“อรุณี” แนะกระจายอำนาจการศึกษา ทางออกแก้ปัญหาครู-นักเรียน ให้มีส่วนร่วม-มีประสิทธิภาพ

วันที่ 14 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ดร.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าด้วยปัญหาการศึกษาที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนท่ามกลางความท้าทายต่อระบบโดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ว่า

“กระจายอำนาจการศึกษา มองปัญหาครู รู้ปัญหานักเรียน”

วันนี้การศึกษาไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตครั้งใหญ่นะคะ ลำพังก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของโควิด-19 การศึกษาไทยก็เต็มไปด้วยปัญหาที่รอให้รัฐบาล และผู้มีอำนาจรีบแก้ไขอยู่แล้ว แต่การระบาดของโควิด-19 ทำให้ปัญหาของการศึกษาไทยที่แต่เดิมก็หนักหนาให้สาหัสลงไปอีก เหมือนสำนวนไทยที่ว่า ‘ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก’ ซึ่งก็ทำให้เห็นชัดนะคะว่า ปัญหาทั้งหมดมีต้นตอสาเหตุมาจากปัญหาเดิม ๆ ที่คาราคาซังแก้ไม่ตกสักทีเนี่ยแหละค่ะ
.
หญิงมองว่า ปัญหาหลัก ๆ ที่การศึกษาไทยต้องเผชิญเกิดขึ้นกับผู้เล่นสองฝ่ายที่สำคัญอย่างมากในระบบการศึกษา นั่นคือ นักเรียนและคุณครู ซึ่งท้ายที่สุดก็กลายเป็นปัญหางูกินหางที่ส่งผลต่อ ๆ กันเป็นลูกโซ่ ไม่ว่าจะความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับทั้งครู และนักเรียน การไม่ใส่ใจพัฒนาคุณภาพ และไม่ให้ความสำคัญอย่างเต็มที่กับบุคลากรทางการศึกษา รวมไปถึงตัวนักเรียนเองที่สุดท้ายต้องรับกรรมจากระบบที่ผิดพลาดนี้

ปัญหาของครูไทยที่ถูกมองข้าม

ถ้าเราตั้งโจทย์ว่า จะทำอย่างไรให้ระบบการศึกษาของบ้านเราดีขึ้น ก็คงจะต้องหันไปดูการศึกษาของประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกอย่างประเทศฟินแลนด์ค่ะ รัฐบาลฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับอาชีพครูหรือบุคลากรทางการศึกษาเป็นที่หนึ่ง กว่าที่คน ๆ หนึ่งจะเป็นครูได้ จำเป็นที่จะต้องผ่านการสอบหลายขั้นตอน ต้องมีความสามารถและมีจิตวิทยาในการสอนอย่างที่คนเป็นครูควรจะมี เมื่อผ่านการทดสอบจากส่วนกลางแล้ว ก็ยังจำเป็นที่จะต้องสอบในระดับท้องถิ่นที่จะไปทำการสอนอีก
.
ขณะเดียวกันเงินเดือนของครูที่ฟินแลนด์ก็อยู่ในอัตราที่สูง ซึ่งทำให้ครูมีกำลังกายกำลังใจที่จะทุ่มเทกับการสอน ไม่ต้องรับงานสอนพิเศษเพื่อให้อยู่รอด และไม่มีภาระหน้าที่อื่นในโรงเรียนนอกจากการสอนหนังสือ เพื่อให้ครูมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการเตรียมการสอนให้ดีที่สุด
.
แต่มองมาที่บ้านเราจะพบเลยนะคะว่า ปัญหาเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการสร้างครูเลยค่ะ ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางมาตรฐานของคณะสายศึกษาศาสตร์-ครุศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งในด้านงบประมาณสนับสนุนของมหาวิทยาลัย การพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลอย่างมากต่อคุณภาพครูและคุณภาพในการสอน
.
ในขณะที่เมื่อมาเป็นครูแล้ว ครูไทยกลับไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่สอนนักเรียนเท่านั้น แต่มีภาระหน้าที่อื่น ๆ อีกมากมาย เช่น การประเมิน การทำรายงานต่าง ๆ การเข้าเวรนอนโรงเรียน การจัดงานต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งทำให้ครูไทยจำนวนมากไม่สามารถจะทุ่มเทกับการเตรียมการสอนได้อย่างที่ควรจะเป็น ผลที่ตามมา คือ คุณภาพในการสอนที่ลดลง ภาระหน้าที่มากมายเหล่านี้ดูจะสวนทางกับค่าตอบแทนอันน้อยนิดที่ครูไทยได้รับ แล้วครูที่ไหนจะมีกำลังใจในการทำหน้าที่ครูกันล่ะคะ จิตวิญญาณของความเป็นครูต้องมาพร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดีของครูด้วยเช่นกันค่ะ
.
นอกจากนี้ด้วยระบบราชการไทยที่รวมศูนย์อำนาจและต้องทำตามคำสั่งของหัวหน้าที่ลดหลั่นลงมาเป็นชั้น ๆ ซึ่งให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างคุณธรรม จริยธรรม มากกว่าเน้นที่รูปธรรมอย่างคุณภาพของครู การพัฒนาด้านวิชาการ การวิจัย หรือการออกแบบระบบการศึกษาให้เหมาะสมกับสถานการณ์

