กม.เลือกตั้ง : ‘ชลน่าน’ ชี้ พรป. ส.ส.ผ่านแน่ อีกร่างมีถกหนัก ‘ชวน’ ไม่ห่วงองค์ประชุมล่ม เชื่อ ส.ว.มาพรึ่บ

‘ชลน่าน’ เชื่อ กม.ลูกเลือกตั้ง ส.ส.ผ่านแน่ อีกร่างต้องถกหนัก ประเด็นยุบพรรค ปมครอบงำ-ชี้นำ ประธานชวน ไม่กังวลปัญหาองค์ประชุม ถกกฎหมายลูก ชี้ ส.ว.มาพร้อมเพรียง เผยไม่จำเป็นต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญ วาระ 2 เข้าเดือน พ.ค.เลย

 

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 เมื่อเวลา 11.15 น. ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณากฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งในการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์นี้ว่า สิ่งที่สมาชิกรัฐสภาต้องร่วมกันพิจารณาคือจะรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่ ซึ่งร่างนี้ไม่น่าจะมีปัญหา

ส่วนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ร่างนี้มีความจำเป็นต้องแก้ เพราะรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนจำนวน ส.ส. ส.ส.บัญชีรายชื่อจากเดิม 100 คน มาเป็น 150 คน โดยอะไรที่เขียนไว้ว่า 150 ก็ต้องแก้ ส่วนประเด็นองค์ประกอบอื่นๆ ก็แล้วแต่สมาชิกที่สนใจว่าจะแก้ประเด็นอะไร ก็จะถือโอกาสแก้มาในรอบนี้ด้วย จึงมีหลักการที่หลากหลายมาก บางร่างมีหลักการถึง 31 จุด บางร่าง 17-18 จุด ซึ่งรัฐสภาอาจจะพิจารณารวมกันแล้วลงมติทีละร่างหรือไม่ ซึ่งบางร่างอาจจะไม่ถูกรับหลักการ หรือรับหลักการรวมกัน ซึ่งก็จะมีประเด็นที่จะเข้าสู่การพิจารราในวาระ 2 ค่อนข้างมาก

เมื่อถามว่า ทำใจไว้หรือไม่ว่าร่างของพรรค พท.ที่เสนอไปอาจจะไม่ผ่านรับหลักการ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมาก เราพยายามจะชี้แจงหลักการและเหตุผลที่เราเสนอให้มากที่สุด เพราะถือว่าเป็นประโยชน์กับพรรคการเมือง เพราะร่างประกอบรัฐธรรมนูญที่เขียนออกมามีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ที่ทำให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองมีปัญหามาก ประเด็นที่หลายพรรคเห็นว่าต้องแก้ เช่น มาตราที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคการเมือง โดยเฉพาะมาตราที่ 28 มาตรา 29 เพราะหลายพรรคถูกยุบไปแล้วด้วยมาตรานี้ ด้วยข้อหาควบคุม หรือครอบงำพรรคการเมืองทำให้ถูกยุบพรรค แค่ในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าให้พรรคการเมืองทำงานอิสระ ปราศจากการครอบงำ หรือชี้นำจากคนที่ไม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญให้เพียงแต่ว่าให้ความเป็นอิสระในการทำกิจกรรมทางการเมือง

นพ.ชลน่านกล่าวว่า แต่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ออกมารองรับนั้นเขียนกว้าง เฉพาะการตีความเรื่องการครอบงำ หรือชี้นำจึงเป็นปัญหามาก และเมื่อมีคนให้ข้อเสนอแนะมาแล้วพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหยิบเอาไป โดยความยินยอมของกรรมการบริหารพรรคที่จะเอาสิ่งเหล่านั้นมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาแล้ว เอาไปเป็นกิจกรรมทางการเมือง ก็จะถูกเอาไปเป็นประเด็นถูกครอบงำพรรคได้ ทั้งที่เป็นประโยชน์กับพรรคการเมือง และการดำเนินโดยไม่ถูกคุกคามเรื่องความเป็นอิสระ หรือการยินยอมให้กระทำ ซึ่งหลายพรรคเห็นว่าเป็นการตีความกำกวม และร่างที่เสนอมาหลายฉบับเสนอมาให้ยกเลิกมาตรา 28, 29 เลย

