ชัชชาติว่าไง! อนุกก.เสียงแตกค้าน “กทม.” เก็บภาษีปลูกกล้วย ตามโซนผังเมือง

ชัชชาติว่าไง! อนุกรรมการเสียงแตกค้าน “กทม.” เก็บภาษีปลูกกล้วย ตามโซนผังเมือง ลุ้น “อาคม” เคาะก.ย.นี้

 

วันที่ 31 สิงหาคม แหล่งข่าวจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เป็นประธาน ยังมีความเห็นแตกแยกกรณีที่กทม.ขอปรับอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินฯประเภทที่ดินเกษตรกรรมตามโซนสีผังเมือง ได้แก่ โซนสีแดงที่ดินประเภทพาณิชยกรรม โซนสีน้ำตาลที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก โซนสีม่วงที่ดินประเภทอุตสาหกรรม และโซนสีเม็ดมะปรางที่ดินประเภทคลังสินค้า โดยจัดเก็บเต็มเพดานที่กฎหมายกำหนดในอัตรา 0.15% จากปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่ที่ 0.01-0.1% เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัจจุบันเจ้าของที่ดินนำที่ดินที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์มีมูลค่าสูงใจกลางเมืองมาใช้ประโยชน์เป็นเกษตรกรรมกันจำนวนมาก เช่น ปลูกกล้วย มะม่วง มะนาว ให้เข้าเกณฑ์ที่ดินเกษตรกรรม เพื่อจ่ายภาษีในอัตราที่ถูกลง

ลุ้นคณะกรรมการชุด”อาคม”เคาะก.ย.นี้

“ที่ประชุมยังเสียงแตก ยังมีประเด็นถกเถียงกันอยู่ เพราะมีคณะกรรมการบางท่านที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยทางกระทรวงการคลังมองว่า กทม.ควรจะจัดเก็บให้เท่ากันทั้งแถบ ซึ่งจะรวมถึงที่ดินเกษตรกรรมของประชาชนด้วย ไม่ใช่เฉพาะเก็บตามโซนสีผังเมือง เพราะจะทำให้เกิดประเด็นว่าเลือกปฎิบัติ ต้องรอให้ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างชุดใหญ่ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานพิจารณาอีกครั้ง ในเดือนกันยายนนี้ ในส่วนของกทม.ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหารและอยากขอให้คณะกรรมการเร่งรัดพิจารณาโดยเร็ว เพื่อจะนำเสนอต่อที่ประชุม สภา กทม.อนุมัติออกเป็นข้อบัญญัติต่อไป”แหล่งข่าวกล่าว

“ชัชชาติ”สั่งเขตสำรวจที่ดินเกษตรกรรม

แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. สั่งการให้สำนักงานเขต 50 แห่ง สำรวจแปลงที่ดินที่ใช้ประโยชน์เป็นเกษตรกรรมทั้งหมดในที่ดินตามแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือตามโซนของกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองในโซนสีแดง หรือสำรวจแปลงที่ดินที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในพื้นที่ทั้งหมด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีการทำเกษตรกรรมจริงจำนวนเท่าใด เพราะเจตนารมณ์ของการยกร่างข้อบัญญัตินี้ เพื่อให้เจ้าของที่ดินในพื้นที่ที่มีมูลค่าสูงและไม่ใด้ประกอบการอาชีพเกษตรกรรม เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง โดยให้สำนักเขตส่งข้อมูลภายในวันที่ 30 กันยายนนี้