สื่อญี่ปุ่นชี้ รัฐบาลไทยยกระดับเซ็นเซอร์บนโลกออนไลน์ หวังคุมแบบเบ็ดเสร็จ

นิคเคอิ เอเชี่ยน รีวิว เว็บไซต์วิเคราะห์ข่าวสารทางเศรษฐกิจและการเมืองโลกของญี่ปุ่น ได้ออกบทวิเคราะห์เมื่อวานนี้ (1 กันยายน) ถึงสถานการณ์การเซ็นเซอร์บนโลกออนไลน์ของรัฐบาล คสช. ที่กำลังเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น หลังจากเกิดกรณีล่าสุดอย่าง นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งเคยถูกเรียกตัวเข้าค่ายทหารมาแล้ว 2 ครั้ง แต่คราวนี้มันจะเป็นครั้งแรกที่ถูกกล่าวหาในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท.เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม ที่เป็นเหมือนดั่งเอางานวรรณกรรมของจอร์จ ออร์เวล อย่าง 1984 มาอยู่บนโลกของความจริง ที่สะท้อนถึงการเซ็นเซอร์ภายใต้กฎของทหาร

“นี่เป็นครั้งแรกของผมที่ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นอาชญากร” นายประวิตรกล่าวขณะยกมือที่นิ้วเปื้อนหมึกจากการพิมพ์ลายมือให้กับช่างภาพ

แต่หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา นายประวิตร ต้องกลับไปหาตำรวจไซเบอร์อีกครั้ง เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในคดีที่ 2 จากการโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นทางการเมือง วิจารณ์รัฐบาลทหาร คสช.ลงบนเฟซบุ๊ก ซึ่งปัจจุบันมีผู้กดติดตามแล้ว 24,500 คน ทั้งนี้ ความผิดในมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นมีโทษจำคุก 14 ปี ซึ่งนายประวิตรกล่าวว่า นี่คือราคาที่ผมต้องจ่ายจากการวิจารณ์รัฐบาลทหาร

นับตั้งแต่ คสช.ก่อการัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2557 จำนวนการตั้งข้อหามาตรา 116 กับผู้เห็นต่างมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยสัปดาห์ที่จะมีการเรียกนายประวิตรเข้าพบตำรวจ 2 อดีตรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดก่อนอย่างนายพิชัย นริพทะพันธุ์และนายวัฒนา เมืองสุข ถูกตั้งข้อหาจากการใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความวิจารณ์สภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผบ.ทบ.ที่กลายเป็นผู้นำก่อการรัฐประหารและกลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

จากข้อมูลของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ระบุว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารครั้งล่าสุด มีการตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นกับประชาชนแล้ว 60 คน เพื่อหวังปิดปากด้วยมาตรการสร้างความกลัว โดยผู้ถูกกล่าวหาในข้อหานี้ มีตั้งแต่การออกแถลงการณ์บนโลกออนไลน์จนถึงโปรยใบปลิวต่อต้านการรัฐประหารและรัฐบาล คสช. การสร้างเฟซบุ๊กล้อเลียนพล.อ.ประยุทธ์ หรือแม้แต่การมอบดอกไม้ให้กับนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่เดินขบวนอย่างสันติ ซึ่งสหพันธ์นานาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า หลายกรณีที่เกิดขึ้นและนำไปสู่การตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นนั้นเกิดจากความกระตือรือร้นและไม่สามารถอธิบายได้ในบางครั้งในการใช้มาตรา 116

ไม่เพียงเท่านี้ รัฐบาล คสช. ยังทำเพิ่มในการฟ้องข้อหา มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งมีโทษสูงสุดถึง 15 ปี ตามข้อมูลของสำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติระบุว่า มีคนไทยเกือบ 290 คนถูกสอบสวนด้วยข้อหาดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึง 2559 ส่วนองค์กรสิทธิมนุษยชนอีกกลุ่มกล่าวว่า มีคนไทยถึง 90 คนถูกจับกุมด้วยข้อหามาตรา 112 นับตั้งแต่ คสช.ขึ้นมามีอำนาจ และมีถึง 45 คนที่ถูกตัดสินให้จำคุกซึ่งสูงสุดถึง 35 ปี แต่ในอีกด้านก่อนที่จะมีการรัฐประหาร 2557 มีคนไทย 6 คนถูกจับในความผิดตามมาตรานี้แล้ว

