ชงรีดแวตอี-บิสซิเนส 10% ขุนคลังบี้ต่างชาติตีทะเบียน

ขุนคลังแก้เกมกฎหมายภาษีอืด สั่งสรรพากรผ่าร่างภาษี “อีบิสซิเนส” แยกเป็น 3 ฉบับ เปิดรับความเห็นร่างกฎหมายไล่ต้อนผู้ให้บริการต่างชาติทุกแพลตฟอร์ม ที่มีรายได้ในไทยเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี จดทะเบียน ต้องจ่าย VAT 10% ชี้ถ้าไม่ปฏิบัติเจอทั้งเบี้ยปรับ-เงินเพิ่ม คดีอาญา อธิบดีสรรพากรการันตีกฎหมายคลอด ยักษ์ใหญ่ “กูเกิล” ต้องมาจดทะเบียน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี VAT จากการให้บริการในต่างประเทศ โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปแสดงความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. ถึงวันที่ 9 ก.พ.นี้

ดันเก็บภาษีอี-บิสซิเนส

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายใหม่อีกครั้ง กรมสรรพากรได้มีการแยกส่วนกฎหมายออกเป็นเรื่อง ๆ เพื่อให้สามารถผลักดันเรื่องที่สามารถทำได้ให้ออกมาก่อน ซึ่งร่างกฎหมายที่กำลังรับฟังความคิดเห็นอยู่นี้ เป็นแนวทางการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการให้บริการต่างประเทศ ส่วนเรื่องการจัดเก็บภาษีเงินได้ของธุรกิจอีบิสซิเนสจะแยกเป็นร่างแก้ไขกฎหมายอีกฉบับ

“ตอนนี้เราให้แยกส่วน อะไรที่ทำได้จะได้ออกไปก่อน เพราะไม่อย่างนั้นก็จะติดไปหมด เหมือนตอนแรกที่รวมทุกเรื่องเข้าด้วยกัน ซึ่งมีคนคอมเมนต์เข้ามาเยอะ ก็เลยแยกส่วน” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การกำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ขายสินค้าและบริการในประเทศไทย ต้องจดทะเบียนภาษี VAT กับกรมสรรพากรนั้น มั่นใจว่าสามารถปฏิบัติได้จริง ขอแค่ให้การแก้ไขกฎหมายนี้สามารถผ่านออกมาบังคับใช้ได้ ซึ่งทางกรมสรรพากรจะออกกฎหมายลูกมาบังคับใช้อีกที เมื่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเรื่อง การจัดเก็บภาษี VAT จากการให้บริการในต่างประเทศ มีผลบังคับใช้แล้ว

“ขอแค่ให้เรามีกฎหมายออกมา ผมยกตัวอย่าง กูเกิล ต้องมาจดทะเบียนแน่นอน เหมือนกับในหลายประเทศซึ่งมีกฎหมายนี้ เราทำแนวทางเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก เป็นสากล” นายประสงค์กล่าว

แยกร่าง กม.เป็น 3 ฉบับ

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวด้วยว่า ส่วนการจัดเก็บภาษีเงินได้จากนิติบุคคลต่างประเทศที่มีรายได้ในประเทศไทย ซึ่งได้รับจากค่าโฆษณาออนไลน์ ค่าใช้พื้นที่ในเว็บไซต์ โดยจะเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% นั้น จะแยกอยู่ในร่างแก้ไขกฎหมายอีกฉบับ เช่นเดียวกับเรื่องการจัดเก็บภาษี VAT จากการนำเข้าสินค้าที่นำเข้าผ่านทางไปรษณีย์ตั้งแต่บาทแรกของราคาสินค้า จากเดิมที่มีการยกเว้นกรณีสินค้ามีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ที่จะแยกเป็นร่างแก้ไขกฎหมายอีกฉบับ

“เราแยกแก้กฎหมายเป็น 3 ฉบับ แก้ 3 มาตรา เหตุที่เสนอเรื่องการเก็บ VAT จากการให้บริการในต่างประเทศก่อน ก็เพราะว่าขณะนี้โลกเขาทำเรื่องนี้กันออกมาแล้ว” อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว

