ทวี ชูแนวทางดับไฟชายแดนใต้ แก้ด้วยการเมืองการปกครอง หยุดรัฐซ้อนรัฐ-ชูจังหวัดจัดการตัวเอง

“พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” ถอดประสบการณ์ชี้ชัด ปัญหาชายแดนภาคใต้ต้องแก้ด้วยการเมืองการปกครอง ต้องยอมรับในอัตลักษณ์ความเป็นมลายูของคนในพื้นที่ ยกเลิกความคิดที่ “รัฐซ้อนรัฐ” ลุยกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยกแนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” เป็นอีกหนึ่งทางเลือก

 

วันที่ 16 กันยายน 65 ที่ผ่านมา นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 12 กลุ่มภาคใต้ ได้จัดงานเสวนาสร้างโอกาสสู่สันติสุข/สันติสุขชายแดนภาคใต้ โดยมีกิจกรรมสานเสวนาเรื่อง “ขับเคลื่อนกลไกการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปสู่กระบวนการหนุนเสริมการเจรจาสันติภาพเพื่อสันติสุขอย่างยั่งยืน”

โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เข้าร่วมเสวนา พร้อมกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, พล.ท.ชัยณรงค์ กิจรุ่งโรจน์เจริญ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร, ตัวแทนจากศูนย์อำนวยการบริหารรจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และตัวแทนแทนจากกองทัพบก

งบมาก แต่สามจังหวัดจนลง

พ.ต.อ.ทวี กล่าวในการเสวนาตอนหนึ่งว่า “กลไกในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง อยากจะเริ่มต้นที่สิ่งที่มนุษย์ต้องระวังมากที่สุดคือความคิด ความคิดมันจะเปลี่ยนเป็นคำพูด คำพูดจะเปลี่ยนเป็นการกระทำ การกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกมันจะเป็นนิสัย นิสัยซ้ำแล้วซ้ำอีกจะเป็นพฤติกรรม

เขาบอกว่าความคิดที่คุณมีคือชีวิตที่คุณเลือก คนในสามจังหวัดมีความคิดและมีพฤติกรรมไม่มีสิทธิเลือก เพราะต้องยอมรับว่าตลอดระยะเวลาอันยาวนาน เวลาที่เราจะแก้ปัญหาภาคใต้ จะมีชุดความคิดของคนข้างบน หรือความคิดของคนแก้ที่คิดว่ามีปัญหา ทั้งที่คนในพื้นที่อาจจะไม่มีปัญหาก็ได้

การตั้งหัวข้อไม่ค่อยถูกนัก คือหนุนเสริมการเจรจา ใครเป็นผู้ไปเจรจา คนกรุงเทพฯไปเจรจากับใคร ปัญหาของคนกรุงเทพฯกับคนสามจังหวัดมันเรื่องเดียวกันไหม วันนี้เราต้องการภาคใต้ให้มีสันติภาพมีสันติสุข คนที่ไปเจรจาไม่เคยรู้เรื่องในสามจังหวัดเลย อาจจะรู้ก็แบบผ่านไปผ่านมา อันนี้ก็คือปัญหา เราต้องมาเริ่มกันที่ปัญหาว่า เราจะแก้ปัญหาอย่างไร

ประการสำคัญความขัดแย้ง ผมคิดว่าถ้าตราบใดที่มนุษย์ยังขาดสิ่งเหล่านี้ ความขัดแย้งจะเกิดขึ้น คือมนุษย์ต้องมีปัจจัย 4 เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน คุณต้องมีอาหารกิน คุณต้องมีอาชีพ มีที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค อันนี้คือต้องมี ที่สำคัญนอกจากสิทธิปัจจุบัน 4 แล้ว เรื่อง สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะต้องธำรงไว้มิเช่นนั้นจะนำไปสู่ความขัดแย้ง

วันนี้จะเห็นได้ว่างบประมาณที่ไปภาคใต้มาก ยะลาเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย เพราะหน่วยราชการไปอยู่เยอะ แต่ปรากฏว่า ปัตตานีจนที่สุด นราธิวาสจนที่สุด ยะลาก็จนอยู่อันดับ 6 มันจะเป็นแบบนี้ตลอด คือไม่ใช่เรื่องเงิน เพราะเงินลงไปเยอะ

