‘สุวดี-นาดา’ ขอรัฐจริงจัง ให้บริการทำแท้งปลอดภัยทุกจังหวัด

สุวดี-นาดา ไทยสร้างไทย ขอรัฐจริงจังให้บริการทำแท้งปลอดภัยทุกจังหวัด เคารพสิทธิมนุษยชน ลดเจ็บ-ตายจากทำแท้งเถื่อน ในโอกาสวันยุติครรภ์ปลอดภัยสากล

วันที่ 28 กันยายน 2565 นาดา ไชยจิตต์หัวหน้าคณะทำงานสิทธิมนุษยชนและความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า “วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็นวันยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัยสากล (Safe Abortion Day) เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ร่วมผลักดันนโยบายการทำแท้งที่ปลอดภัยอาทิ เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กลุ่มทำทาง และ สมาคมพัฒนาเครือข่ายอาสา RSA ได้ร่วมจัดงาน Bangkok Abortion เมื่อวันที่ 26 ที่ผ่านมาเผื่อตอกย้ำว่ารัฐต้องให้ความสำคัญต่อการสิทธิในการกำหนดเจตจำนงในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงและบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศโดยพรรคไทยสร้างไทยได้เข้าร่วมรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากผู้จัดงาน”

นาดา กล่าวว่า “เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2564 ประเทศไทยได้แก้ไขกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ในอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สำหรับบุคคลที่ตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์เกินกว่านั้น กฎหมายยังคงกำหนดให้การทำแท้งเป็นความผิดอยู่แต่ก็ลดโทษลง เหลือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท นอกจากนี้ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 305 เพิ่มเติมเงื่อนไขจากเดิมที่อนุญาตเฉพาะแค่กรณีหญิงมีครรภ์มีปัญหาสุขภาพ หรือ ถูกข่มขืน ให้ผู้หญิงตัดสินใจทำแท้งได้ในกรณีตัวอ่อนในครรภ์พิการ และกรณีถูกข่มขืนโดยไม่ต้องมีใบแจ้งความ ข้อมูลจากรายงานการเฝ้าระวังการแท้งของประเทศ ชี้ว่า เหตุผลที่ทำให้คนตัดสินใจทำแท้งมากที่สุด คือ เหตุผลด้านเศรษฐกิจและสังคม กระบวนการแก้ไขกฎหมายโดยเฉพาะในกรณีการทำแท้งในอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์”

ดร. สุวดี พันธุ์พานิช กรรมการบริหารพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันสถานที่สำหรับการยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัยและถูกกฎหมายยังไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด การส่งต่อข้ามโรงพยาบาล หรือข้ามจังหวัดยังติดขัดและมีค่าใช้จ่ายเดินทาง จึงพบว่ามีผู้ที่ตัดสินใจใช้บริการคลินิกเถื่อน หรือซื้อยาใช้เอง จนเกิดอันตรายต่อร่างกายจนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลฉุกเฉินจนส่วนหนึ่งเสียชีวิต”

ดร.สุวดี กล่าวว่า “รัฐต้องเร่ง ดำเนินการ 3 ด้าน 1) ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำแท้งปลอดภัยไม่เสียค่าใช้จ่าย 2) ขอความร่วมมือจากโรงพยาบาลต่างๆ ให้เปิดบริการ และทำความเข้าใจสถานบริการถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์กับผู้ตั้งครรภ์ และ 3) ต้องตั้งเป้าหมายลดจำนวนผู้ป่วยจากการยุติครรภ์ไม่ถูกวิธีให้กลายเป็นศูนย์ เพื่อวัดผลว่าประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างแท้จริง”