นายประวิตรกล่าวว่า ด้วยทั้งมาตรา 112 และ 116 นี้ รัฐบาล คสช.ได้นำเฟซบุ๊กมาสู่ความพยายามที่จะเซ็นเซอร์ กับโซเชียลมีเดียที่มีผู้เล่นเป็นชาวไทยมากถึง 47 ล้านคน โดยในจำนวนเหล่านี้ซึ่งมีกว่าร้อยคน ได้ใช้เฟซบุ๊กในแสดงคิดเห็นทางการเมืองหลังการรัฐประหาร รวมถึงการส่งข้อความต่อต้านรัฐบาลทหารและกดไลท์กับโพสต์ที่วิพากษ์วิจารณ์ โซเชียลมีเดียได้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ แต่สำหรับรัฐบาล คสช. มันคือแดนเถื่อนที่จะต้องควบคุมให้อยู่หมัด

ขณะที่ พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า เฟซบุ๊กไม่ได้เป็นภัย แต่เนื้อหาในเฟซบุ๊กต่างหากที่เป็น โซเชียลมีเดียเป็นบางสิ่งที่เราต้องรับมืออย่างเหมาะสม และผู้ที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงของชาติจะเป็นผู้ตัดสิน

นอกจากนี้ ในการควบคุมเนื้อหาบนโซเชียลมีเดีย กสทช.ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐด้านโทรคมนาคม ยังได้ร้องขอให้เฟซบุ๊กลบเนื้อหาที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งเฟซบุ๊กได้ลบไปเพียงบางส่วน โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาฯกสทช.ระบุว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนกรกฎาคม เฟซบุ๊กได้ลบเนื้อหาใน URLs ไป 1,039 จากทั้ง 2,556 URLs อีกทั้ง ยังมีความพยายามดึงเฟซบุ๊กเข้าลงทะเบียนกับกฎเกณฑ์ของ กสทช.ในฐานะส่วนหนึ่งของ โอทีที หรือการบริการบนโลกอินเตอร์เน็ต ไม่เช่นนั้นจะต้องสูญเสียรายได้ ซึ่งสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช.กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กสทช.ไม่ได้สนใจจัดระเบียบเฟซบุ๊ก เพราะรู้ว่าตัวเองไม่มีอำนาจที่จะทำเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะควบคุมได้กลายเป็นประเด็นทางการทูตระหว่างสหรัฐฯกับไทย โดยหน่วยงานของผู้แทนทางการค้า การพัฒนาและการลงทุน ได้แสดงความกังวลต้องการระเบียบอันเข้มงวดนี้ และจะนำไปเป็นประเด็นหารือในการเจรจาทวิภาคีไทย-สหรัฐฯ ซึ่งแหล่งข่าวของทางการไทยยืนยันว่า ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯมีความเห็นต่อเรื่องที่ กสทช.จัดระเบียบ โอทีที ที่เข้มขึ้น

แต่รัฐบาลทหารยังมีเครื่องอีกชิ้นที่สามารถปิดปากคนไทยบนโลกไซเบอร์อย่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่ให้อำนาจในการเซ็นเซอร์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 14 ของพรบ.คอมพ์ ที่ขยายการตีความกว้างขึ้นจนไปลิดรอนสิทธิ ซึ่งนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ระบุว่า กฎหมายใหม่ได้เพิ่มแรงกดดันไปยังผู้ให้บริการหรือผู้ดูแลแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ต้องลบเนื้อหาที่ละเมิดกฎหมาย ซึ่งนำไปสู่การเซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น บวกกับการตั้งศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก และการลงทุนซอฟต์แวร์ในการสอดส่องข้อมูลบนโลกออนไลน์มูลค่า 128 ล้านบาทของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้อนุมัติในการสร้างศูนย์ข้อมูลเพื่อสอดส่องความเคลื่อนไหวแล้ว

“ศูนย์แห่งนี้จะสอดส่องเนื้อหาบนสื่อออนไลน์ที่เป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อย” คิงสลีย์ แอ็บบ็อต ที่ปรึกษาอาวุโสด้านกฎหมายระหว่างประเทศของคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล หรือไอซีเจ กล่าว

ทั้งนี้ นายพอล แชมเบอร์ นักวิชาการด้านความมั่นคงของมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ความต้องการของรัฐบาลทหาร คสช.ที่จะควบคุมโลกไซเบอร์ ถูกวางเป็นพิมพ์เขียวในการเข้าควบคุมโลกของสื่อใบใหม่ ซึ่งประจวบกับที่ความปรารถนาที่่ทหารจะยึดอำนาจไว้กับตัวเองนานๆ รัฐบาล คสช. ไม่ต้องการทิ้งปฏิบัติการสงครามบนไซเบอร์ไปตกอยู่กับมือรัฐบาลอื่น ซึ่งอาจทำให้การควบคุมบนโลกไซเบอร์ของทหารต้องอ่อนแอ

ที่มา : Nikkei Asian Review