เตรียมยุบสภาหนี ? ‘โรม’ ชี้ รัฐบาลมาแปลก ให้เวลาฝ่ายค้านเตรียมอภิปราย ม.152 มากเป็นพิเศษ มอง ส.ส. แห่ลาออก-ย้ายพรรค ละเลยหน้าที่ ไม่สน ปชช.

‘โรม’ ชี้ รัฐบาลมาแปลก ให้เวลาฝ่ายค้านเตรียมอภิปราย ม.152 มากเป็นพิเศษ หวั่นเตรียมยุบสภาหนีหรือไม่ มอง ส.ส. แห่ลาออก-ย้ายพรรค ละเลยหน้าที่ ไม่สนปัญหาประชาชน

วันที่ 17 มกราคม 2566 รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นกรณีมีกระแสข่าวยุบสภาก่อนการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ว่า ตนขอตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องแปลกที่การอภิปรายในครั้งนี้ รัฐบาลดูจะให้เวลาฝ่ายค้านได้เตรียมตัวมากเป็นพิเศษ ทั้งที่ในการอภิปรายที่ผ่านมา รัฐบาลจะพยายามทำให้ฝ่ายค้านมีเวลาเตรียมตัวน้อยที่สุด เพื่อที่การอภิปรายจะออกมาไม่มีคุณภาพมาก แต่รอบนี้กลายเป็นว่าฝ่ายค้านมีเวลาถึงเดือนกว่าในการเตรียมตัว ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลอาจจะไม่ได้กังวลกับการอภิปรายทั่วไปครั้งนี้เท่าไรนัก

รังสิมันต์กล่าวต่อว่า อาจมองได้ว่าเป็นเพราะรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เพิ่งเปิดตัวเข้าพรรคการเมืองใหม่ กำลังให้ความสนใจกับการสร้างตัวตนทางการเมือง จนไม่ได้สนใจปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องปากท้องของประชาชน ขณะเดียวกันงานในความรับผิดชอบหลายอย่างของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะงานตำรวจก็ทำได้เลวร้ายมาก เห็นได้จากการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับทุนจีนสีเทา แต่ พล.อ.ประยุทธ์ กลับดูจะไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ แต่กำลังให้ความสำคัญกับเรื่องเดียวเท่านั้น คือจะทำอย่างไรให้ตัวเองสืบทอดอำนาจ จึงไม่แปลกที่จะเกิดข่าวลือขึ้นหนาหูในช่วงนี้ ว่าจะเกิดการยุบสภาเพื่อหนีการซักฟอกของฝ่ายค้านหรือไม่ ซี่งหากรัฐบาลเลือกที่จะยุบสภาเพื่อหนีการซักฟอกของฝ่ายค้าน ก็แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยอมรับโดยปริยายว่าข้อกล่าวหาต่างๆ นั้นเป็นเรื่องจริง

“อยากฝากไปถึงรัฐบาล ว่าหากมั่นใจว่าไม่เกี่ยวกับการทุจริตและการบริหารประเทศที่ทำให้เกิดความเสียหาย รัฐบาลไม่มีความจำเป็นต้องกลัวการซักฟอกถ้าไม่ได้ทำตามที่ถูกกล่าวหา และควรจะใช้เวทีสภาในการอธิบายตัวเองกับประชาชนด้วย ยิ่งเป็นการอภิปรายที่ไม่มีการลงมติ สุดท้ายประชาชนจะเป็นคนลงมติเอง ก็ได้แต่หวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะมีความกล้าหาญที่จะเผชิญหน้ากับพวกเรา” รังสิมันต์กล่าว

รังสิมันต์ยังกล่าวถึงกรณีการทยอยลาออกของ ส.ส. จำนวนมาก ก่อนวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันครบกำหนด 90 วันที่ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง ในกรณีที่ไม่มีการยุบสภาเกิดขึ้น และจะมีการเลือกตั้งภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ว่าเป็นเรื่องประหลาดที่นักการเมืองทั้งหลายซึ่งดิ้นรนอยากเข้าสภา กลับพากันละเลยที่จะทำหน้าที่ของตัวเองในช่วงเวลานี้ ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยปัญหา แทนที่ ส.ส. จะช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชน พิจารณากฎหมายสำคัญ เช่น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กลับพากันลาออกไม่อยากทำหน้าที่ สนใจแต่ว่าตัวเองจะไปอยู่พรรคไหนในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งถ้าจะทำการเมืองแบบนี้ก็ไม่ควรมาเป็นนักการเมือง ทั้งนี้ ต้องขอให้ประชาชนช่วยกันจับตาและจำคนแบบนี้ไว้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย

รังสิมันต์ระบุว่า แม้จะมีการลาออกไปมากจนจำนวน ส.ส. ที่มีอยู่ในสภาลดลง แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าอภิปรายทั่วไป เพราะอาศัยองค์ประชุมเพียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่กังวลเป็นพิเศษ คือตนไม่อยากให้รัฐบาลเล่นเกมเพื่อทำให้องค์ประชุมมีปัญหาระหว่างการอภิปราย

“สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นคือการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านในการตรวจสอบ และการทำหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลในการตอบคำถามอย่างเต็มที่ ถ้าทำหน้าที่กันด้วยดีประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเองในท้ายที่สุด ขอให้ต่างฝ่ายต่างใช้โอกาสนี้เป็นโอกาสสุดท้ายในการได้ทำหน้าที่เพื่อประชาชนอย่างเต็มที่ ให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่สุดก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึงในเร็ววันนี้” รังสิมันต์กล่าว