ชาติไทยพัฒนา เตรียมดันวงการกีฬา-สื่อสร้างสรรค์ เผยจุดยืน ความหลากหลายคือประชาธิปไตยที่สวยงาม

ชาติไทยพัฒนา เตรียมดันวงการกีฬา-สื่อสร้างสรรค์ เผยจุดยืน ความหลากหลายคือประชาธิปไตยที่สวยงาม

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 2 พฤษภาคม ที่ รอยัล พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้า สยามพารากอน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ มติชนxเดลินิวส์ ร่วมจัดดีเบตเป็นครั้งแรกในเวที “สงคราม 9 พรรค THE LAST WAR” โดยยกทัพพรรคการเมืองชั้นนำครั้งยิ่งใหญ่ ทั้งขุนพลเลือดใหม่ (Young blood) ขุนศึกตัวตึง-ตัวเก๋า และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชันนโยบายเพื่อนับถอยหลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

หลังจากแคมเปญ “มติชน : เลือกตั้ง 66 บทใหม่ประเทศไทย” เดินหน้าเปิดเวทีไฮไลต์ เริ่มจากเวทีแรก “ย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง” เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 ต่อด้วย เวทีที่ 2 “วิเคราะห์ เลือกตั้ง’66” ในวันที่ 20 มีนาคม 2566 เวทีที่ 3 “ฟังเสียง New gen บทใหม่ประเทศไทย” ในวันที่ 31 มีนาคม 2566 และเวทีที่ 4 “เวทีเสียงประชาชน : นโยบายที่ใช่-สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรทำ” ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง โดยครั้งนี้เดินทางมาถึงเวทีที่ 5 เวทีชี้ชะตา ที่ระดมบุคคลสำคัญจาก 9 พรรคการเมือง ทั้งขุนพล-ขุนศึก-แม่ทัพ มาประชันไม้เด็ดครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงโค้งสุดท้ายของสมรภูมิเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566

บรรยากาศเวลา 12.20 น. ผู้บริหารมติชน ผู้บริหารเดลินิวส์ และตัวแทน 9 พรรคการเมือง ร่วมเปิดเวที “สงคราม 9 พรรค THE LAST WAR”

จากนั้น เวลา 12.30 น. เข้าสู่รอบที่ 1 เวที “ Young blood วัดอนาคต” โดยเปิดโอกาสให้ตัวแทนคนหนุ่มสาวหน้าใหม่ ที่ลงสนามเลือกตั้งเป็นครั้งแรก แต่มีความรู้ความสามารถ ประชันนโยบายของพรรคในมุมมองที่สดใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงความหวัง และการทำงาน การเมืองเชิงสร้างสรรค์ ทิศทางใหม่ๆ เพื่อการขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคต

ต่อมา เวลา 13.35 น. เข้าสู่รอบ 2 เวที “ขุนศึก ประจัญบาน” โดยบุคคลสำคัญในแต่ละพรรคฯ ร่วมประชันประเด็นหลักที่พรรคใช้หาเสียง อธิบายเหตุผลในการเลือกใช้กลยุทธ์-นโยบายในช่วงโค้งสุดท้าย พร้อมดีเบตโต้แย้งกับตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งในประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

เวลา 15.05 น. เข้าสู่รอบที่ 3 เวที “แม่ทัพ วิสัยทัศน์และสัญญาประชาคม” โดยแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคขึ้นเวทีปล่อยของ เรียกคะแนนให้ได้มากที่สุด ว่าถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 จะทำอะไร อย่างไร ภายในระยะเวลาเท่าไหร่ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่บทใหม่ที่เข้มแข็งและยั่งยืน

ตอนหนึ่ง นายอาชวิทธิ์ เจิงกลิ่นจันทน์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 20 พรรคชาติไทยพัฒนา ตอบคำถาม ‘ถ้าได้เป็น ส.ส. อยากทำงานหรือผลักดันเรื่องอะไรเป็นพิเศษ รวมถึงนโยบายพรรคที่โดดเด่น และคิดว่าแคนดิเดตของพรรคคุณเหมาะที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปเพราะอะไร’

นายอาชวิทธิ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง มีโอกาสขึ้นเวทีกีฬาแค่ 1 ครั้ง วันนี้จะขอพูดแทนคนกีฬาสักครั้ง ถ้ามองคำว่ากีฬามันแค่สำหรับคนที่ลงเล่นหรือผู้ตัดสิน คำว่ากีฬาจะเล็กมาก แต่ถ้าเมื่อไหร่มองว่ากีฬา คือสุขภาพ คือการออกกำลังกาย คือสิ่งที่อยู่กับประชาชนทุกคน ถ้าเป็นไปได้ อยากทวงคืนการออกกำลังกายจากกระทรวงสาธารณะสุขมาดูแลเอง

“มิติด้านกีฬามีหลักพื้นฐาน 4 ด้าน คือกีฬาพื้นฐาน กีฬามวลชน กีฬาอาชีพ กีฬาเป็นเลิศ กีฬาพื้นฐานกับมวลชน อยู่ในการดูแลของกรมพละศึกษา กีฬาพื้นฐานต่างๆ เด็กควรได้ออกกำลังกาย ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบทักษะ

“สมัยเรียนผมเป็นเด็กอ้วนที่เรียนแล้วรู้สึกไม่ชอบวิชาพละ เพราะต้องสอบอะไรก็ไม่รู้ ต้องดูที่ทักษะ นั่นอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนออกห่างจากการออกกำลังกาย วันนี้ถ้าหลักสูตรมันเปลี่ยน อาจทำให้คนมีความสุขกับการออกกำลังกายรักษาสุขภาพได้ เป็นการเพิ่มศักยภาพให้คน” นายอาชวิทธิ์กล่าว

นายอาชวิทธิ์ อธิบายเพิ่มว่า เชื่อว่าคนไทยรักการออกกำลังกายมากขึ้น มีการส่งเสริมสุขภาพตัวเองมากขึ้น สิ่งที่ต้องการจากภาครัฐคือสนามกีฬา สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนที่อยากเล่นกีฬา อยากได้สนามกีฬาที่ทันสมัย ไม่ต้องดีที่สุด แค่ใช้ได้ บ้านเราบางครั้งถนัดการสร้างสนามแต่ไม่มีการดูแล นี่คือสิ่งที่อยากผลักดันให้เกิดขึ้น

“อีกส่วนคือกีฬาอาชีพ บางกีฬาพัฒนาไปแล้ว เงินเดือนนักกีฬาเป็นแสนเป็นล้าน แต่คนเบื้องหลังหรือแม้กระทั่งนักกีฬาเอง ที่ได้เงินเดือนเยอะๆ อันนั้นคือสัญญา คำถามคือจ่ายจริงหรือไม่ คือที่ภาครัฐต้องควบคุม ทุกสโมสร ทุกองค์กร มีสัญญาตกลงกับบุคลากร ต้องทำตามสัญญานั้นๆ

“อันสุดท้ายคือกีฬาเป็นเลิศ ในมุมหนึ่งของประเทศกัมพูชา พี่ๆ น้องๆ ที่เป็นตัวแทนกำลังไปทำหน้าที่ อย่าลืมคนเหล่านั้น ส่วนนี้สะท้อนสวัสดิการของรัฐ นักกีฬาคนหนึ่งที่ผลักดันตัวเองจนติดทีมชาติได้ รัฐควรดูแลเขา ไม่ต้องดูแลมาก แค่ให้เกียรติ ให้การเบิกจ่ายต่างๆ เวลาเขาฝึกซ้อม เวลาเก็บตัว” นายอาชวิทธิ์ ตอบ

นายอาชวิทธิ์ อีกส่วนที่มีโอกาสได้ฟังจากเวทีภาพยนตร์ พบว่าอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์ เหมือนคนวงการกีฬา เขาทำงาน เป็นคนสร้างสีสันให้ประเทศนี้ แต่มาตรฐานต่างๆ ในการดูแลกองถ่าย ดูแลประกันชีวิตสำหรับสตั๊นแมนยังแทบไม่มี สิ่งนี้เราเรียกร้องว่าควรทำ

“ถ้าชาติไทยพัฒนามีโอกาสได้เข้าไป เราตั้งใจจะผลักดัน แต่เราไม่รู้ว่าเราจะมีโอกาสได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ พี่ท็อป วราวุฒ ศิลปะอาชา เคยบอกว่า สโลแกนของพรรคเราคือรับฟังทำจริง เราฟังจากเสียงทุกคน นโยบายที่เราเขียน ไม่ใช่นโยบายที่ให้ชาติไทยพัฒนาเท่านั้น ไม่ว่าพรรคไหนก็ตามที่ได้เป็นรัฐบาลสามารถหยิบนโยบายเราไปใช้ได้ฟรี

“เราจะไม่ถือว่าเราเป็นคนคิด ทุกคนมีสิทธิใช้นโยบายเพื่อประชาชน เพราะพรรคเราต้องการให้ประชาชนเดินไปข้างหน้าประเทศไทยถึงเวลาให้คนเก่งออกมาดันประเทศ ผมเชื่อว่าในทุกวงการมีคนเก่งของตัวเอง ต้องให้โอกาสให้คนเก่งได้ขับเคลื่อน ภาครัฐจะต้องเป็นส่วนสนับสนุนเท่านั้น ไม่ใช่คนบงการและควบคุมทกอย่าง” นายอาชวิทธิ์ กล่าว

นายอาชวิทธิ์ ทิ้งท้ายว่า วันนี้เป็นจุดยืนหนึ่งที่บอกว่าพรรคชาติไทยพัฒนาเชื่อมั่นในคนเก่งของแต่ละวิชาชีพ และเราเชื่อมั่นความหลากหลาย

“ความหลากหลายคือความสวยงาม ประชาธิปไตยที่ไปทางเดียวกันทั้งหมด มันไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย ความสวยงามนี้คือความสวยงามของประชาธิปไตย ความหลากหลาย แตกต่าง ทำยังไงถึงจะฟังกัน สิ่งที่ต้องบอกคือ ประเทศเรามีคนพูดเยอะ แต่ขาดคนฟัง แล้วคนฟังเอาไปทำได้” นายอาชวิทธิ์ สรุป