ธุรกิจการเจรจา? – 4 แนวคิดดับไฟใต้

พอเราตั้งเรื่องไปเจรจา เคยคุยกับเยาวชนที่มีการจัดกิจกรรมเรื่องชุดมลายูในพื้นที่ เขาบอกว่าวันนี้มันเป็นธุรกิจการเจรจาหรือเปล่า เขากลัวจะเป็นเรื่องนั้น ตรงนี้เราไม่พูดเรื่องความถูกผิดนะ เพราะผมเป็นคนเริ่มการพูดคุยเอง (สมัยเป็นเลขาธิการ ศอ.บต.) ผมไปพบเลขาธิการโอไอซีเอง (เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม) คนภาคใต้เขาไม่มีสิทธิที่จะมามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

เราลองมาคุยว่า ปัญหาเขาคืออะไร แล้วเขาก็ไม่ไว้ใจ เพราะถูกอพยพไปอยู่มาเลย์ ไปอยู่ซาอุดิอาระเบีย ผมไปทุกประเทศที่พวกเขาไปอยู่ เราก็เลยอยากจะมาพูดคุย เพราะครั้งนั้นอยากจะเริ่มต้น

ปัญหาคือว่า วันนี้เราจะแก้ปัญหาภาคใต้ แนวความคิดที่ยอมรับมากที่สุดจะมี

1.ของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 คือหลัก ‘รัฐประศาสโนบาย’
2.ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 คือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”
3.ของท่านหะยีสุหลง ที่หาทางออกครั้งแรก เมื่อเราให้เข้าไปเวิร์กชอปเขาก็เสนอมา 7 ข้อ เราไปจับเขากบฏ ถูกเอาไปถ่วงน้ำตาย
หรือ 4.ทางออกเมื่อปี 2556 การพูดคุย คือเราจะมีลองพูดคุยกันว่า เวลาผมไปพูดคุย ผมเอาผู้ว่าฯไปด้วย เอาดาโต๊ะอาซิสไปด้วย เอาคนมลายูกับทีมที่ไปทั้งหมด เพื่อเราจะรู้ว่าปัญหามันคืออะไร แล้วก็ต้องการอะไร คำตอบก็คือวันนี้ต้องแก้ด้วยการบริหารและการปกครอง ไม่ได้แก้ที่เงิน

เคารพอัตลักษณ์มลายู – หยุดรัฐซ้อนรัฐ

กรณีเหตุการณ์สะพานกอตอ ตอนนั้นมีการจับเด็กไปโยนแม่น้ำสายบุรี เด็กรอดกลับมาคนหนึ่ง ก็มีการเดินขบวนเป็นแสนคน แล้วก็มีระเบิดโยนไปจากศาลากลาง คำพูดของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้พูดว่า ‘เรื่องของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เป็นเรื่องของคนต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา ขอให้ยอมรับความจริงข้อนี้ แม้ในทางประวัติศาสตร์ก็ถือว่าเป็นคนต่างเชื้อชาติกัน

การแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คิดยังไงก็คิดไม่ออก เพราะเราไปหลอกเขาว่าเขาเป็นคนไทย ความจริงเขาเป็นคนมลายู ตัวที่เป็นปัญหาคือเราไปหลอกเขาว่าเขาเป็นคนไทย ขอให้ทุกคนยอมรับความจริงว่าเขาไม่ใช่คนไทย เราต้องส่งเสริมให้เขาเป็นตัวของเขา คือรักษาอัตลักษณ์ชนมลายูไว้ การดำเนินที่ผ่านมาผิดหมด นี้คือแขกเป็นไทย ขอให้เขาพูดภาษาไทยก็ยากแล้ว’

สิ่งที่สำคัญที่สุดและเป็นปัญหาขัดแย้งในตอนนี้ คือ เราไปเอาวัฒนธรรมของคนกลุ่มใหญ่ คือคนไทยพุทธ ไปบีบให้คนมลายูมีวัฒนธรรม คนมลายูก็เกิดเหตุการณ์ขัดแย้งและเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น อันนี้ทำให้เห็นว่าการพูดคุยมีความจำเป็น

