สื่อเทศชี้ ‘ยิ่งลักษณ์’ ออกนอกประเทศ ดีต่ออำนาจ คสช.

ข่าวการเดินทางออกนอกประเทศ ก่อนวันตัดสินคดีจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ยังคงเป็นเรื่องที่สื่อและสาธารณชนให้ความสนใจ เกาะติดความเคลื่อนไหวทั้งบ้านพักของน.ส.ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย พร้อมกับข้อสงสัยถึงการเดินทางออกจากประเทศไทยโดยที่ไม่ถูกพบเห็น และจนถึงขณะนี้ ความเคลื่อนไหวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ยังคงถูกเปิดเผยผ่านบุคคลที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์เองว่าตอนนี้อยู่ที่ใด แต่สื่อต่างชาติได้ออกมาวิเคราะห์ว่า การตัดสินใจของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ส่งผลต่อบรรยากาศทางการเมืองและสังคมไทยอย่างมาก และทำให้ รัฐบาล คสช.และกลุ่มเครือข่ายสนับสนุน ไร้คู่ตรงข้ามทางการเมืองที่มีอิทธิพลต่อประชาชนแล้ว

โดยสำนักข่าวเอพีของสหรัฐฯ ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี นับเป็นคู่ตรงข้ามคนสำคัญของรัฐบาลทหาร คสช. ที่เป็นเสี้ยนหนามกับรัฐบาล ไม่ว่ายังไง การตัดสินคดีจำนำข้าวเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มผู้สนับสนุนน.ส.ยิ่งลักษณ์มองว่ามีแรงจูงใจทางการเมือง เพราะโทษจำคุก 10 ปี ในคดีที่ฐานปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่าหมื่นล้านบาท จะทำให้น.ส.ยิ่งลักษณ์กลายเป็นผู้สละชีพ และกรุยทางไปสู่สมัยของกลียุคและการประท้วงครั้งใหญ่ แม้แต่การให้น.ส.ยิ่งลักษณ์พ้นความผิดจะทำให้เธอกล้าได้กล้าเสียและอิสระที่จะท้าทายรัฐบาล คสช.ได้

อย่างไรก็ตาม ยิ่งลักษณ์กลับเลือกหนทางที่คาดไม่ถึง นั่นคือไม่ปรากฎตัวที่ศาลในวันตัดสินคดี โดยจากคำกล่าวของสมาชิกพรรคเพื่อไทยระบุว่า ได้ลี้ภัยออกนอกประเทศ ซึ่งยังไม่ยืนยันได้ว่าไปประเทศใด แต่สื่อของไทยได้รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวของทางการที่ไม่เปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินทางข้ามแดนไปกัมพูชาแล้วบินต่อไปยังนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สมทบกับนายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรีและพี่ชายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ และผลลัพธ์ดังกล่าว กลายเป็นชัยชนะอันแจ่มชัดของรัฐบาล คสช. การลี้ภัยของยิ่งลักษณ์จะคุกคามน้อยลง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าปัญหาการเมืองไทยจะจบแล้ว

นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และผู้อำนวยการสถาบันความมั่นคงและต่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า สำหรับตอนนี้ บรรดาผู้ต่อต้านตัวแทนทักษิณจะพอใจที่จะเห็นยิ่งลักษณ์กลับมา แต่ประเทศไทยยังคงแตกแยก และยังคงเป็นเช่นนี้ให้เห็นว่า รัฐบาลทหารและผู้สนับสนุนจะได้รับบทเรียนที่ถูกต้อง ซึ่งก็คือการตื่นของมรดกของทักษิณในส่วนของสังคมไทยที่ถูกละเลยซึ่งต้องร่วมมือกันและรวมกันเป็นหนึ่ง หากกองทัพล้มเหลวที่จะเอาใจฝ่ายตรงข้าม ชัยชนะในวันนี้สามารถแปรเป็นความพ่ายแพ้ในระยะยาวจากความคับข้องใจที่สะสมและระเบิดลงตรงพื้นถนน

