ล่ารายชื่อคนดังนานาชาติเรียกร้องจุฬาฯ ยกเลิกคำสั่งลงโทษ เนติวิทย์

เมื่อวันที่ 6 กันยายน เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า ได้มีการล่ารายชื่อคนดังนานาชาติเพื่อเรียกร้องให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกเลิกคำสั่งลงโทษนิสิตทั้ง 8 คน รวมทั้งนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

โดยในแถลงการณ์ดังกล่าว ได้เรียกร้องให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยกเลิกคำสั่งลงโทษที่ไม่เป็นธรรมต่อนิสิตทั้ง 8 คน เพื่อเห็นแก่สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามมาตรฐานสากล ขณะที่จุฬาลงกรณ์ฯ ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีลงโทษนิสิตยืนยันเคารพความเห็นต่าง และกระบวนการลงโทษเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง

ในแถลงการณ์ที่นักวิชาการต่างชาติร่วมลงนามระบุว่า “การลงโทษที่ไม่เป็นธรรมต่อเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และนักศึกษาคนอื่น ๆ ต้องถูกยกเลิก”

ล่าสุด จนถึงเวลานี้ 23.00 น. ของวันที่ 6 กันยายน มีจำนวนนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว และ นักเขียนที่เข้าร่วมลงชื่อในข้อเรียกร้องต่อจุฬาฯ มีกว่า 100 คน ในจำนวนนั้น มีศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 20 คน รวมทั้ง ศ. ชอมสกี จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา

บีบีซีไทยสอบถามถึงเหตุผลที่ให้การสนับสนุนนายเนติวิทย์ ศ. นอม ชอมสกี นักปรัชญา และนักวิชาการชื่อดังของสหรัฐฯ ตอบว่า “ผมได้รับข้อมูลจากชาวไทยที่เห็นต่างและผู้ที่มีความน่าเชื่อถือจำนวนมาก และจากรายงานข่าว ทำให้ผมรู้สึกว่านั่นเพียงพอแล้วที่จะคัดค้านการลงโทษที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นเรื่องธรรมดาและจำเป็นซึ่งคนทำกันทั่วโลก”

ก่อนหน้านี้ศ. นอม ชอมสกี เคยส่งจดหมายให้กำลังใจเนติวิทย์มาแล้ว ในช่วงที่ทางจุฬาฯ ตั้งกรรมการสอบสวนเขาและนิสิตอีก 7 คน

แถลงการณ์ระบุเพิ่มเติมว่า “เรา, นักเคลื่อนไหว, นักเขียน, นักวิชาการ, และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ติดตามกรณีที่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8 คน ซึ่งเดินออกจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้าเป็นนิสิตจุฬาฯ เพื่อถวายความเคารพพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ในรูปแบบที่ต่างออกไป เราเห็นว่า การกระทำของพวกเขาสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน ยิ่งไปกว่านั้น ทางจุฬาฯ ควรเคารพการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมถึงการแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ”

ในแถลงการณ์ระบุว่า นิสิตทั้ง 8 คนถูกลงโทษด้วยการตัดคะแนนความประพฤติ และ 5 คน ในจำนวนนี้ซึ่งเป็นสมาชิกของสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องถูกปลดจากตำแหน่ง การตัดคะแนนความประพฤติดังกล่าว ทำให้นิสิตทั้ง 8 คนไม่สามารถเป็นตัวแทนของสภานิสิตจุฬาฯ หรือมีบทบาทอื่นใดอย่างเป็นทางการของทางมหาวิทยาลัยในอนาคตด้วย

“เราประณามการลงโทษนิสิตทั้ง 8 คนของทางมหาวิทยาลัย การลงโทษนี้ส่งผลให้เกิดการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ทั้งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองและสังคมไทย ดังนั้นเราจึงขอเรียกร้องในนามของนิสิตเหล่านี้ให้มีการนิรโทษกรรมและขอให้มหาวิทยาลัยเพิกถอนการลงโทษทางวินัยด้วย”

นายเฮนรี ฮาร์ดี วิทยาลัยวอล์ฟสัน มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า “ผมลงนามเพราะเขา [เนติวิทย์] ขอให้ผมทำ ผมรู้แต่เพียงสิ่งที่เขาบอกผม สิ่งที่เขียนอยู่ในวิกิพีเดีย” นอกจากนี้ยังแนบลิงก์ข่าวที่ทำให้รู้จักเนติวิทย์มากขึ้นและทำให้ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งเป็นการให้สัมภาษณ์นิตยสารไทมส์ของนายเนติวิทย์ และรายงานข่าวของเว็บไซต์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

นายฮาร์ดี ระบุในอีเมลว่า “ผมไม่มีแหล่งข้อมูลอิสระที่ตรวจสอบความถูกต้องของรายละเอียดเหล่านี้” แต่นายฮาร์ดีระบุว่าเคยติดต่อกับนายเนติวิทย์มาก่อนในช่วงที่นายเนติวิทย์ขออนุญาตนำบทความไปแปลเป็นภาษาไทย

ในแถลงการณ์เรียกร้องให้จุฬาฯ ยกเลิกการลงโทษที่ไม่เป็นธรรมต่อนิสิต 8 คน มีการอ้างอิงคำพูดของผู้ลงชื่อสนับสนุนหลักหลายคนที่กล่าวถึงนายเนติวิทย์ด้วย

ศ. เพอร์รี ลิงก์ ด้านเอเชียตะวันออกศึกษาของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน กล่าวว่า “เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และเพื่อนนิสิต กำลังใช้สิทธิมนุษยชนอันเป็นสากล ซึ่งควรได้รับการเคารพและสนับสนุนจากทั้งโลก”

ด้านอาชีส นานดี้ นักทฤษฎีสังคม และเป็นผู้ที่ติดอยู่ในผลการสำรวจปัญญาชนสาธารณะ 100 อันดับแรกของนิตยสารนโยบายต่างประเทศ กล่าวว่า “ไม่มีมหาวิทยาลัยใดเป็นมหาวิทยาลัยได้อย่างเต็มรูปแบบ หากนักศึกษาไม่มีสิทธิ์เห็นต่างและคัดค้าน”

ขณะที่ศ. ลอว์เรนซ์ เอ็ม เคราส์ จากวิทยาลัยการสำรวจอวกาศและพื้นโลก มหาวิทยาลัยอริโซนา กล่าวว่า “ประเทศไทยจะต้องพึ่งพาคนรุ่นใหม่อย่างคุณ เพื่อรักษาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศ และนำไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น”

ด้านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเพิ่มเติมกรณีเนติวิทย์ ระบุกรณีลงโทษนิสิตยืนยันเคารพความเห็นต่าง และกระบวนการลงโทษเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง อ่านเนื้อข่าว แถลงการณ์จุฬาฯ ชี้แจงเพิ่มเติมกรณีเนติวิทย์