ส่องเสรีภาพสื่อไทย และประเทศเพื่อนบ้าน เปิดกว้าง-ถดถอย?

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ / รายงาน


ตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงสิทธิเสรีภาพของประเทศๆ หนึ่งว่า เปิดหรือปิดนั้น นอกจากประชาชนที่สามารถใช้สิทธิแสดงออกได้อย่างเต็มที่ สังคมที่เปิดกว้าง แต่ยังมีการทำงานของสื่อมวลชนที่สามารถนำเสนอและรายงานข้อมูลข่าวสารตามหน้าที่ที่สิทธิเสรีภาพรองรับได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังคงมีหลายประเทศที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนรวมถึงสื่อมวลชน ทำให้การนำเสนอข้อมูลข่าวสารหรือการรับรู้เรื่องราว กลับทำได้จำกัดบนเงื่อนไขและข้ออ้างต่างๆ ไม่ว่ากฎหมาย ภาวะความไม่สงบ ความรู้สึกอ่อนไหว

หรือแม้แต่คำว่า “ข่าวปลอม”, “ความจริงทางเลือก” สิ่งเหล่านี้ ไม่เพียงกระทบต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

แต่ยังกระทบการรับรู้และความสามารถในการแสดงออกบนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกด้วย

 

ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ยูเนสโก สถานทูตสวีเดน และเครือข่ายสื่อมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือซีป้า ได้จัดงานเนื่องในวันเสรีภาพสื่อโลก (World Press Day)

นอกจากการเปิดรายงานสถานการณ์ของสื่อมวลชนทั่วโลกประจำปี 2018 ในงานนี้ ยังได้รับรู้มุมมองและประสบการณ์จากองค์กรและสื่อมวลชนทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้านว่า สิทธิเสรีภาพสื่อของแต่ละแห่งกำลังเผชิญกับอะไร?

นายยิ่งชีพ อัชชานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ กล่าวว่า ประเทศไทยภายใต้รัฐบาลทหาร คสช. ได้ออกคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดการเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำสั่ง คสช. ที่ 97/2557 ว่าด้วยการให้ความร่วมมือกับ คสช. ในการนำเสนอข่าวสารที่ไม่บิดเบือนและไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง

ซึ่งพุ่งเป้าเจาะจงไปยังสื่อกระแสหลัก รวมถึงการเพิ่มอำนาจให้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.

ทำให้จนถึงปัจจุบัน กสทช. ได้ดำเนินการเรียกสื่อเข้าพบและลงโทษสื่อไปแล้ว 52 ครั้ง จากการนำเสนอข่าวการเมือง

ซึ่งวอยซ์ทีวี ถูก กสทช. ทั้งเรียกพบและลงโทษตั้งแต่ปรับจนถึงระงับออกอากาศมากที่สุดถึง 19 ครั้ง

จากภาวะดังกล่าว ส่งผลทำให้ปีนี้เป็นครั้งแรกที่องค์กรสื่อของไทยทั้ง 3 องค์กร ร่วมรณรงค์เรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งที่จำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข่าว

นายยิ่งชีพกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้น มันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับไทย แต่ดูเหมือนเป็นเทรนด์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราอยู่ภายใต้รัฐบาล คสช. แต่พวกเขาก็เปลี่ยนรูปแบบใช้อำนาจเช่นกัน จากการใช้อำนาจเชิงกายภาพ ไม่ส่งทหารติดอาวุธไปคุมสถานี

แต่จะใช้กฎหมายไปจัดการ โดยบางครั้งออกโดย คสช. เอง หรือจาก สนช. หรือบางประเทศอย่างมาเลเซียที่ออกกฎหมายควบคุมข่าวปลอม ของไทยเองมีกฎหมายหลายฉบับผ่านโดย สนช.