แม้การดำเนินคดีจะเป็นบทสุดท้ายของการต่อสู้ยาวนับสิบปีระหว่างชนชั้นนำส่วนน้อยของประเทศกับเครื่องจักรทางการเมืองอันทรงพลังที่ทักษิณสร้างขึ้น ที่เผยให้เห็นการต่อสู้ของสังคมไทยระหว่างก้นบึ้งอันยากจนข้นแค้นของมวลชนภาคเหนือที่สนับสนุนตระกูลชินวัตรกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม กองทัพและมวลชนในกรุงเทพฯและภาคใต้

แม้ลี้ภัยไปอยู่ดูไบมาหลายปี แต่ทักษิณยังคงมีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อไทย ความนิยมในตัวทักษิณช่วยยิ่งลักษณ์ชนะจนกลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย อย่างไรก็ตาม ทักษิณมีภาพลักษณ์ที่แตกแยกและอิทธิพลได้จางหาย หลังการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งที่จะทำให้ทักษิณกลับมา ร่างกฎหมายดังกล่าว จุดชนวนการประท้วงที่นำไปสู่การรัฐประหารปี 2557 นับตั้งแต่นั้น ทักษิณได้เก็บตัวเงียบ แน่นอนว่าเพื่อปกป้องยิ่งลักษณ์และหลีกเลี่ยงความตึงเครียดคุกรุ่น

ด้านนางพวงทอง ภวัครพันธุ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า สิ่งนี้อาจเป็นจุดสิ้นสุดของการนำพรรคการเมืองของตระกูลชินวัตร จึงเป็นไปได้ว่าจะไม่มีบุคคลที่สามของตระกูลนี้ที่จะกล้าพอเข้าสู่การเมืองแลกกับการเอาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีเข้าไปเสี่ยง

ส่วนนายโคทม อารียา นักวิชาการและนักวิจาณ์สังคมกล่าวว่า เพื่อมีชีวิตรอดในอนาคต พรรคการเมืองจะต้องจับมือร่วมกับกองทัพ และไม่เห็นด้วยเรื่องมรดกทางการเมืองของตระกูลชินวัตรที่ มันไม่ใช่ว่าคุณจะใช้ยางลบเขี่ยพวกเขาออกจากสังคมได้ง่าย แต่อย่างน้อยในตอนนี้ กองทัพยังคงเข้มแข็งในการกุมอำนาจ และฝ่ายตรงข้ามเหลือตัวเลือกไม่มาก เพราะรัฐบาล คสช. ยังคงใช้คำสั่งห้ามชุมนุมเกินห้าคนและจัดการกับผู้เห็นต่างที่ส่งเสียง

ขณะที่นายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ์ โฆษกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.กล่าวว่า การออกนอกประเทศของยิ่งลักษณ์ไม่ได้ทำให้การต่อสู้ของพวกเขาสิ้นสุดลง โดยนายวรวุฒิกล่าวว่า สิ่งที่เราควรต้องหาไม่ใช่ใครเป็นพิเศษ แต่เป็นประชาธิปไตยต่างหาก

มาต่อกันที่ สำนักข่าวรอยเตอร์สได้วิเคราะห์ว่า บรรดานายทหารของไทยอาจวางแผนอะไรได้ยาก เพราะการเดินทางออกนอกประเทศของยิ่งลักษณ์ก่อนศาลตัดสินคดีจำนำข้าว ได้ทิ้งการเคลื่อนไหวแบบประชานิยมที่มีอิทธิพลนำต่อการเมืองไทยมานานให้ไร้ผู้นำและสิ้นหวัง และหมายถึงยิ่งลักษณ์จะไม่กลายเป็นผู้สละชีพที่ถูกจำคุกจากนโยบายจำนำข้าวหรือได้รับโทษเล็กน้อยที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามอันนำอึดอัดว่าทำไมทหารถึงก่อการรัฐประหารยึดอำนาจยิ่งลักษณ์เมื่อปี 2557

ทว่าสิ่งที่ไม่ได้ทำคือทำลายฐานอำนาจของตระกูลชินวัตร ซึ่งก็คือมวลชนสนับสนุนที่ส่วนใหญ่ยากจนและเป็นชาวต่างจังหวัดที่ทำให้ตระกูลชินวัตรชนะการเลือกตั้งทุกครั้งมาตั้งแต่ปี 2544

