราขึ้นโดยมีบทลงโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี จนกระทั่งไม่นานมานี้ ประชาชนออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูป แม้รัฐบาลจะแก้ไข แต่บทบัญญัติสำคัญเกี่ยวกับการดูหมิ่นยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง”

หวาย เพียว มินต์ กล่าว

 

ขณะที่นายแมตธิว บูเกอร์ หัวหน้าโครงการประจำภูมิภาคเอเชียขององค์กรอาร์ติเคิล 19 กล่าวว่า จากที่ได้ฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทั้งพม่าและไทย ตนเคยไปประจำอยู่พม่าในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเมื่อปี 2009 จนผ่านมา 9 ปี การเปลี่ยนผ่านนี้กลับนำไปสู่การจับกุมนักข่าว การล้อมปราบเสรีภาพในการแสดงออก ยากที่จะเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง

เมื่อพูดถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว กัมพูชาถือเป็นอีกตัวอย่างของการลิดรอนเสรีภาพ มีทั้งผู้สื่อข่าวถูกจับกุม การปิดสถานีวิทยุไม่ว่าวอยซ์ ออฟ อเมริกา หรือเรดิโอ ฟรี เอเชีย

หรือการสูญเสียความเป็นอิสระของหนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ ซึ่งดูเหมือนว่าจะต้องรับคำสั่งจากรัฐบาล ด้วยข้อจำกัดที่ต้องเผชิญทำให้เราได้ข้อมูลมาน้อยมากว่าเกิดอะไรขึ้นในกัมพูชา

จากการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานชาวกัมพูชา ก็พบว่าต้องเผชิญกับปัญหาการเข้าถึงข้อมูลเหมือนกัน เหมือนกับถูกตัดขาด ทำให้ต้องหาทางเพื่อเข้าถึงข้อมูลอย่างโซเชียลมีเดียว่าทำไมถึงถูกตัดขาด

ไม่เพียงเท่านี้ ยังพบความคล้ายคลึงกันระหว่างพม่าและกัมพูชา ในเรื่องการใช้กฎหมายเพื่อปิดปากการใช้สิทธิเสรีภาพ โดยพุ่งเป้าไปยังนักเคลื่อนไหวและสื่อมวลชน

นายบูเกอร์กล่าวว่า สิ่งที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคนี้จนกระทบต่อเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

อย่างแรกคือ การเป็นต้นแบบ รูปแบบการปกครองแบบอำนาจนิยมของจีนในการกดทับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ได้ถูกยกให้เป็นต้นแบบและส่งอิทธิพลไปยังภูมิภาคนี้

อย่างที่สองคือ เศรษฐศาสตร์การทูตของจีน นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนเราทำงานร่วมกับนักการทูตเพื่อส่งเสียงเรียกร้องไปยังรัฐบาล แต่นโยบายทางการทูตได้เปลี่ยนแปลงอย่างมากโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

และอย่างที่สามที่น่ากลัวที่สุดคือ แรงกดดันทางตรงเพื่อปิดปากจากจีน เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงการที่จีนมีอิทธิพลต่อไทย ทำให้ผู้ลี้ภัยจากจีนถูกขู่เข็ญไม่ให้ออกมาแสดงความคิดเห็น

อย่างไรก็ตาม นายบูเกอร์กล่าวว่า แนวโน้มใหม่อย่างการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตอบโต้รัฐบาล ที่ทำให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ถูกรัฐบาลทำลายได้ แต่ทว่ากลับมีการใช้กลไกในการปราบปรามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์

ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายต่อต้านข่าวปลอมและมัลติมีเดียของมาเลเซีย กฎหมายโทรคมนาคมของพม่า พ.ร.บ.คอมพ์ของไทย

หรือล่าสุดคือ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ของเวียดนาม ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันทั้งในแนวคิดและการใช้

ทั้งนี้ แนวโน้มที่ต้องจับตาคือภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ให้บริการ เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก อาจเข้มงวดเรื่องสิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็น โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีนโยบายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพนอกจากระเบียบต่อชุมชนผู้ใช้งาน