วิวาทะ สส.ปทุมฯ ปลุกทวงคืนสนามกอล์ฟ ผบ.ทอ.โต้ทันควัน ทำตกงาน 2,000 คน

เป็นอีกหนึ่งประเด็นทางการเมืองที่กำลังถูกพูดถึง กรณี การอภิปรายของทีมส.ส.พรรคก้าวไกล ที่เสนอ ญัตติขอให้สภาฯตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการขอใช้ที่ดินราชพัสดุสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ในความครอบครองของกองทัพอากาศ เพื่อให้เป็นสวนสาธารณะในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ของนายเชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ

และญัตติขอให้สภาฯตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการย้ายสนามกอล์ฟกานตรัตน์ ออกมาพื้นที่แอร์ไซส์ สนามบินดอนเมือง เพื่อความปลอดภัยตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศของนายเอกราช อุดมอำนวย สส.กทม.พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ

 

ปทุมธานี-กรุงเทพโซนเหนือ ไม่มีพื้นที่สาธารณะ

โดยเนื้อหาสาระที่น่าสนใจเริ่มจาก นายเชตวัน สส.ปทุมธานี ที่พยายามเล่าเรื่อง ที่ดินราชพัสดุแยกปากทางลำลูกกา ที่ ถ.พหลโยธิน บรรจบกับ ถ.วิภาวดีรังสิต และ ถ.ลำลูกกาบริเวณนั้น มีเนื้อที่ราว 700 ไร่ ปัจจุบันกองทัพอากาศขอใช้ประโยชน์ 3 ส่วน

1.เป็นค่ายทหาร คือกรมทหารต่อสู้อากาศยานรักษาพระองค์
2.เป็นสนามกีฬากองทัพอากาศ
3.เป็นสนามกอล์ฟกองทัพอากาศ (ธูปะเตมีย์) ซึ่งในส่วนหลังนี้ พื้นที่มากสุดถึง 626 ไร่

โดยสนามกอล์ฟกองทัพอากาศ เกิดขึ้นในปี 2528 หลังจากมีการขยายรันเวย์สนามบินดอนเมือง จนทำให้ “สนามงู” หรือ “สนามกอล์ฟกานตรัตน์” ที่อยู่กลางสนามบิน มีจำนวนหลุมลดลง ในเวลาต่อมากองทัพอากาศจึงใช้ที่ดินที่ใช้ฝึกกระโดดร่มทางยุทธวิธี นำมาทำเป็นสนามกอล์ฟใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

นายเชตวัน เล่าว่า ปี 2528 ที่เกิดสนามกอล์ฟ(ธูปะเตมีย์) เข้าใจได้ว่าบริเวณนี้ไกลปืนเที่ยง เป็นทุ่งโล่ง ไม่ค่อยมีบ้านเรือนผู้คน แต่ปัจจุบัน 39 ปีผ่านไปแล้ว พื้นที่นี้เปลี่ยนไปอย่างมาก เป็นชุมชน เป็นหมู่บ้าน ผู้คนอาศัยกันอยู่อย่างหนาแน่น วันนี้ถ้าจะออกกำลังกาย คนในละแวกนี้มีพื้นที่ปลอดภัยออกกำลังกายน้อยมาก บ้างก็ไปวิ่งในซอยตัน บ้างก็วิ่งอยู่ริมบนนถนนลำลูกกาซอย 1 หลังสนามกอล์ฟกองทัพอากาศ ซึ่งมีรถราวิ่งขวักไขว่ บ้างต้องไปวิ่งบนฟุตบาทริมถนน

“ก็จริงอยู่ว่า สนามกีฬากองทัพอากาศนั้นเปิดให้คนทั่วไปเข้าใช้บริการ แต่สำหรับผมและคนที่อยากเห็นการเปลี่ยนสนามกอล์ฟแห่งนี้เป็นสวนสาธารณะ เรามองว่ามันคนละหน้าที่ คนละฟังก์ชัน เพราะสิ่งที่ประชาชนอยากได้ คือ พื้นที่สาธารณะ” นายเชตวัน ระบุ

และว่า  “พื้นที่สาธารณะ” ที่ประชาชนอยากได้ หมายถึงสวนสาธารณะที่มีสีเขียวของต้นไม้ใบหญ้าเป็นปอดของเมือง หรือหมายถึงศูนย์เรียนรู้ ไม่ว่าจะห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น หรือดนตรีในสวน นั่นก็ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมออกแบบของประชาชนในกรอบการบริหารจัดการของท้องถิ่น

 

