ชะลอทูลเกล้าฯว่าที่อธิการ 10 มหา’ลัย ‘หมออุดม’แจงเหตุถูกร้อง-ฟ้องเพียบ

นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทราบว่า มีมหาวิทยาลัยประมาณ 10 กว่าแห่ง ที่สรรหาอธิการบดีแล้วแต่ไม่สามารถเสนอชื่อโปรดเกล้าฯ ได้เนื่องจากติดปัญหาถูกร้องเรียน หรือถูกฟ้องร้อง ทำให้บางแห่งต้องปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรักษาการค่อนข้างนาน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) อย่างไรก็ตามอำนาจในการแก้ไขปัญหานี้อยู่ที่สภามหาวิทยาลัย เพราะการนั่งในตำแหน่งรักษาการอธิการบดีนานเกินไป แม้ตามกฎหมายจะให้มีอำนาจเท่ากับอธิการบดี แต่ความจริงต้องยอมรับว่า การอนุมัติโครงการต่อเนื่องที่ใช้งบประมาณค่อนข้างมาก คนที่นั่งรักษาการจะไม่กล้าตัดสินใจ ทำให้เกิดความเสียหายต่อการพัฒนามหาวิทยาลัย

“ผมคิดว่าเรื่องนี้สภามหาวิทยาลัยต้องรู้เอง ถ้าคิดว่า มีปัญหามีข้อร้องเรียนมาก สภามหาวิทยาลัยจะต้องทบทวน ว่า ควรดำเนินการสรรหาใหม่หรือไม่ เพื่อไม่ให้มหาวิทยาลัยเสียโอกาส ส่วนตัวรัฐมนตรี ไม่มีอำนาจเข้าไปดำเนินการอะไร ทั้งนี้ในส่วนของมม.ผมไม่ขอแสดงความเห็น เป็นหน้าที่ที่มหาวิทยาลัยต้องไปทบทวน สภาฯ ต้องรักษาผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ ไม่ใช่ปล่อยให้เรื่องยืดเยื้อไปเรื่อยๆ เพราะจะทำให้มหาวิทยาลัยเสียโอกาส ล่าสุดทางมม.ได้ทำการสรรหานายกสภามม. คนใหม่ และมีมติเห็นชอบให้ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ อุปนายกสภามม. เป็นนายกสภามม. แทนนพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรีที่ลาออกจากตำแหน่งไปในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติ เพื่อเสนอรายชื่อเพื่อโปรดเกล้าฯ ต่อไป”นพ.อุดมกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 19 กุมภาพันธ์ เวลา 10.00ย.นายสุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มม. จะเดินทางมายื่นหนังสือถึงนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อทวงถามกรณีขอให้เพิกถอนมติสภา มม. ที่ให้การรับรองการแต่งตั้ง นพ.บรรจง มไหสวริยะ เป็นอธิการบดีมม.

นพ.อุดม กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษานั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.)ได้เสนอร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา ให้นพ.ธีระเกียรติ พิจารณาเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความเห็นชอบแล้ว เบื้องต้นคิดว่า ไม่น่ามีปัญหา เพราะกอปศ. เห็นชอบให้มีการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาแล้ว โดยหากครม.ให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ในการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา จะต้องปรับปรุงและจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับคือ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ร่างพ.ร.บ.บริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา และพ.ร.บ.การอุดมศึกษา ซึ่งได้เริมดำเนินการจัดทำไปมากแล้ว จากนั้นจะเร่งทำกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง เช่นร่างพ.ร.บ.บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งจะมาแทนพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา(ก.พ.อ.) พ.ศ.2547 ที่ยังไม่ได้ดำเนินการจัดทำให้มีความทันสมัย ยืดหยุ่น สอดคล้องกับทิศทางของกระทรวงการอุดมศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกที่ข้าราชการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ปัจจุบันสังกัดสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แต่อาจารย์สังกัดก.พ.อ.ขณะที่บุคลากรที่เป็นพนักงานสังกัดมหาวิทยาลัย ซึ่งตรงนี้ต้องไปคุย เพื่อไม่ให้ทั้ง 3 กลุ่มนี้เสียสิทธิ์ โดยต้องหารือกับทางก.พ.และสำนักงานคณะกรรมพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ด้วย โดยคาดว่าจะสามารถจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562นี้