‘ยุ้ย-เกษรา’ ดัน 9 แนวทาง สร้างเมืองน่าอยู่เพื่อผู้หญิง ให้ปลอดภัย-มั่นคง

ดร.ยุ้ย ย้ำนโยบายเพื่อนชัชชาติ “กรุงเทพฯ 9 ดี” ดัน 9 แนวทางสร้าง “เมืองน่าอยู่เพื่อผู้หญิง” ยกระดับความปลอดภัย-ความมั่นคง ให้ผู้หญิงเป็นพลังสร้างเมืองน่าอยู่เพื่อทุกคน

 

วันที่ 8 มีนาคม 2565 เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2565 ดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจ “เพื่อนชัชชาติ” สะท้อนสถานการณ์ด้านความปลอดภัยของผู้หญิงในเมือง พบการร้องเรียนความรุนแรงในครอบครัวและชุมชนพุ่งสูง และพบปัญหาความไม่มั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจ เสนอนโยบายเพื่อนชัชชาติ “กรุงเทพฯ 9 ดี” ยกระดับความปลอดภัยและความมั่นคงด้วย 9 แนวทางสร้างเมืองน่าอยู่สำหรับผู้หญิง เพื่อให้ผู้หญิงเป็นกำลังสร้างเมืองน่าอยู่เพื่อทุกคนอย่างแท้จริง

ดร.ยุ้ย กล่าวว่า จุดอ่อนของกรุงเทพฯด้านความปลอดภัยและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เมืองมีความเปราะบางต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้หญิง ทีมนโยบายเพื่อนชัชชาติจึงเสนอ 9 แนวทางสร้างเมืองน่าอยู่สำหรับผู้หญิง เพื่อเป้าหมายเปลี่ยนผู้หญิงเป็นพลังสร้างเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

9 แนวทางภายใต้นโยบายเมืองน่าอยู่เพื่อผู้หญิงของทีมเพื่อนชัชชาติ ด้านความปลอดภัย ประกอบด้วย 3 แนวทางย่อย คือ 1) เพิ่มความปลอดภัยในที่สาธารณะ เช่น ทางเท้าปลอดภัย-ใช้งานได้ทุกกลุ่ม ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง กล้องวรจรปิด ป้ายรถเมล์-รถส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ 2) พัฒนาแผนที่แสดงจุดเสี่ยงอาชญากรรมทั่วเมืองแบบเรียลไทม์ และระบบแจ้งจุดเสี่ยงผ่านทราฟี่ฟองดูว์ให้ทุกคนร่วมอัปเดตข้อมูลได้ผ่านเครื่องมือสื่อสาร และ 3) ตั้งกลุ่มอาสาชุมชนเป็นสายตาเฝ้าระวัง ดูแลและป้องกันเหตุความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน ครอบคลุมปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ การทำร้ายร่างกาย และยาเสพติด

ส่วนด้านความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจ ทีมเพื่อนชัชชาติเสนอ 6 แนวทาง ประกอบด้วย 1) พัฒนาหลักสูตรเพศศึกษาในโรงเรียนสังกัด กทม. ให้ทันสมัย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ทางเพศและป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อม 2) จัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็ก ผู้ป่วยและคนสูงอายุ เพื่อให้ผู้หญิงสามารถสร้างรายได้จากงานได้โดยไม่ต้องกังวลปัญหาเลี้ยงดูคนแก่และบุตรหลานในบ้าน 3) สนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับแม่มือใหม่ เช่น มุมให้นมบุตร เริ่มต้นจากอาคารของ กทม. และขยายผลไปยังเอกชน 4) ลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ พร้อมผลักดันแนวทาง “บ้านใกล้งาน” 5) ร่วมพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ส่งเสริมระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ และให้ความรู้ด้านการออมเงิน 6) พัฒนาศูนย์ฝึกอาชีพที่เหมาะสมกับผู้หญิงแต่ละช่วงวัย พร้อมจับมือกับภาคเอกชนผลักดันผู้หญิงเข้าสู่ตลาดงาน

ดร.ยุ้ย กล่าวว่า ปัจจุบันมีประชากรหญิงใน กทม. กว่า 2.9 ล้านคน หรือร้อยละ 53 ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าประชากรชาย โดยเป็นประชากรวัยเด็ก (0-14 ปี) ประมาณ 0.35 ล้านคน วัยแรงงาน (15-60 ปี) ประมาณ 1.8 ล้านคน และวัยสูงอายุ (มากกว่า 60 ปี) ประมาณ 0.66 ล้านคน ดังนั้น ถ้าเมืองสามารถปรับเปลี่ยนจุดอ่อนด้านความปลอดภัยและความไม่มั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจได้สำเร็จ ผลที่เกิดขึ้นไม่เพียงทำให้ผู้หญิงกล้าใช้ชีวิตในเมืองได้อย่างมีคุณภาพ แต่ยังช่วยส่งเสริมศักยภาพของเมืองได้ในระยะยาวอีกด้วย ในโอกาสวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2565 ดร.ยุ้ย ขอส่งกำลังใจให้ผู้หญิงทุกคน และเชื่อมั่นว่านโยบาย “เมืองน่าอยู่เพื่อผู้หญิง” ของทีมเพื่อนชัชชาติทั้ง 9 แนวทาง จะช่วยให้ผู้หญิงมีความปลอดภัยและความมั่นคงในชีวิตอย่างแท้จริง