แต่ต้องพูดคุยโดยใคร สิ่งที่ที่ต้องเริ่มต้นในวันนี้คือ ต้องยกเลิกความคิดที่รัฐซ้อนรัฐ คือเราไม่ยอมกระจายอำนาจไปให้องค์กรปกครองท้องถิ่น ไปสร้าง ศอ.บต. ไปสร้างงบบูรณาการ ไปสร้างอะไรทุกอย่างเลย แล้วคนใช้เงินก็คือข้าราชการ แต่พอความยากจนกลับส่งไปให้ประชาชน

ต้องแก้ที่ “การเมืองการปกครอง”

เรื่องเศรษฐกิจ ไม่มีจังหวัดไหนอุดมสมบูรณ์เท่ากับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมยืนยัน ไม่มีที่ไหนที่จะพูดภาษาจีน คนจีนบอกเบตงไม่ใช่ไชน่าทาวน์ เป็นไชน่าซิตี้ คนมีความรู้มาก เราไปหลอกว่า เขาไม่มีความรู้ เข้าไปทุกหมู่บ้านไปเรียนนอกหมด ผมไปเยี่ยมทุกหมู่บ้านไปอยู่มาเลเซีย โปรเฟสเซอร์ดังที่ทำให้มาเลเซียเจริญ เป็นคนปัตตานีทั้งนั้น

เราน่าจะมาเริ่มต้นเรื่องการบริหารและการปกครอง และการพูดคุยจะเปลี่ยน ยังจะให้มาเลเซียเป็นผู้ประสานงานไหม หรือจะเอาคนในพื้นที่พูดไหม ไทยพุทธที่เขาต้องเสียชีวิต เขาต้องมาพูดไหม สตรีที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียสามี ต้องมาพูดไหม แล้วปัญหาที่พูดมาแล้ว มันเหลืออยู่ตรงไหน

แล้วผมเชื่อว่าของอาจารย์ชำนาญ (ประธานคณะอนุกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ) จังหวัดจัดการตนเอง จะทำประชามติกับแบบไหน พร้อมกับถ่ายโอนอำนาจ ส่วนภูมิภาคยุบไปหรือให้มีอยู่ ไปให้ท้องถิ่น อันนี้คือตัวอย่าง

คุณไปแก้อย่างอื่น ไปพูดอย่างอื่น ความเป็นธรรมสำคัญ สิ่งที่ไม่เป็นธรรมที่สุดคือกฎหมายไม่เป็นธรรม แล้วคุณไปเอาความเป็นธรรมปลายเหตุ ความยุติธรรมใครเป็นคนกำหนด วันนี้ต้องเปลี่ยนวิธีคิด เราต้องไปสร้างคนในภาคใต้ คือทำอย่างไร

ต้องสร้างให้เขามีความรู้ อย่าเพิ่งไปสร้างเมือง สร้างคนให้มีความรู้ การศึกษาภาคใต้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือสถาบันปอเนาะ เรื่องของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องให้คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผู้แก้ไข”

ความยุติธรรมแบบของรัฐ ชาวบ้านรับยาก

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกช่วงหนึ่งว่า “คำถามยอดฮิต คือเราจะแก้ปัญหาภาคใต้อย่างไร แล้วจะเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ เพราะพลวัตในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มันมีมาเป็นร้อยปี แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นกับมนุษย์ในภาคใต้ได้คือ คุณต้องมีปัจจัย 4 ซึ่งเดิมเขามีอยู่แล้ว แต่รัฐไปยึดมาหมด ที่ดินเป็นที่ของรัฐหมด เป็นที่ป่าสงวน เป็นที่อุทยาน เป็นอะไรหมดเลย คือประชาชนไม่มีที่เลย ทำไมคุณไม่กระจายอำนาจไป

อันที่ 2 ต้องทำให้คนมีสิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาค มีความยุติธรรม และมีศักดิ์ศรีความเป็นมุนษย์เท่ากัน คือทำให้คนเท่ากับคนก่อน เราจะมีนโยบายในการแก้ปัญหาภาคใต้อย่างไร วันนี้ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือ ปัญหาความไม่สงบ ปัญหาความไม่ปลอดภัย

รัฐบาลข้างหน้าจะต้องทำให้ทุกคนมีความปลอดภัย เราหาทางออก สมัยผมไปใหม่ๆ ก็ประกาศไว้ที่สี่แยกตรงดอนยาง (แยกดอนยาง สี่แยกทางเข้าปัตตานี-ยะลา) ว่า ต้องเอาความยุติธรรมนำการเมืองการทหาร แต่พอความเป็นธรรม มันเป็นนามธรรมเยอะ ความเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรม พี่น้องอาจจะรับยาก เพราะมันมีกฎอัยการศึก นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ที่กระทำแล้วไม่มีความผิด