บีบต่างชาติเสีย VAT 10%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมสรรพากรได้กำหนดหลักการสำคัญเรื่องการเก็บภาษี VAT จากการให้บริการในต่างประเทศไว้ว่า ผู้ประกอบการที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศ แก่ผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน VAT ในประเทศไทย ซึ่งบริการดังกล่าวหากผู้ให้บริการในต่างประเทศมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียน VAT ผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่มีรายรับเกินหลังจากผู้ให้บริการในต่างประเทศจดทะเบียน VAT แล้ว หากมีการให้บริการแก่ผู้รับบริการในประเทศไทย แต่ผู้รับบริการไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน VAT ทางผู้ให้บริการจะต้อง “เสียภาษี VAT” ในอัตรา 10% โดยจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี VAT ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร และนำเงินส่งกรมสรรพากรผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ไม่สามารถ “ขอคืน” ภาษีได้ ทั้งยังห้ามเรียกเก็บ VAT ดังกล่าวจากผู้รับบริการในประเทศไทยด้วย

บทลงโทษทั้งเบี้ยปรับ-อาญา

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายได้กำหนดว่า ผู้ให้บริการในต่างประเทศที่เข้าข่ายจะต้องทำรายงานภาษีขาย ส่งให้กรมสรรพากร และหากไม่ยอมจดทะเบียน VAT ไม่ยื่นแบบ ไม่นำส่งเงิน หรือนำส่งเงินไม่ครบถ้วน ผู้ให้บริการในต่างประเทศรายดังกล่าวจะต้องเสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และมีโทษทางอาญา เช่นเดียวกับผู้จดทะเบียน VAT ทั่วไป

กรณีผู้ประกอบการต่างประเทศให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการในประเทศไทยผ่าน “ดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ (ตัวกลางที่เป็นช่องทางทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น และออนไลน์มาร์เก็ตเพลส)” กรมสรรพากรกำหนดให้การให้บริการดังกล่าวเป็นฐานภาษี VAT ของดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ ซึ่งหากดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็ต้องยื่นคำขอจดทะเบียน VAT เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายยังกำหนดให้ภาษีซื้อ ที่เกิดจากรายจ่ายค่าบริการที่จ่ายให้ผู้ประกอบการหรือดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ถึงเกณฑ์ต้องจดทะเบียนภาษี VAT แต่ไม่ยอมจดทะเบียน ไม่ยื่นแบบฯไม่นำส่งเงิน หรือนำส่งเงินไม่ครบถ้วน เป็น “ภาษีซื้อต้องห้าม” และนิติบุคคลในประเทศไทยที่ไปทำธุรกรรมกับผู้ให้บริการต่างประเทศ ก็จะไม่สามารถนำไปนับเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้

ทั้งนี้ กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี VAT จากการให้บริการในต่างประเทศดังกล่าว มีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

ไม่กระทบธุรกิจดิจิทัล

นายศิวัตร เชาวรียวงษ์ อุปนายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวคิดการจัดเก็บภาษี e-Business ที่จะครอบคลุมถึงผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่าง กูเกิล เฟซบุ๊ก ไม่น่าจะมีผลกระทบกับการเติบโตของธุรกิจดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ เพราะเป็นทิศทางที่ไม่มีใครหยุดยั้งได้ และอัตราการเติบโตเพิ่มสูงมากจนเกินกว่าที่ปัจจัยด้านการจัดเก็บภาษีจะมากระทบให้การเติบโตลดลงได้

“แต่ที่สำคัญคือจะต้องยืนอยู่บนหลักการที่ว่า ผู้ได้รับเงินจะต้องเป็นผู้จ่ายภาษี ส่วนที่ว่าจะมีความเป็นไปได้แค่ไหนในการจัดเก็บเมื่อมีกฎหมายออกมาแล้ว คงไม่สามารถให้ความเห็นได้ ซึ่งตามปกติถ้าภาครัฐมีกฎหมายออกมา บริษัทขนาดใหญ่ก็ต้องทำตามอยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัว”

ทั้งนี้ สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของปี 2560 ที่เก็บข้อมูลจาก 22 มีเดียเอเยนซี่ชั้นนำของประเทศไทย โดยครึ่งปีแรกมีการใช้จ่ายงบฯโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลอยู่ที่ 6,086 ล้านบาท และคาดการณ์ ณ สิ้นปี 2560 น่าจะสูงถึง 12,000 ล้านบาท โดยแพลตฟอร์มหลักที่ยังคงครองแชมป์งบฯโฆษณาสูงสุด ได้แก่ เฟซบุ๊ก และยูทูบ