พบข้อมูลหมาแมวจรจัดทะลุ8แสนตัวทั่วประเทศ ผู้ร้องเรียนเฉพาะ กทม.มากกว่า2,900เรื่อง

11 ตุลาคม 2560 เวลา 10.00น. สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย(TSPCA) นำโดย ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล นิติกรสมาคม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สมาคมฯ ร่วมกับปศุสัตว์อำเภอบ้านโป่ง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดูแลเลี้ยงดูสุนัขจรจัดเกือบ 200 ตัว ในบริเวณวัดโพธิโสภาราม ต.คุ้งพยอม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี โดยท่านพระครูเมตตานุศาสก์ เจ้าคณะตำบลคุ้งพยอมบ้านม่วง เจ้าอาวาสวัดโพธิโสภาราม ได้แบกรับภาระการเลี้ยงดูสุนัขจรจัด ซึ่งเกิดจากการนำสัตว์มาปล่อยในบริเวณวัด จึงมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ร่วมดำเนินงานแบบบูรณาการ การให้ความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าแก่ประชาชนในพื้นที่ และรณรงค์การหยุดทิ้งสัตว์

 

สำหรับการกระทำดังกล่าวมีความผิดตามพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มาตรา 23 ประกอบมาตรา 32 ต้องระวังโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งสมาคมเป็นผู้นำภาคประชาชนในการผลักดันพรบ.ดังกล่าว


ดร.สาธิตฯ เปิดเผยว่าการปล่อย หรือการละทิ้งสัตว์นั้น มีแนวโน้มสูงขึ้นจากสถิติในปี พ.ศ. 2559 พบว่าจำนวนสุนัขและแมวที่ไม่มีเจ้าของทั้งประเทศมีมากกว่า 800,000 ตัว แต่การควบคุมประชากรด้วยวิธีทำหมันได้เพียงร้อยละ 10 ของจำนวนทั้งหมด นำมาสู่การร้องเรียนในปัญหาการสร้างความเดือดร้อนรำคาญเฉพาะสุนัขในกรุงเทพมหานครในปี 2558 กว่า 2,900 เรื่อง รวมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์สู่คน ปี2558 จำนวน 5 คนและในปี 2559 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวน 6 คน สุนัขและแมวเป็นสัตว์ควบคุมตาม พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535

หากพบในที่สาธารณะ พนักงานเจ้าหน้าที่ (กรมปศุสัตว์) หรือพนักงานท้องถิ่น มีอำนาจจับและกักขังเพื่อหาเจ้าของและให้เจ้าของมารับคืน และมีอำนาจในพิจารณาตามหลักวิชาการว่าสัตว์นั้นมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ถ้ามีก็ให้อำนาจในการทำลายสัตว์ควบคุมนั้นได้ ตามมาตรา 9 และมาตรา 15
พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มาตรา 23 กำหนดห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใดๆ ให้สัตว์นั้นพ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร และมาตรา 22 เจ้าของสัตว์ต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ของตนให้เหมาะสม ถ้าไม่ปฏิบัติตามมาตรา 22 หรือฝ่าฝืนมาตรา 23 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท ตามมาตรา 32

ถ้าผู้ควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลำพังในประการที่อาจจะทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ป.อาญา มาตรา 377 เช่นกัน

ดร.สาธิต กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมฯ ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ได้จัดโครงการสำคัญรณรงค์ปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกในเรื่องความเมตตากรุณาต่อสัตว์ให้แก่เยาวชนของชาติ โครงการรักสัตว์ในโรงเรียนเพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสัตว์ การเสริมสร้างจิตสำนึกแห่งความรัก ความเมตตาต่อสัตว์แก่เยาวชน รวมทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทารุณสัตว์ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ การเลี้ยงสุนัข แมวและสัตว์อื่นๆ นั้นต้องเริ่มจากผู้เลี้ยงต้องมีทัศนคติที่ถูกต้องมีความรับผิดชอบและวุฒิภาวะอันเหมาะสมและมีความพร้อมในการเลี้ยงตลอดอายุขัย สัตว์ที่เลี้ยงต้องได้รับอาหารและน้ำที่มีคุณภาพเพียงพอโดยปราศจากความหิวกระหาย ได้รับความสะดวกสบายในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน มีสุขภาพอนามัยที่ดีและได้รับการรักษาเมื่อเจ็บป่วยโดยไม่ชักช้า และต้องมีการดูแลไม่ให้เกิดความเครียด หวาดกลัว หรือทุกข์ทรมาน อีกทั้งต้องได้มีโอกาสแสดงออกซึ่งพฤติกรรมตามธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เป็นต้นผู้เลี้ยงต้องมีความเข้าใจในกฎ กติกา มาตรฐานทางสังคมเพราะนอกจากกฎหมายจะรับรองและคุ้มครองสิทธิในการเลี้ยงให้ แต่กฎหมายก็กำหนดหน้าที่ความรับผิดและบทลงโทษแก่ผู้เลี้ยงเช่นกัน

สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ควรจะ

1. ออกกฎหมายลำดับรองให้ครบถ้วน เช่น การจัดสวัสดิภาพสัตว์ การขนส่งสัตว์ การแสดงสัตว์ และบังคับกฎหมายอย่างจริงจัง เพื่ออำนวยความยุติธรรมและเพื่อประโยชน์สุขของสังคม เป็นต้น

2.ควรมีมาตรการขึ้นทะเบียนสุนัขและแมวและการติดตามสัตว์ในครอบครองแสดงความเป็นเจ้าของอย่างเปิดเผย และมีการส่งเสริมการเลี้ยงให้ถูกต้องถูกวิธีและถูกสถานที่ มีการจัดทำฐานข้อมูลที่มีการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ

3. การทำหมันสุนัขและแมวในทุกภาคส่วน ด้วยการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบและคนในชุมชนร่วมกัน และระดมทรัพยากรด้านงบประมาณ บุคลากร สัตวแพทย์ หน่วยงานสถานที่ อาสาสมัคร ร่วมกันในการจัดทำหมันสัตว์เลี้ยงในทุกภาคส่วน การทำหมันต้องถูกต้องถูกวิธีตามหลักมาตรฐานสากลอย่างมีคุณภาพจัดทำเป็นวาระแห่งชาติ

4. การสร้างเครือข่าย เพื่อให้เกิดกระบวนการร่วมแก้ปัญหาเชิงบูรณาการอย่างสันติวิธีโดยเฉพาะการร่วมพลังกันดำเนินการ ตั้งแต่ร่วมวางแผนกำหนดวิธีการและแนวทางร่วมกัน การดำเนินการตามขั้นตอนที่วางแผน การแก้ปัญหา การติดตามประเมินผล อีกทั้งการร่วมชื่นชมผลสำเร็จร่วมกัน ถ้าปัญหาดังกล่าวได้รับการยอมรับและร่วมกันในการแก้ปัญหาทุกภาคส่วนมีการบูรณาการทั้งหน่วยงาน ทรัพยากรการบริหาร และวิทยาการการจัดการก็จะทำให้ปัญหาลดลง โดยเฉพาะชุมชนและท้องถิ่นควรต้องเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง

“ การเลี้ยงสัตว์ เป็น “สิทธิ” ที่กฎหมายรับรองคุ้มครองให้ แต่ผู้เลี้ยงก็ยังมี “หน้าที่ความรับผิดชอบพร้อมมีบทกำหนดโทษ” การกระทำหรือการเลี้ยงดูต่อสัตว์จะต้องไม่กระทบหรือละเมิดสิทธิสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่นเช่นกัน ความรักถ้าใช้หัวใจมากกว่าสมอง ความวุ่นวายก็จะเกิดอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น ความรักต่อสัตว์ก็เช่นเดียวกันกัน ถ้าใช้แต่ความรู้สึกอารมณ์ บนพื้นฐานผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง จนลืมคิดคำนึงถึงเหตุผลความถูกต้อง ความพอดีความสมดุลทั้งต่อตนเองและผู้อื่นรวมทั้งสังคมส่วนรวม ก็จะเกิดความวุ่นวายไม่รู้จักจบจักสิ้นเช่นกัน ขอให้มั่นใจใน “หลักนิติธรรม”และใช้ “กระบวนการยุติธรรม” ในการสร้างความ “ยุติธรรม” ให้เกิดขึ้นทั้งต่อมนุษย์และสัตว์ ซึ่งก็เป็นเป้าหมายแรกของพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณสัตว์เช่นกัน ในอันที่จะต่อสู้กับเจตนาร้ายและความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ที่มีต่อสัตว์เท่านั้น” ดร.สาธิต กล่าว