“พรรคเพื่อไทยโดยผมถูกกล่าวหาว่าสอดไส้กระทำเพื่อคนใดคนหนึ่ง ต้องขอเรียนว่าเจตนารมณ์ของเรา การที่บัญญัติไว้อย่างนี้ในวรรค 1 เราไม่แตะเลย พรรคการเมืองยินยอมให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมืองไปชี้นำครอบงำ ครอบคลุมกิจกรรมของพรรคการเมือง โดยทำให้พรรคการเมืองไม่เป็นอิสระ หรือสมาชิกไม่เป็นอิสระเราคงไว้ทุกอย่าง

แต่ขยายความในวรรค 2 ว่ากิจกรรมในวรรค 1 ไม่ได้ครอบคลุมถึงการชี้นำ ชี้แนะให้คำปรึกษาจากบุคคบลภายนอกที่เป็นใครก็ได้ที่เป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองนั้น เราบอกว่าไม่ควรจะครอบคลุมเท่านั้นเอง โดยเขียนให้ชัดขึ้นเพื่อป้องกันการตีความ เช่น ถ้ามีนักวิชาการคนหนึ่งที่เราเชิญมา แล้วเขาชี้นำเราว่าควรทำอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเชิญมาเยอะมาก และเรานำไปพิจารณาประกอบจัดทำเป็นนโยบาย

บุคคลเหล่านี้หากถูกนำไปตีความว่าเป็นบุคคลภายนอกและถูกชี้นำโดยเราขาดอิสรภาพก็ถูกยุบพรรคทันที ซึ่งไม่เป็นธรรมกับการพัฒนาด้านวิชาการ การเมืองและพรรคการเมืองจะถูกกลั่นแกล้งได้ ดังนั้น ต้องการแก้ปัญหาไม่อยากให้พรรคการเมืองถูกกลั่นแกล้ง

“ถ้าควบคุม ครอบงำชัดแจ้งเราไม่ว่า เพราะหลายพรรคถูกยุบพรรคด้วยเรื่องนี้ ขนาดไม่เขียนตรงๆ เช่น เรื่องเงินบริจาค หากเกิน 10 ล้าน ก็ตีความว่าพรรคถูกครอบงำแล้วถูกยุบพรรค ซึ่งไม่เป็นธรรม ดังนั้น ต้องดูพฤติกรรมและกิจกรรมที่เขาทำด้วยว่าขาดความเป็นอิสระหรือไม่” นพ.ชลน่าน กล่าว

ขณะที่ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ในวันที่ 24-25 ก.พ.นี้ว่า ตัวแทนทั้ง 3 ฝ่าย คือ วุฒิสภา ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน หารือร่วมกันแล้ว โดยจะพิจารณาให้จบใน 2 วัน ฝ่ายละไม่เกิน 6 ชั่งโมง เมื่อถึงเวลาจริงๆ การพิจารณาอาจจะเสร็จสิ้นเร็วได้ ซึ่งต้องดูว่าผู้อภิปรายมีจำนวนเท่าไร แต่กำหนดเวลาไว้ไม่เกินวันที่ 25 ก.พ.

ทั้งนี้ จะพิจารณาไปทีละเรื่อง คือร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 4 ฉบับ และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จำนวน 6 ฉบับ และลงมติทีละเรื่อง และตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ว่าจะใช้กมธ.ชุดเดียวกันหรือแยกพิจารณา

เมื่อถามว่าหากมีปัญหาเรื่ององค์ประชุม จะเกิดผลกระทบกับกฎหมายลูกหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า เป็นการประชุมร่วมรัฐสภา ฉะนั้น ปัญหาองค์ประชุมร่วมจะน้อย เพราะส.ว.จะมาพร้อมเพรียงกัน

เมื่อถามย้ำว่าเมื่อ กมธ.พิจารณากฎหมายลูกเรียบร้อยแล้ว สามารถเปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อพิจราณาวาระ 2-3 หรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนเศษที่ปิดสมัยประชุม กมธ.จะพิจารณา ฉะนั้น เมื่อเปิดสมัยประชุมเดือนพ.ค. น่าจะพิจารณาวาระ 2 ได้ จึงไม่จำเป็นต้องเปิดสมัยวิสามัญ ทั้งนี้ เดิมกลัวว่าจะไม่ทัน แต่เมื่อรัฐบาลรับรองกฎหมาย พ.ร.บ.การเงิน ทั้งหมดส่งมา จึงพิจารณาได้ทันในช่วงสมัยประชุมนี้ จึงไม่จำเป็นต้องเปิดสมัยประชุมวิสามัญ