สื่อต่างชาติแห่จับตา การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของไทย

หลังปิดหีบ 17.00 น. เช็กผลเลือกตั้งแบบสดๆ กับเครือมติชน ได้ที่นี่ https://election.matichon.co.th/results
..

สื่อนอกจับตาเลือกตั้งไทย ชี้ฝ่ายค้านมีสิทธิครองเสียงข้างมาก

สำนักข่าวต่างประเทศจับตามองการเลือกตั้งทั่วไปของไทยที่มีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้อย่างใกล้ชิด ส่วนใหญ่มองไปในทิศทางเดียวกันว่า พรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลมีแนวโน้มจะครองเสียงข้างมาก แต่ก็ต้องดูกันว่าฝ่ายอนุรักษนิยมและทหารจะยอมรับหรือไม่

รอยเตอร์รายงานว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเผชิญหน้าระหว่างคู่ปรับเก่าในศึกครั้งใหม่ โดยฝ่ายค้านจะได้แต้มต่ออย่างมากในการเลือกตั้งที่มีขึ้น เชื่อว่าผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงราว 52 ล้านคน มีแนวโน้มที่พรรคฝ่ายค้านที่มีแนวทางก้าวหน้าจะชนะพรรคที่เป็นพันธมิตรกับบรรดานายพลและพรรคที่ชูแนวทางอนุรักษนิยม ซึ่งต้องการรักษาสถานะของการเป็นรัฐบาลที่นำหรือได้รับการสนับสนุนจากทหาร

รอยเตอร์ระบุด้วยว่า นักวิเคราะห์บางคนโต้แย้งว่าการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจในไทยเป็นมากกว่าการแข่งขันของกลุ่มชินวัตรที่ชูประชานิยมกับคู่แข่งที่มีอิทธิพล โดยยังมีสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นสู่รุ่น และความต้องการที่จะมีรัฐบาลหัวก้าวหน้ามากขึ้น ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลที่มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นผู้นำพรรค

รอยเตอร์อ้างความเห็นของ เบน เกียรติขวัญกุล หุ้นส่วนของมาเวอริค คอนเซาท์ติ้ง กรุ๊ป ที่ปรึกษาด้านกิจการของรัฐ ที่กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นการทดสอบระหว่างรากเหง้าของกลุ่มอนุรักษนิยมกับอนาคตของกลุ่มหัวก้าวหน้า มันเป็นประเด็นที่ใหญ่กว่าที่จะบอกว่าคนชอบหรือไม่ชอบทักษิณ เพราะขณะนี้ระบบเก่ากำลังเผชิญหน้ากับคลื่นเสรีนิยม

ด้านเอเอฟพีรายงานโดยตั้งคำถามว่า “คนไทยไปใช้สิทธิ แต่ทหารจะฟังหรือไม่” โดยพูดถึงการเลือกตั้งที่กำลังมีขึ้นซึ่งอาจเห็นพรรคฝ่ายค้านที่สนับสนุนประชาธิปไตยขับไล่รัฐบาลอนุรักษนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้การรณรงค์เลือกตั้งที่เป็นการปะทะระหว่างกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่โหยหาการเปลี่ยนแปลงกับกลุ่มอนุรักษนิยม

อย่างไรก็ดี เอเอฟพีระบุว่า ในไทยชัยชนะของการเลือกตั้งมักถูกบีบบังคับด้วยการรัฐประหารและคำสั่งศาล ทำให้มีความหวาดกลัวว่าทหารอาจหาทางยึดอำนาจและทำให้เกิดความไม่มั่นคงครั้งใหม่

ขณะที่ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าที่สูงถึง 90% ก็ชี้ให้เห็นว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่ฝ่ายค้านก็ยังต้องเผชิญกับการต่อสู้ที่ยากลำบากจากการที่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา 250 คน มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน

ความขัดแย้งอันขื่นขมของตระกูลชินวัตรกับสถาบันทหารและกลุ่มอนุรักษนิยมคือหัวใจของละครเรื่องนี้ หากการเลือกตั้งครั้งนี้มีผลลัพธ์ไม่ชัดเจนหรือมีข้อโต้แย้ง ก็อาจนำไปสู่การเดินขบวนรอบใหม่และความไม่แน่นอน ท่ามกลางข่าวลือที่แพร่สะพัดไปทั่วว่า พรรคก้าวไกลอาจถูกยุบโดยคำสั่งศาล เช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ก่อนหน้านี้

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า การเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังมีขึ้นของไทยถูกมองว่าเป็นโอกาสสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลง หลังจาก 8 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ก้าวขึ้นมาครองอำนาจ โดยขณะนี้เขากำลังต่อสู้กับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ที่ถือว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของทหาร

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ในสหรัฐ กล่าวว่า การลงคะแนนเสียงที่เพิ่มขึ้นของเยาวชนและการตระหนักรู้ถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปกครองโดยทหาร เป็นปัจจัยสำคัญที่น่าจะเป็นตัวตัดสินผลการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะ 9 ปีหลังการปกครองโดยทหาร ผู้คนก็พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง แม้แต่ในคนที่ไม่คนสนใจการเปลี่ยนแปลงมาก่อนก็ตาม

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายสนับสนุนกองทัพ กำลังหลังชนฝา การเปลี่ยนแปลงกำลังมา และพวกเขาจะต้องหาทางรับมือกับมัน

เช่นเดียวกับบีบีซีที่รายงานว่า ลูกสาวของนายทักษิณเป็นผู้นำในการเลือกตั้งทั่วไปที่ถูกมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับประเทศที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นนับ 10 ครั้งในประวัติศาสตร์ ซึ่งฐิตินันท์ยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงจริงๆ ไม่ได้เกี่ยวกับการมีรัฐประหารอีกครั้ง เพราะนั่นคือการเปลี่ยนแปลงแบบถอยหลังลงคลอง แต่มันหมายถึงการปฏิรูปกองทัพและสถาบันฯ เพื่ออนาคตของประชาธิปไตย และเพื่อให้เศรษฐกิจมีผลประกอบการที่ดีขึ้น