จนถึงตอนนี้ มีกฎหมายและคำสั่งราว 500 ฉบับที่บังคับใช้ที่ไม่เพียงแค่ควบคุมสื่อ แต่ยังได้จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิมนุษยชนของประชาชน

 

ด้าน น.ส.วิเชยกา คานน์ ผู้สื่อข่าววอยซ์ ออฟ อเมริกา ประจำกัมพูชา กล่าวว่า สถานการณ์ของกัมพูชานั้น ล่าสุดมีหญิง 2 คนและชาย 1 คน ถูกจับเพียงเพราะโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ซึ่งตอนนี้รัฐบาลกัมพูชาได้ออกร่างกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

เช่น กฎหมายต้านอาชญากรรมไซเบอร์ กฎหมายข้อมูลข่าวสารหรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมถึงกฎหมายต่อต้านข่าวปลอม

แล้วรัฐบาลกัมพูชาใช้กฎหมายนี้จัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองโดยเฉพาะนักเคลื่อนไหวหรือผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน เช่น อดีตหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านหรือบางคนที่ใช้เฟซบุ๊กในการแสดงความคิดเห็นก็จะถูกดำเนินคดีซึ่งมีโทษจำคุกถึง 18 เดือน

“เราสามารถกล่าวได้ว่า รัฐบาลก่อนหน้านี้ไม่เคยทำอะไรอย่างนั้น แต่ตอนนี้พวกเขาเริ่มทำและทำอย่างต่อเนื่อง” น.ส.คานน์กล่าว

เมื่อถามถึงกัมพูชาใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เพิ่งบังคับใช้ไปจัดการกับใครหรือไม่นั้น น.ส.คานน์กล่าวว่า มีอยู่กรณีหนึ่ง เป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งได้พูดไว้นานแล้ว ก่อนที่กฎหมายหมิ่นฯ จะประกาศบังคับใช้ เราไม่รู้ว่ารัฐบาลใช้กฎหมายนั้นไปเอาผิดเขาได้ยังไง ในตอนนั้นเขาพูดผ่านโทรศัพท์ จากนั้นมีคนบันทึกเสียงเขาได้แล้วนำไปเผยแพร่ ต่อมาอัยการนำเสียงที่บันทึกไว้เป็นหลักฐานในการเอาผิด

ส่วนเรื่องแนวคิดการกำกับดูแลตนเองของสื่อนั้น น.ส.คานน์กล่าวว่า องค์กรเครือข่ายต่างๆ ในกัมพูชาได้มีการจัดประชุมหารือกันถึงมาตรการดังกล่าว ทำให้ได้ออกมาเป็นคู่มือปฏิบัติสำหรับนักข่าวและคู่มือการใช้อินเตอร์เน็ตสำหรับประชาชนทั่วไป ด้วยสถานการณ์ในกัมพูชาตอนนี้สำคัญมาก

สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นอยู่ในขั้นแย่ รัฐบาลจับกุมประชาชนมากขึ้น และเมื่อใช้อินเตอร์เน็ตมีมากขึ้น แต่ยังมีหลายคนไม่รู้วิธีการใช้งานอย่างปลอดภัย เราต้องรู้เรื่องสิทธิในการใช้อินเตอร์เน็ต พอไม่รู้ว่าต้องใช้อย่างปลอดภัย เราจึงโพสต์ข้อความอะไรก็ได้ เช่น วิจารณ์แบบรุนแรง ซึ่งเรารู้ว่ารัฐบาลไม่ชอบให้ใครมาวิจารณ์

ยิ่งเวลาที่รัฐบาลทำอะไรแย่ๆ ก็ไม่ชอบให้ใครพูดถึงมัน

ดังนั้น เมื่อใดที่เราโพสต์ข้อความ เราต้องรู้สิ่งที่ต้องโพสต์แล้วไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนหรือทำให้รัฐบาลขุ่นเคือง แต่เชื่อว่า หรือการแชร์โพสต์อะไร ต้องถามตัวเองว่ามันสำคัญแค่ไหน จะส่งผลกระทบกับคนอื่น

