สหรัฐฯเปิดเอกสารลับคดีลอบสังหาร จอห์น เอฟ.เคนเนดี้ ชุดใหม่นับหมื่นหน้า

รัฐบาลสหรัฐฯ ไฟเขียว หอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ เปิดเผยเอกลับมากกว่า 10,000 หน้า เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ.เคนเนดี้ เมื่อ 60 ปีก่อน

สำนักข่าว บีบีซี รายงาน ว่า ทำเนียบขาวยืนยันผ่านแถลงการณ์ว่า การไฟเขียวเผยแพร่เอกสารลับคดีลอบสังหาร JFK ครั้งแรกนี้คิดเป็นกว่า 97% ของทั้งหมดที่มีอยู่ในเวลานี้ ทั้งนี้ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอห์น เอฟ เคนเนดี หรือ JFK ถูกยิงด้วยปืนไรเฟิลระหว่างอยู่ในขบวนรถประธานาธิบดีสหรัฐฯ แบบเปิดประทุนซึ่งมีสุภาพสตรีหมายเลข 1 แจ็กเกอลีน เคนเนดี นั่งไปด้วย

โดยผู้ที่ก่อเหตุลอบสังหารคือ ลี ฮาร์วีย์ ออสวาลด์ (Lee Harvey Oswald) ซึ่งเป็นอดีตทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 35 ของประเทศถึงแก่อสัญกรรม 30 นาทีหลังเกิดเหตุโดยมีการประกาศการเสียชีวิต JFK ที่โรงพยาบาลปาร์ก เมโมเรียล (Parkland Memorial Hospital) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่เกิดเหตุ ผลจากการถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 22 พ.ย.ปี 1963 ทำให้ JFK กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 4 ที่เสียชีวิตจากการลอบสังหาร

บีบีซีรายงานว่า การเปิดเผยครั้งแรกสำหรับไฟล์เอกสารJFK นั้นคาดว่าจะมีมากถึง 13,173 ไฟล์ผ่านทางออนไลน์ และเป็นเอกสารที่เปิดเผยโดยไม่มีการเซ็นเซอร์ ซึ่งกฎหมายปี 1992 กำหนดให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเผยแพร่เอกสารทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารภายในตุลาคม ปี 2017 ทั้งนี้ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ออกคำสั่งตามอำนาจทางบริหารอนุญาตให้มีการเปิดเผยล่าสุดได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไบเดนยืนกรานว่า จะยังคงต้องเก็บบางส่วนไว้เป็นความลับต่อไปจนกระทั่งมิถุนายนปี 2023 เพื่อปกป้องต่ออันตรายที่สามารถชี้เฉพาะได้

ขณะที่ สำนักหอจดหมายเหตุและบันทึกแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (The U.S.National Archives and Records Administration – NARA) แถลงว่าเอกสารจำนวน 515 ชิ้นจะยังถูกเก็บรักษาในชั้นความลับต่อไป และอีกจำนวน 2,545 ชิ้นจะถูกเปิดเผยบางส่วน

ตามการสอบสวนปี 1964 ของสหรัฐฯ พบว่า ออสวาลด์ซึ่งเป็นอดีตทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่เป็นคนลั่นไกปืนไรเฟิลนั้นเคยอาศัยอยู่ในอดีตสหภาพโซเวียตมาก่อน และเขาลงมือก่อเหตุตามลำพัง และพบว่าเขาถูกสังหารที่ชั้นใต้ดินของสำนักงานใหญ่ตำรวจดัลลัส 2 วันหลังจากที่เขาถูกจับ

อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของ JFK ทำให้เกิดทฤษฎีสมคบคิดมากมาย สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ CIA แถลงยืนยันว่า ทางสำนักงานไม่เคยเกี่ยวข้องกับออสวาลด์ และไม่เคยปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับมือยิง JFK จากเจ้าหน้าที่สอบสวนสหรัฐฯ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา นักวิชาการและผู้ที่สนใจในคดีลอบสังหารปรารถนาอย่างแรงกล้ามาอย่างยาวนานว่าการเปิดเผยเอกสารลับเหล่านี้จะช่วยไขความลับเกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวของออสวาลด์ในกรุงเม็กซิโก ซึ่งเป็นสถานที่เขาพบเจ้าหน้าที่สายลับ KGB ของอดีตสหภาพโซเวียต เมื่อตุลาคมปี 1963

โดยในแถลงการณ์ของ CIA กล่าวว่า ข้อมูลทั้งหมดที่ทางสำนักงานมีอยู่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของออสวาลด์ในเม็กซิโกได้เคยเผยแพร่สู่สาธารณะก่อนหน้า พร้อมกับเสริมว่า “ไม่มีข้อมูลใหม่ในคดีนี้สำหรับการเปิดเผยปี 2022”

แต่ทว่านักวิจัยประจำสถาบันแมรี เฟอร์เรลล์ ฟาวเดชัน (Mary Ferrell Foundation) ซึ่งเป็นผู้ที่ยื่นฟ้องทางกฎหมายต่อรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อให้เปิดเผยเอกสารลับ JFK กลับยืนยันว่า CIA ยังคงปิดบังเกี่ยวกับ “เวลา” ของออสวาลด์ในเม็กซิโก เอกสารความลับของ CIA บางส่วนในคดีลอบสังหารไม่เคยถูกส่งมอบให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ NARA และจึงไม่อยู่ในชุดเอกสารที่ทำเนียบขาวสั่งเปิดเผย

