บทวิเคราะห์ชี้ รัสเซียส่งมิสไซล์-โดรนถล่มหลายเมืองในยูเครน เป็นเรื่อง “การเมือง” ไม่ใช่ “ยุทธวิธี”

นักวิเคราะห์ชี้ รัสเซียส่งมิสไซล์-โดรนถล่มหลายเมืองในยูเครน เป็นเรื่อง “การเมือง” ไม่ใช่ “ยุทธวิธี” เหตุรัฐบาลเครมลินเสียเครดิตหลังสะพานเคิร์ชระเบิด หลังประกาศมั่นเป็นสะพานที่ไม่มีใครทำลายได้ มุ่งเป้า ขู่ฝ่ายถูกรุกรานให้กลัวพร้อมปิดปากเสียงวิจารณ์ฝ่ายชาตินิยมสุดโต่ง

 

เดอะการเดียนของอังกฤษ ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ของ แดน แซบบาร์ค บรรณาธิการข่าวความมั่นคงของเดอะการ์เดียน มองเหตุรัสเซียส่งมิสไซล์และโดรนพลีชีพหลายลูกเข้าโจมตีหลายเมืองสำคัญรวมถึงกรุงเคียฟของยูเครนในช่วงเวลาเร่งด่วนยามเช้าวานนี้นั้น เป็นการตอบโต้จากรัฐบาลรัสเซียเพื่อเอาคืนจากเหตุการระเบิดถล่มสะพานช่องแคบเคิร์ชที่เชื่อมแผ่นดินใหญ่รัสเซียกับไครเมีย ซึ่งเป็นเส้นเลือดสำคัญในการขนส่งและการส่งกำลังบำรุงทางทหารของรัสเซียไปยังไครเมียที่รัสเซียส่งกองทัพเข้ายึดครองแผ่นดินยูเครนแบบไม่ทันตั้งตัวในปี 2014

แดนวิเคราะห์ว่า เหยื่อเหตุโจมตีล่าสุดในยูเครนส่วนใหญ่เป็นพลเรือน นับเป็นการโจมตีครั้งแรกในรอบหลายเดือน ถล่มใส่อาคารบ้านเรือน ถนน สวนสาธารณะและสนามเด็กเล่น แม้แต่โรงงานไฟฟ้าในเมืองลวิฟและคาร์คิฟ ก็ตกเป็นเป้าการโจมตีด้วย

แม้ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียผู้ก่อสงครามครั้งนี้ จะกล่าวอย่างเย็นชาวานนี้ว่า การโจมตีครั้งใหญ่ได้ดำเนินการด้วยอาวุธระยะไกลที่มีความแม่นยำสูงทั้งทางอากาศ ทะเล และทางบก ไปยังโรงงานไฟฟ้า กองบัญชาการทหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารของยูเครน แต่กระนั้น การโจมตีนี้โดยเน้นเป้าหมายอย่่างเคียฟและหลายเมืองนั้น เห็นได้ว่าเป็นเรื่องการเมืองอย่างชัดเจน และต้องอย่าลืมว่า การกำหนดเป้าหมายที่เป็นพลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่อนั้น จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 11 ราย ก็ถือเป็นอาชญากรรมสงครามแล้ว

แดนมองวา เป้าหมายการโจมตีถล่มหลายเมืองในยูเครน คือการสร้างความกลัวไปยังประธานาธิบดียูเครนและประชาชนยูเครน โดยหวังว่าในที่สุด รัฐบาลยูเครนจะรู้สึกว่าถูกบังคับให้ต้องเจรจา ในขณะที่รัสเซียยังคงครอบครองดินแดน 15% ของยูเครนอยู่

ยูเครนมีความกังวลอย่างปฏิเสธไม่ได้เมื่อวานนี้ และประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีของยูเครน ก็ใช้ข้อเท็จจริงของการโจมตีดังกล่าวเพื่อกดดันให้มีการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกที่หนักยิ่งขึ้นและขอระบบป้องกันขีปนาวุธในการประชุม G7 ออนไลน์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง

คำถามก็คือการโจมตีใส่เมืองจะยังมีต่อหรือไม่ เพราะเมื่อต้นเดือนกันยายน คาร์คิฟตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีด้วยขีปนาวุธครั้งใหญ่ หลังจากกองทัพยูเครนประสบความสำเร็จในสนามรบด้วยการบุกสายฟ้าแลบกอบกู้พื้นที่และขับไล่กองทัพรัสเซียให้ล่าถอยแทบไม่ทัน อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของการโจมตีในเวลาต่อมาก็สงบลง และไม่มีผลกระทบสำคัญใดๆ ในสนามรบ ซึ่งรัสเซียยังคงสูญเสียพื้นที่ทางตอนเหนือของแนวรบต่อไป จนมาเสียเมืองลีมาน ในอีกสองสามวันที่ผ่านมา

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ารัสเซียสามารถรักษาระดับความรุนแรงของการโจมตีด้วยขีปนาวุธได้นานแค่ไหน โดยพิจารณาจากจำนวนกระสุนที่ใช้ในสงครามจนถึงตอนนี้ และการประณามทางการเมืองในระดับสากลจากการโจมตีนี้จะมีมากเพียงใด

แดนชี้ว่า เมื่อมองสภาพความเป็นจริงทางทหารแล้ว การโจมตีด้วยมิสไซล์ของรัสเซียไม่ได้ช่วยเปลี่ยนดุลอำนาจในสนามรบ หรือต่อให้สร้างความกลัวก็แค่ระยะสั้น แต่กลับทำให้ยูเครนยิ่งปรารถนาจะต่อต้าน

การโจมตีถล่มหลายเมืองยูเครน ยังตอบสนองข้อที่ 2 คือ การปิดปากเสียงวิจารณ์จากกลุ่มชาตินิยมรัสเซียสุดโต่งที่มองว่ารัฐบาลรัสเซียไร้น้ำยาในการรุกรานยูเครน

ทั้งนี้ แดนระบุว่่า ไม่สงสัยเลยว่า ล่าสุดรัฐบาลรัสเซียพยายามดึงเบลารุสเข้าใกล้สู่สงคราม โดยทั้งสองประเทศสัญญาว่าจะส่งกองกำลังเฉพาะกิจทางทหารร่วม แต่กองทัพของเบลารุสมีขนาดเล็ก มีเพียงทหารที่เข้มแข็งเพียง 11,700 นาย รวมกับกองกำลังพิเศษ 6,150 นาย (กองกำลังส่วนใหญ่เป็นทหารอาสาสมัครเพื่อปราบปรามการต่อต้านภายใน) นี่อาจหมายความว่าเหตุการณ์ที่น่าสยดสยองเมื่อวานนี้มีความสำคัญน้อยกว่าที่มันอาจปรากฏในระยะยาว แต่ปัญหาคือ การตัดสินใจของปูตินยิ่งเลวร้ายลง เมื่อกองกำลังรัสเซียสูญเสียพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลรัสเซียรู้ดีว่าจำเป็นต้องยกระดับและได้พยายามหาตัวนักโทษและเกณฑ์ทหารแล้ว แต่ไม่ได้ผลในทันที ตอนนี้จึงได้หันไปใช้วิธียิงถล่มล้างผลาญเมืองและอาจทำแบบนี้อีก