ปัญหาของนักเรียนไทยที่ไม่ถูกรับฟัง

มีปัญหามากมายเลยค่ะ ที่เด็กไทยต้องพบเจอจากระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำของคุณภาพในการเรียนการสอน ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่ทำให้เด็กจำนวนมากต้องหลุดจากระบบ การขาดแคลนครูในหลายพื้นที่ อำนาจนิยมในโรงเรียนที่ทำให้นักเรียนรู้สึกไม่ปลอดภัย ทั้ง ๆ ที่โรงเรียนควรจะเป็นพื้นที่ให้พวกเขาได้พักพิง แต่สิ่งสำคัญที่หญิงอยากสะท้อนให้เห็น คือ การไม่ให้ความสำคัญกับเด็กนักเรียนของระบบการศึกษาและผู้มีอำนาจค่ะ
.
ก่อนหน้านี้มีน้อง ๆ หลายคนมาพูดกับหญิงเกี่ยวกับเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เนื่องจากมาตรการที่ไม่ชัดเจนสำหรับเด็กนักเรียนที่ตรวจ ATK แล้วพบเชื้อโควิด-19 อาจหมดสิทธิสอบในปีนี้และต้องรอสอบในปีถัดไป ซึ่งก็ทำให้เห็นนะคะว่ารัฐบาลไม่ได้สนใจที่จะเตรียมความพร้อมให้กับอนาคตทางการศึกษาของเด็กไทย
.
แม้ท้ายที่สุดรัฐบาลจะจัดให้มีสนามสอบพิเศษสำหรับนักเรียนที่พบเชื้อโควิด-19 ให้มีสิทธิสอบเข้ามหาวิทยาลัยและเรียนจบพร้อมเพื่อน ๆ ได้ ซึ่งหญิงขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานที่มองเห็นปัญหา แทนน้อง ๆ dek65 ด้วยนะคะ
.
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ดังกล่าวก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้มีอำนาจไม่ได้มีการคิดที่จะวางแผนและเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตทางการศึกษาของเด็กไทยเท่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเกาหลีใต้ ในวันที่มีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียน ถือว่าเป็นวันที่สำคัญที่สุดของชาติ โดยให้ถือเป็นวันหยุดราชการ และอำนวยความสะดวกให้นักเรียนทุกคนได้เข้าสอบอย่างเต็มที่
.
จะเห็นได้ว่าการให้ความสำคัญกับนักเรียนของไทยและเกาหลีใต้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลยนะคะ ไทยต้องรอให้เกิดปัญหามีการร้องเรียนก่อนถึงจะวางแผนแก้ไข แต่ในขณะที่เกาหลีใต้มีการวางแผนอย่างรอบคอบและรัดกุม เพราะเขาถือว่าการศึกษาคือสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยพัฒนาประเทศชาติได้
.
เราชอบพูดกันว่าต้องให้เป็น ‘การเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง’ ‘เยาวชนคืออนาคตของชาติ’ แต่ย้อนถามกลับไปว่าแล้วรัฐบาลรับฟังผู้เรียนและอนาคตของชาติมากน้อยแค่ไหนกัน

ทางออก คือ กระจายอำนาจ

หญิงคิดว่า ถึงเวลาแล้วค่ะที่เราต้องกระจายอำนาจทางการศึกษา ไม่ใช่รวมอำนาจทางการศึกษาไว้ที่กระทรวงศึกษาธิการเพียงอย่างเดียวเหมือนในปัจจุบัน เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการการศึกษาได้อย่างเหมาะสมตามพื้นที่ และบริบทที่แตกต่างกัน
.
ในแง่ของครู ท้องถิ่นจะได้สามารถร่วมมือกันกับสถาบันผลิตครูในท้องถิ่น เพื่อผลิตครูให้เป็นไปตามความต้องการของพื้นที่ ไม่ใช่ผลิตครูตามหลักสูตรจากส่วนกลาง ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความต้องการจริง ๆ ของพื้นที่ ในแง่ของนักเรียน ท้องถิ่นก็จะได้สามารถออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้อง และเป็นไปตามความต้องการของนักเรียนอย่างเหมาะสม
.
อีกทางหนึ่ง การกระจายอำนาจทางการศึกษาให้ท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดกับคนในพื้นที่กว่าได้ดูแลโดยตรง น่าจะทำให้โรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่ละโรงเรียน ซึ่งจะช่วยให้การจัดการการศึกษามีประสิทธิภาพมากกว่าส่วนกลาง เพราะไม่ได้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ๆ
.
ถึงที่สุด การกระจายอำนาจทางการศึกษาจะทำให้ประชาชนให้ท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมมากขึ้น เมื่อท้องถิ่นบริหารการศึกษาเอง ก็จะให้ความสำคัญกับการรับฟังปัญหาการเรียนการสอนของลูกหลานในท้องถิ่น ให้โรงเรียนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
.
ย้อนกลับไปเมื่อปลายปีที่แล้ว หญิงเคยพูดว่า โครงสร้างการศึกษาที่บิดเบี้ยวทำให้มีเยาวชนจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษา และมีครูอีกจำนวนมากที่ตัดสินใจลาออก เพราะระบบที่ทำให้ครูรุ่นใหม่ต้องเน้นการทำประเมินผลงานเลื่อนวิทยฐานะมากกว่าทุ่มเทเพื่อสอนหนังสือตามความฝันของพวกเขา
.
วันนี้หญิงขอย้ำอีกครั้งนะคะว่า ปัญหาการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องรีบแก้ไข มันอาจจะไม่เห็นผลกระทบในเร็ววันนี้ แต่ในอนาคตปัญหาการศึกษาที่หมักหมมเอาไว้จะระเบิดพร้อมกันจนสายเกินแก้ ไม่มีชาติใดในโลกที่พัฒนาได้ หากไม่พัฒนาการศึกษาหรอกนะคะ