บีบีซีรายงานว่า สำหรับเอกสารที่เพิ่งเปิดเผยแสดงให้รู้ว่าประธานาธิบดีเม็กซิโกช่วยเหลือสหรัฐฯ ในการติดตั้งเครื่องดักฟังภายในสถานทูตอดีตสหภาพโซเวียตในเม็กซิโกโดยที่เจ้าหน้าที่เม็กซิโกคนอื่นๆ ภายในรัฐบาลไม่มีส่วนรู้เห็น ซึ่งข้อมูลนี้เคยถูกเซ็นเซอร์ภายในเอกสารที่เปิดเผยออกมาก่อนหน้า CBS News สื่อสหรัฐฯ ชี้

เอกสารที่ปล่อยออกมาจำนวนมากพอสมควรเกี่ยวข้องกับออสวอลด์ การเดินทางไปต่างประเทศของเขา และการติดต่อก่อนการลอบสังหารเคนเนดีนานหลายสัปดาห์จนถึงหลายปี เขาเคยแปรพักตร์ไปหาสหภาพโซเวียตในปี 1959 แต่กลับมาสหรัฐในปี 1962

เอกสารชิ้นหนึ่งจากปี 1990 เล่าถึงปากคำของอดีตเจ้าหน้าที่เคจีบีรายหนึ่ง กล่าวว่า หลังแปรพักตร์ออสวอลด์ถูกเคจีบีเรียกตัวไป แต่เคจีบีมองว่าออสวอลด์ “เพี้ยนๆ และคาดการณ์ไม่ได้

หลังกลับสหรัฐเพราะซึมเศร้าคิดถึงบ้านเคจีบีไม่ได้ติดต่อออสวอลด์อีก และเคจีบี “ไม่เคยมอบหมายให้เขาสังหารประธานาธิบดีเคนเนดี”

เอกสารอีกชิ้นจากปี 1991 อ้างแหล่งข่าวเคจีบีอีกคน กล่าวว่า ออสวอลด์ไม่เคยเป็นสายลับเคจีบี แม้องค์กรจับตาเขาอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่องขณะอยู่ในสหภาพโซเวียต

หนังสือหลายเล่ม และภาพยนตร์อย่าง JFK ผลงานปี 1991 ของผู้กำกับโอลิเวอร์ สโตน ยิ่งโหมกระพือแวดวงทฤษฎีสมคบคิด โดยชี้นิ้วไปที่สหภาพโซเวียตและคิวบา คู่อริยุคสงครามเย็น, มาเฟีย หรือแม้กระทั่งรองประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน

การปล่อยเอกสารระลอกล่าสุดเป็นไปตามกฎหมาย 26 ต.ค.1992 ที่สภาคองเกรสกำหนดให้บันทึกข้อมูลดิบการลอบสังหารที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเก็บไว้ต้องเผยแพร่เมื่อครบ 25 ปีเต็ม

ในคำสั่งของไบเดน ที่ไฟเขียวให้เปิดเผยต่อสาธารณะ เขากล่าวว่า เป็นความพยายามการตรวจสอบเอกสารลับเกือบ 16,000 ชิ้นที่ได้มีการเคยเปิดเผยก่อนหน้าแต่ถูกเซ็นเซอร์และปกปิดโดยมีการคาดว่ากว่า 70% ของเอกสารเหล่านี้สามารถได้รับการเปิดเผยอย่างทั้งหมดต่อสาธารณะได้แล้ว

โดยในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีในขณะนั้นได้ มีคำสั่งให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ เปิดเผยเอกสารเกี่ยวกับคดีลอบสังหารประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี ที่ยังไม่เคยเปิดเผยกว่า 2,800 หน้า จากนั้นได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้น เมื่อทรัมป์ ตัดสินใจไม่เปิดเผยข้อมูลลับเกี่ยวกับคดีดังกล่าวอีกกว่า 300 หน้าในวินาทีสุดท้าย เพราะซีไอเอ และสำนักงานสอบสวนกลาง หรือเอฟบีไอ ขอให้มีการเก็บข้อมูลบางส่วนต่อไป เนื่องจากมีข้อกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ต่อมาในยุคของประธานาธิบดีไบเดน เมื่อ ตุลาคมปีที่แล้วได้มีคำสั่งให้ หอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐเปิดเผยเอกสารลับในคดีดังกล่าวจำนวน 1,491 หน้า แต่ยังคงเลื่อนการเปิดเผยเอกสารบางส่วนของคดีดังกล่าว โดยสำนักงานบริหารของไบเดน ระบุว่า ที่ต้องมีการเลื่อนกำหนดการเปิดเผยเอกสารลับบางส่วนออกไป เนื่องจากมีข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ปฏิบัติการสืบข่าวกรอง การบังคับใช้กฎหมาย หรือปฏิบัติการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