มันเหมือนว่า ความเป็นธรรมตามกฎหมายและกระทรวงยุติธรรม อาจจะไม่ใช่ความเป็นธรรมตามความเป็นจริง ตอนนี้จึงถึงเวลาที่จะเราจะทำให้สามจังหวัดเป็นโอกาสและเป็นสิ่งท้าทายที่จะแก้ปัญหาของประเทศไทย นอกจากการเป็นธรรมนำทุกอย่างแล้ว ก็ต้องเอาการศึกษานำการเมืองการทหาร

การศึกษา-รัฐสวัสดิการ คือทางออก

ผมคิดว่าถ้าเราสร้างมนุษย์ให้มีความรู้ ให้มีคุณภาพ ต้องสร้างคน พอเราสร้างคน คนจะไปสร้างโอกาส จะใช้ทฤษฏี เอาท์-เอาท์ ส่งคนเราไปอยู่นอก 3 จชต ในโลกมลายู แล้วก็เอาเงินกลับเข้ามา เพราะวันนี้ถ้าวันรายอ พี่น้องชาวสามจังหวัดกลับบ้าน คนในมาเลเซียชอบกินข้าวนอกบ้านเขาไม่มีข้าวกินนะ (หมายถึงประเทศที่คนชายแดนใต้ไปอยู่) เพราะเราเป็นเอสเอ็มอีที่ใหญ่มาก

ผมไปอียิปต์หลายครั้ง มีน้องคนหนึ่งเข้าเรียนแพทย์อยู่ปี 6 เขาจะลาออก เพราะไม่มีเงินเรียน พอได้เรียนต่อ ซึ่งไม่มีภาษาไทยเลย ต้องกลับมาเรียนภาษาไทย เพราะต้องสอบเป็นหมอ ตอนนี้เป็นหมอโรงพยาบาลกรุงเทพ เพราะเราให้การศึกษา วันนี้เราต้องมาสร้างตรงนี้

อีกอย่างคือ วันนี้ความเหลื่อมล้ำประเทศไทยสุด ๆ แล้ว ตั้งแต่เกิดจนถึงเชิงตะกอน ต้องเป็นรัฐสวัสดิการ แล้วก็ส่วนราชการส่วนภูมิภาคไม่จำเป็นก็ยุบไปเสีย ให้เหลือเท่าที่จำเป็น ไม่มีใครรู้เรื่องท้องถิ่นดีเท่าท้องถิ่น ผมเชื่อว่าวันนี้สามจังหวัดจะเป็นโอกาส คุณไปฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประมง ซึ่งเคยทำรายได้ 7 แสนล้าน

วันนี้ทำประมงไม่ได้เลย อัตราโทษสูงมากเพราะไปทำประมงขาข้างหนึ่งก็ติดคุก กฏหมายกำหนดโทษปรับสูงถึง 30 ล้านบาท ไทยมีทะเลล้อมรอบ ติดทะเล 22 จังหวัด แต่ต้องไปซื้อปลาจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเราเขียนกฎหมายไม่คำนึงถึงความอยู่รอดเป็นชีวิตของคน”

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในรูปจังหวัดจัดการเอง จะมีการถ่ายโอนอำนาจ จังหวัดไหนมีความพร้อมก็ทำประชามติ การปกครองส่วนภูมิภาคก็เอาไป จะมีรูปแบบอย่างไรก็ลองดู ซึ่งก็เป็นการศึกษาที่ดี วันนี้การปกครองท้องถิ่นอย่างสามจังหวัดเลือกตั้งทีเปลี่ยน 60-70’เปอร์เซ็นต์เลยนะ

คือคุณจะเป็นเจ้าพ่อ หรือผู้ที่ไม่สนใจประชาชนจะถูกเปลี่ยน เนื่องจากเราไปกำหนดงบประมาณ คือให้เข้าอยู่แบบอนาถา หรือโอนแต่งานไป แต่เงินไม่โอนงบประมาณ กรมทางทางหลวงชนบทควรยุบให้ไปอยู่ท้องถิ่นแทนได้แล้ว