“ดิฉันมองว่าการกำกับดูแลตัวเองเป็นเรื่องดี เมื่อใดที่เรารู้จักดูแลตัวเอง ก็จะรู้ว่าทำยังไงให้ปลอดภัย แต่เมื่อใดรัฐบาลออกกฎหมายที่จะควบคุมหรือกำกับอินเตอร์เน็ต นั้นแปลว่าพวกเขาเข้มงวดกับเราแล้ว” น.ส.คานน์กล่าว

 

ขณะที่ น.ส.ญิน ญาดานา เทียน ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมสื่อเสรีของพม่า กล่าวว่า องค์กรเราในตอนนี้ได้ผลักดันให้ปฏิรูปกฎหมายที่ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในประเทศ ในพม่าเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นลดลง ส่วนเสรีภาพสื่อเราเองในการนำเสนอข่าวสารตอนนี้ก็ตกต่ำ แต่รัฐมนตรีสารสนเทศของพม่าพูดว่า สื่อมวลชนนั้นมีสิทธิ มีทั้งสื่อต่างชาติ

วันหนึ่งเรามีการสัมมนาเกี่ยวกับผลสำรวจสื่อทั่วประเทศ เราพูดถึงผู้สื่อข่าว บรรณาธิการ จากการเปิดเผยของนักข่าวแต่ละคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเสรีภาพสื่อลดลงเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ ไม่ได้เทียบกับมาตรฐานระหว่างประเทศแต่อย่างใด

น.ส.เทียนกล่าวว่า ส่วนเรื่องกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับสื่อ อย่างกฎหมายหมิ่นประมาท แม้จะถูกนานาชาติกดดันให้แก้ไข อย่างไรก็ตาม พวกเขากลับไม่ได้ถอนหลักพื้นฐานของการหมิ่นประมาท

หากประเมินแล้ว กฎหมายไม่ได้มุ่งปกป้องพลเมือง แต่ปกป้องรัฐบาลเอง จากข้อมูลและชื่อเสียง

และที่สุดแล้วเราพบว่า นอกจากใช้กฎหมายหมิ่นประมาทแล้ว พวกเขายังใช้กฎหมายหมิ่นประมาทบนโลกออนไลน์มาใช้เอาผิดด้วย และจากที่เราได้รู้ในส่วนของยิ่งชีพแล้ว ของพม่ามี 2 รัฐบาล คือ 1.รัฐบาลพลเรือน และ 2.กองทัพ โดยกองทัพจะใช้ทั้งกฎหมายหมิ่นประมาทบนออนไลน์และออฟไลน์ กฎหมายว่าข้อหายุยงปลุกปั่นในการฟ้องร้องนักข่าวและนักเคลื่อนไหว ส่วนใหญ่ใช้ในการจัดการเกี่ยวกับประเด็นการเมืองหรือรัฐบาล

“ข้อมูลข่าวสารและความจริงจากที่ต่างๆ คือเสียงที่เราต้องการอย่างมาก เราต้องการรู้เกี่ยวกับพวกเขามาก ซึ่งในประเด็นนี้ หากไม่มีการให้สื่อเข้าถึงพื้นที่ความขัดแย้ง ดังนั้น พวกข่าวปลอม ข่าวลือ หรือประทุษวาจาจะออกมา ดังนั้น รัฐบาลจึงมุ่งมั่นในการสอดส่องการใช้งานอินเตอร์เน็ตของประชาชน พวกเขาทุ่มเม็ดเงินในการสร้างกลไกเพื่อสอดส่องโลกออนไลน์ และยิ่งน่ากังวลกับโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก

ทั้งนี้ น.ส.เทียนได้กล่าวในตอนท้ายว่า เราไม่ต้องการให้รัฐบาลมากำกับควบคุม สอดส่องการไหลของข้อมูล สิ่งเหล่านั้นมันควรเป็นไปอย่างเสรี