นโบาย “ทรัมป์” ป่วนการเมืองสหรัฐฯ ดึงประเทศเจอ “ชัตดาวน์”

ปรากฏการณ์ “กัฟเวิร์นเมนต์ชัตดาวน์” เกิดขึ้นอีกครั้งในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 1 ปีการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ “โดนัลด์ ทรัมป์”

เมื่อร่างงบประมาณชั่วคราวฉบับใหม่ ไม่ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา ขณะที่ประชาชนในหลายพื้นที่รวมตัวประท้วงไม่พอใจผลงานของรัฐบาล

รอยเตอร์สรายงานว่า การเมืองสหรัฐเกิดความผันผวนและมีความเสี่ยงมากขึ้นในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากวุฒิสภาไม่ผ่านร่างงบประมาณชั่วคราว ซึ่งการผ่านร่างกฎหมายต้องการคะแนนโหวต60 เสียง แต่ทรัมป์ได้รับคะแนนสนับสนุนเพียง 50 เสียงเท่านั้น หมายความว่า แม้ว่าพรรครีพับลิกันจะครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส แต่ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าเสียงสนับสนุนจากพรรคของประธานาธิบดีทรัมป์ลดลง

วุฒิสภาจากทั้งสองพรรคการเมืองหลัก “รีพับลิกันและเดโมแครต” เสียงแตกในประเด็นการจัดสรรงบประมาณ โดยทรัมป์ ยืนกรานว่าจะนำเงินไปสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก และเพิ่มงบให้กับกระทรวงกลาโหม

ขณะที่พรรคเดโมแครต ซึ่ง ส.ว.ส่วนใหญ่โหวตคัดค้าน ยืนยันว่าร่างงบประมาณดังกล่าวต้องครอบคลุมเรื่องการคุ้มครองผู้ลักลอบเข้าเมืองตั้งแต่ยังเด็ก หรือที่เรียกว่า “ดรีมเมอร์” ที่ปัจจุบันมีจำนวนถึง 800,000 คน ซึ่งโดยเป็นโครงการจากสมัย “บารัก โอบามา”

การแตกหักในครั้งนี้จึงนำไปสู่การชัตดาวน์ “หน่วยงานรัฐบาลกลาง” ทำให้หน่วยงานบางส่วนต้องปิดทำการอย่างไม่มีกำหนด ทั้งนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่รัฐมากถึง 850,000 คน

สำหรับเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญยังต้องปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ เช่น กองทัพ ระบบสาธารณสุข ธนาคารกลาง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หน่วยข่าวกรอง และหน่วยงานรักษากฎหมายทุกแห่งจะไม่ได้รับค่าตอบแทนตามระยะที่มีการชัตดาวน์

หลังจากเข้าสู่ภาวะกัฟเวิร์นเมนต์ชัตดาวน์ สิ่งแรกที่ทำเนียบขาวทำก็คือ การตำหนิพรรคเดโมแครตว่าเป็นความผิดของพรรคเดโมแครตที่ใช้เจ้าหน้าที่รัฐบาลเป็น “ตัวประกัน” โดยประณามว่า ให้ความสำคัญกับการเมืองมากกว่าความมั่นคงของประเทศ พร้อมย้ำว่ารัฐบาลจะไม่คุยเรื่องการปฏิรูปนโยบายคนเข้าเมืองจนกว่าเดโมแครตจะให้ความสำคัญกับอเมริกา

ขณะที่ “ชัค ชูเมอร์” วุฒิสมาชิกรัฐนิวยอร์กจากพรรคเดโมแครต ผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภา ซึ่งหลายสำนักข่าวรายงานว่า เป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกแยกในครั้งนี้ โดยชูเมอร์สวนกลับว่า “เป็นความผิดของทรัมป์ที่รับปากว่าจะเพิ่มเงื่อนไขเรื่องผู้อพยพในร่างงบประมาณฉบับนี้ แต่ไม่สามารถโน้มน้าวให้รีพับลิกันเห็นด้วยได้สำเร็จ สะท้อนถึงการทำงานอย่างไร้ระบบของรีพับลิกันอย่างสุดโต่ง”

นักวิเคราะห์จากบลูมเบิร์กระบุว่า การตำหนิกันไปมาเป็นการสะท้อนอย่างหนึ่งว่าระบบการเมืองของสหรัฐกำลังมีปัญหา ภาวะชัตดาวน์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ครั้งแรก ความเสียหายจากสุญญากาศที่เกิดขึ้นครั้งก่อนในสมัยบารัก โอบามา มีนัยสำคัญ

โดยสมัยโอบาม่า ลากยาวถึง 16 วัน ส่งผลให้ดัชนีการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐในไตรมาสสุดท้ายของปี 2013 ลดลง 0.2-0.6% และขณะที่ประเทศอยู่ในภาวะสุญญากาศ รัฐบาลทรัมป์ยังต้องเผชิญกับการชุมนุมประท้วงจากประชาชนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของทรัมป์ โดยเฉพาะจากกลุ่มสตรีชาวอเมริกันที่ออกมาเรียกร้องสิทธิสตรีทั่วประเทศ พร้อมประณามนโยบายการเอาเปรียบผู้หญิงอเมริกัน โดยใช้ชื่อว่า “Women”s March” ซึ่งการประท้วงครั้งนี้มีขึ้น

หลายแห่ง ทั้งในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี., นิวยอร์ก, เดนเวอร์ รัฐโคโลราโด, เมืองชาร์ลอตต์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา ทั้งยังทำท่าว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเมือง นอกจากนี้เริ่มมีการประท้วงและแสดงความไม่พอใจนโยบายรัฐบาล จากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชัตดาวน์ในครั้งนี้ด้วย

แม้ว่าในที่สุดรัฐบาลทรัมป์อาจจะก้าวผ่านภาวะกัฟเวิร์นเมนต์ชัตดาวน์ไปได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในวาระครบรอบ 1 ปีในการนั่งบริหารของทรัมป์ ทั้งความขัดแย้งในสภาและกระแสการประท้วงตอบโต้การทำงานของทรัมป์ สะท้อนให้เห็นถึงข้อบกพร่องหลายประการในการเป็นที่ยอมรับ

ทั้งนี้ ความไม่พอใจในการบริหารประเทศ อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาการถอดถอนตำแหน่งผู้นำได้ ทว่ากฎหมายสหรัฐก็เปิดทางให้ถอดถอนผู้นำได้ในกรณีความผิดฐานเป็นกบฏ การก่ออาชญากรรมร้ายแรง และการติดสินบน ซึ่งต้องไม่ลืมว่าทรัมป์ยังมีโจทก์เก่าในกรณีที่ให้รัสเซียเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งเพื่อชัยชนะ และยังไม่กระจ่าง

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์