แถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ต่อกรณี ป.ป.ช. มีอำนาจกว้างขวางเบ็ดเสร็จ แต่การตรวจสอบทำได้ยาก

รัฐธรรมนูญมาตรา 234 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 77 วรรคสาม, 87, 93 และมาตรา 119 ให้อำนาจป.ป.ช.ฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้เองหากไม่สามารถหาข้อยุติกับอัยการสูงสุดได้ ร่วมทั้งมีอำนาจเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยกรณีที่ป.ป.ช.เห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม

บทบัญญัติดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักการตรวจสอบถ่วงดุลในการดำเนิน  คดีอาญา ที่ผู้จับกุมไม่มีอำนาจสอบสวน ส่วนพนักงานสอบสวนจะไม่มีอำนาจสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาด้วยตัวเอง ต้องส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเป็นผู้พิจารณา อันเป็นมาตรการที่มีขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหา ไม่ให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หรือมีอำนาจตัดสินใจในกระบวนการที่ตนมีส่วนได้เสีย ซึ่งจะทำให้มีอคติและผู้ต้องหาจะไม่ได้รับความเป็นธรรม

กรณีล่าสุด ป.ป.ช.ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 77 วรรคสามของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นโจทก์ฟ้องอดีตนายกยิ่งลักษณ์ฯ กับพวกต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ  ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กล่าวหาว่าทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ในการจัดชื้อจัดจ้างการประชาสัมพันธ์โครงการรัฐบาล อันเป็นคดีที่คณะทำงานของอัยการสูงสุดมีความเห็นว่าไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะฟ้องได้ ซึ่งท้ายที่สุดศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้องตามที่เป็นข่าวไปแล้ว แต่กว่าจะยกฟ้องก็ทำให้จำเลยเสียเวลา เสียเงินว่าจ้างทนายความต่อสู้คดี (ส่วนป.ป.ช.ใช้เงินหลวง) และเสียสุขภาพจิตที่ตกเป็นจำเลยในคดีที่มีข้อไม่สมบูรณ์

ในขณะที่ป.ป.ช.มีอำนาจดำเนินคดีกับผู้อื่นได้อย่างกว้างขวางและเบ็ดเสร็จ แต่การตรวจสอบป.ป.ช.กับกระทำได้อย่างยากยิ่ง เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 236 ได้สร้างเกราะคุ้มกันไว้ให้ โดยหากจะกล่าวหาคณะกรรมการป.ป.ช.ผู้ใดกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 234 (1) จะต้องใช้ สส. หรือ สว. รวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าหรือ 125 คน เข้าชื่อร้องต่อประธานรัฐสภาให้เสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกา เพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระไต่สวนหาข้อเท็จจริง หากมีมูลก็ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัย หรือส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีตามมาตรา 237 (2) หรือ (3) ต่อไป การมีภูมิคุ้มกันอย่างแน่นหนาทำให้ป.ป.ช.ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจัดการกับฝ่ายตรงข้ามเสมอมา ดังนั้น หากประชาชนมีโอกาสร่างรัฐธรรมนูญก็ควรปรับปรุงการใช้อำนาจของป.ป.ช.ให้ถูกตรวจสอบและถ่วงดุลได้ด้วย จะได้ไม่เกิดการใช้อำนาจตามอำเภอใจ