เพื่อคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่แค่เพียงนายพล

ทั้งนี้ นายเชตวัน ได้กล่าว เสนอ 3 แนวทางความเป็นไปได้ เปลี่ยน “สนามกอล์ฟ” เป็น “สวนสาธารณะ” โดย ระบุว่า

(1) กองทัพอากาศเลิกทำสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ คืนที่กลับให้กับกรมธนารักษ์ จากนั้นให้หน่วยงานอื่นอย่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี มาขอใช้ที่ดินนี้ ทำสวนสาธารณะ ศูนย์เรียนรู้ ทำ Public Space

(2) กองทัพอากาศเลิกทำสนามกอล์ฟ แต่ยังอยากครอบครองที่นี้อยู่ ก็ทำหนังสือแสดงความเห็นชอบให้ อบจ. มาจัดการทำสวนสาธารณะให้

(3) กองทัพอากาศไม่คืนที่ให้กับราชพัสดุ ยังครองที่ไว้ดังเดิม แต่เปลี่ยนพื้นที่ของสนามกอล์ฟ ให้กลายมาเป็นสวนสาธารณะแทน

“ที่ดินหลวงผืนใหญ่ใจกลางเมือง ที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นนี้ ไม่ควรเป็น ‘สนามกอล์ฟ’ อีกต่อไป แต่ควรเอามาทำเป็นสวนสาธารณะ เอามาทำเป็นศูนย์เรียนรู้ เอามาทำเป็น Public Space ให้คนทุกเพศทุกวัยได้เข้ามาใช้ประโยชน์ ให้เป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่แค่เพียงนายพล หรือคนรวยที่มาตีกอล์ฟเพียงไม่กี่คน”

ตัวอย่างที่ทำสำเร็จมาแล้ว เช่นกรณีใกล้ๆ รัฐสภา ที่ดินซึ่งเคยเป็นโรงงานทอผ้า กรมอุตสาหกรรมทหาร กระทรวงกลาโหม เนื้อที่ 30 ไร่ 80 ตารางวา ก็มีการคืนให้ราชพัสดุ และต่อมาทางกรุงเทพมหานครก็นำมาทำเป็นสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติเกียกกาย

“แล้วทำไมกองทัพอากาศจะทำไม่ได้ ทำไม อบจ.ปทุมธานี จะดูแลไม่ได้” เชตวันมั่นใจว่าการที่ทั้ง 2 หน่วยงานเข้ามาดูแลสวนสาธารณะ ซึ่งจะกลายเป็น Public Space แห่งใหม่ที่สำคัญของคนปทุมธานีนั้น เป็นเรื่องที่ “มีความเป็นไปได้อย่างแน่นอน”

ทอ. ห่วงถ้าส่งคืนรบ.ทำคนตกงาน 2 พันคน

ขณะที่มีความเห็นอีกด้าน คือ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวถึง กรณีกรรมาธิการทหาร ขอลงพื้นที่ตรวจสอบสนามกอล์ฟกานตรัตน์ (สนามงู) และสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ซึ่งอยู่ในความดูแลของกองทัพอากาศ และมองว่าสิ่งที่เป็นสวัสดิการทหารต้องไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาล ว่า เรามีความเป็นห่วงทั้ง 2 พื้นที่

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี เผยว่า ในส่วนของสนามกอล์ฟกานตรัตน์ ได้รับการตรวจสอบ จาก องค์กรการบินระหว่างประเทศหรือ icao ว่าถ้ามีสนามกอล์ฟบริเวณนั้นจะต้องดำเนินการอย่างใดบ้าง ซึ่งก็มีข้อกำหนดต่างๆมา เราก็ทำทุกอย่างตามข้อปฏิบัติ และใครที่เข้าไปใช้บริการก็จะต้องมีการลงทะเบียน ยืนยันว่ามีการควบคุมได้ และ ยังไม่มีพื้นที่ส่วนไหนของสนามกอล์ฟไปกระทบรันเวย์ เพราะเราระมัดระวังที่สุด

ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่เกษียณอายุไปใช้ ออกกำลังกายเล่นกีฬาซึ่งเป็นกิจการภายใน แต่คนภายนอกก็เข้ามาใช้บริการได้ไม่ต่างจากสนามกอล์ฟอื่นๆ แต่สนามกอล์ฟกานตรัตน์จะมีข้อแตกต่างคนที่เข้ามาใช้บริการจะต้องลงทะเบียน ตามข้อกำหนดของ icao

“ยอมรับว่าเป็นห่วงในสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ เพราะถ้าต้องส่งคืนจะมีคนตกงาน 2,000 คน ก็ต้องหางานอื่นมารองรับ คนเหล่านี้” ผบ.ทอ. กล่าว