สมาชิกระดับสูงของพรรคเพื่อไทยที่ไม่เปิดเผยชื่อกล่าวว่า พรรคยังไม่มีผู้นำตัวจริงในตอนนี้ ไร้ยิ่งลักษณ์พรรคก็ไร้หัวขบวน เพราะไม่มีใครที่มีคนนิยมขึ้นเป็นผู้นำได้

รอยเตอร์สระบุอีกว่า มันคงเป็นเรื่องยากหากยิ่งลักษณ์ถูกตัดสินให้จำคุกจากความผิด แต่เรือนจำจะทำให้เธอเป็นดาวเด่นทรงพลังทั้งในประเทศและต่างแดน แต่เมื่อเธอตัดสินใจออกนอกประเทศทำให้เธอไม่ได้เป็นเหมือนกับนางอองซาน ซูจีที่ถูกกักบริเวณยาวหลายปี

“สิ่งนี้จะช่วยทำให้รัฐบาล คสช.มั่นใจมากขึ้น เพราะพวกเขาไม่ต้องจับยิ่งลักษณ์เข้าคุกแล้ว” นายฐิตินันท์ กล่าว

ส่วนพล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค โฆษกรัฐบาลปฏิเสธให้ความเห็นในเรื่องยิ่งลักษณ์ไม่มาศาล

จากเรื่องดังกล่าว ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ รัฐบาล คสช.ทราบว่ายิ่งลักษณ์อาจยื่นขอประกันตัว แต่ความสงสัยในหมู่ผู้สนับสนุนของยิ่งลักษณ์ต่อการเดินทางออกนอกประเทศกลับเป็นเรื่องเหมาะสำหรับรัฐบาล คสช.

“เธอถูกทางการจับตาแบบใกล้ชิด จึงเป็นไปไม่ได้ที่เธอจะเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือ” นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์ แกนนำ นปช. กล่าว

ภาพมวลชนผู้สนับสนุนที่ถือกุหลาบและรวงข้าวในวันที่ยิ่งลักษณ์ปรากฎตัวต่อศาลก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นถึงแรงสนับสนุนของเธอยังเข้มแข็งทั้งที่มีการปราบปรามผู้เห็นต่างก็ตาม

ส่วนคนเสื้อแดงในภาคอีสานรู้สึกไม่ดี โดยผู้สนับสนุนยิ่งลักษณ์รู้สึกเห็นใจที่เธอตัดสินใจหนีออกนอกประเทศ แต่นั้นทำให้ไม่รู้ว่าใครจะมาแทนที่ยิ่งลักษณ์

“ฉันไม่ได้มีทักษะเรื่องนี้” นางมณฑาทิพย์ โกวิทเจริญกุล น้องสาวของยิ่งลักษณ์กล่าวกับสื่อเมื่อถามถึงผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์สวิเคราะห์ว่า นักการเมืองที่เป็นตัวแทนทักษิณยังไม่หายไปไหน นั้นอาจสร้างความยุ่งยากกับแผนการเลือกตั้งของกองทัพแม้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้อำนาจแล้ว ด้วยจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งแสดงให้เห็นกลุ่มคนยากจนซึ่งมีเสียงมากกว่าฐานเสียงหนุนชนชั้นนำและมวลชนกลุ่มคนเสื้อเหลือง

“ต่อให้พวกเขาวางสุนัขเป็นผู้สมัครในภาคอีสาน ก็คงชนะการเลือกตั้ง” ผู้นำท้องถิ่นในจังหวัดอุดรธานี กล่าว

ขณะที่ นายพอล แชมเบอร์ นักวิชาการไทยศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวรมองว่า หลังจากยิ่งลักษณ์ออกนอกประเทศ ฐานเสียงผู้ยากจนในท้องถิ่นที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของชินวัตรจะเห็นอกเห็นใจมากขึ้น ถึงตอนนั้น ผู้นำพรรคเพื่อไทยอีกคนจะปรากฎตัวอีกไม่นาน