“ไทยสร้างไทย” ให้ข้อมูล กมธ.ป.ป.ช.ระบุ กทม.ปล่อยป้ายโฆษณาเถื่อน เกลื่อน

“ไทยสร้างไทย” ให้ข้อมูล กมธ.ป.ป.ช.ระบุ กทม.ปล่อยป้ายโฆษณาเถื่อน เกลื่อนพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบการปล่อยเช่าช่วงป้ายต่อ อาจ ทำกทม.เสียหายถึง 2.8 หมื่นล้านบาท เตรียมลุยร้องศาลปกครองตรวจสอบต่อ 

นายนรุตม์ชัย บุนนาค นายศรัณยู คงสวัสดิ์เกียรติ นายศุข ศักดิ์ณรงค์เดช คณะทำงานด้านการติดตามการทุจริตกรุงเทพมหานคร พรรคไทยสร้างไทยในฐานะผู้ร้อง เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ข้อมูล กรณี ขอให้ตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการติดตั้งป้ายโฆษณา ในที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร และการทำสัญญาให้สิทธิ์ในการใช้สื่อประชาสัมพันธ์ ระหว่างกรุงเทพมหานครและเอกชน ซึ่งพบข้อมูลที่เชื่อได้ว่ากรุงเทพมหานคร อาจได้รับความเสียหายจากการทำสัญญา โดยเฉพาะการปล่อยให้เอกชนเช่าช่วงป้ายโฆษณาต่อ

นายนรุตม์ชัย ให้ข้อมูลต่อ กรรมาธิการว่า จากการตรวจสอบพบว่า มีป้ายลักษณะนี้อยู่กว่า 1,000 ป้ายทั่วพื้นที่ กทม. โดยกทม.ได้รับค่าเช่าป้ายโฆษณา 2,540 บาทต่อป้าย ต่อเดือน ขณะที่ เอกชน นำไปปล่อยเช่าช่วงในอัตราหลักแสนบาทต่อป้ายต่อเดือน เมื่อคำนวณระยะเวลา 10 ปี ในอัตราค่าเช่า 2 แสนบาท ต่อป้ายต่อเดือน จำนวนกว่า 1,000 ป้าย ระยะเวลา10 ปี อาจเกิดความเสียหายต่อกทม.สูงถึง 2.8 หมื่นล้านบาท แต่กทม.ได้รับค่าเช่าเพียง 356 ล้านบาท หรือราวปีละ 35.6 ล้านบาทเท่านั้น

จึงเป็นที่มาของการร้องคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบ ว่าฝ่ายบริหารของกรุงเทพมหานครและ สำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพฯ หรือ สจส. กทม.กระทำผิดต่อกฎหมายโดยเจตนาเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน นับตั้งแต่ปี 2555-ปัจจุบันหรือไม่ ขณะเดียวกันป้ายโฆษณาเหล่านี้ เป็นจำนวนมากที่ถูกติดตั้งแบบผิดกฎหมาย กีดขวางการสัญจรของพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะบนพื้นที่ทางเท้า และเกาะกลางถนน โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยความสะดวกสบายในการใช้ทางเท้าของพี่น้องประชาชน

หลังให้ข้อมูล คณะกรรมาธิการได้ซักถามผู้ถูกร้องในประเด็น การทำสัญญาของกรุงเทพมหานครที่อาจเสียเปรียบเอกชน โดยเฉพาะข้อเท็จจริงทราบว่า มีการปล่อยเช่าช่วง โดยกรุงเทพฯยอมรับว่า สัญญาในลักษณะให้สิทธิ์เอกชนนั้น สามารถเข้ามาซื้อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ บนพื้นที่ป้ายโฆษณาที่กทม.เป็นผู้ให้สิทธิ์ได้ โดยเลี่ยงที่จะตอบคำถามว่ามีการ ปล่อยให้เอกชนรายอื่นเข้ามาเช่าช่วงต่อ ซึ่งคณะกรรมาธิการป.ป.ช.มีความสงสัยในเรื่องนี้ เพราะอาจทำให้กรุงเทพมหานคร เกิดความเสียหาย

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการ ได้แนะนำให้ผู้ร้องจากพรรคไทยสร้างไทย นำเรื่องไปร้องต่อที่ศาลปกครอง ในคดีที่กรุงเทพฯอาจได้รับความเสียหาย หรือมีการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางราย และ ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าว โดยเฉพาะการปล่อยให้ มีการติดตั้งป้ายโฆษณาเถื่อน เป็นการละเมิดสิทธิ ของประชาชนในการใช้เส้นทางสัญจร หรือทางเท้าด้วยหรือไม่ ซึ่งพรรคไทยสร้างไทยจะดำเนินการตรวจสอบจนได้ข้อยุติต่อไป