อนามัยโลก ส่งทีมชุดใหม่ เข้าสืบสวนต้นตอโควิด-19 เปรยอาจเป็นโอกาสสุดท้าย

วันที่ 14 ตุลาคม 2564 บีบีซีและเดอะการ์เดี้ยนรายงานว่า องค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่าจะทำการส่งทีมนักวิทยาศาสตร์ชุดใหม่จำนวน 26 คนซึ่งเป็นชุดทำงานสอบสวนต้นตอการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงชี้ว่านี่อาจเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายในการล่วงรู้คำตอบที่ต้องการมากที่สุดในห้วงวิกฤตโรคระบาดใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 21

ทีมวิจัยที่ตั้งใหม่นี้จะถูกส่งเข้าไปด้วยหน้าที่สร้างกรอบการทำงานระดับโลกใหม่เพื่อการศึกษาเกี่ยวกับต้นกำเนิดของเชื้อโรคอุบัติใหม่ที่มีศักยภาพในการแพร่ระบาดและการระบาดใหญ่ – และการส่งกลับรวมถึง Sars-CoV-2 ไวรัสที่ทำให้เกิด Covid-19

มิเชล ไรอัน ผู้อำนวยการฝ่ายภาวะฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า นี่อาจถือเป็นโอกาสสุดท้ายในการเข้าใจต้นตอของไวรัสในรูปแบบการวิจัยระดับวิทยาลัย

โดยทีมวิจัยจำนวน 26 คน ที่ถูกเสนอชื่อมาจากการคัดเลือกตามความรู้จากผู้สมัครจำนวน 700 คน ซึ่งมีความหลากหลายสาขาวิชา ทั้งนี้ ทีมสืบสวนจะทำการสืบสวนในลักษณะการปรึกษาสาธารณะเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยตั้งอยู่บนเงื่อนไขเบื้องต้นว่า ทีมสืบสวนต้องให้ องค์การอนามัยโลก ประเมินผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และทางเทคนิคทั้งหมดที่มีอยู่อย่างอิสระ จากการศึกษาทั่วโลกเกี่ยวกับต้นกำเนิดของโควิด-19 นอกจากนี้ ยังต้องแนะนำหน่วยงานด้านสุขภาพของสหประชาชาติในการพัฒนา ติดตาม และสนับสนุนการศึกษาชุดต่อไปเกี่ยวกับต้นกำเนิดของไวรัส ซึ่งอาจรวมถึง “คำแนะนำอย่างรวดเร็ว” เกี่ยวกับแผนปฏิบัติการของ WHO เพื่อนำการศึกษาชุดต่อไปไปใช้กับต้นกำเนิดของการระบาดใหญ่ และคำแนะนำเกี่ยวกับการศึกษาเพิ่มเติม

ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นปี องค์การอนามัยโลก ได้ทำการตั้งคณะที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์สำหรับต้นกำเนิดของเชื้อก่อโรคใหม่ (Sago) ขึ้น โดยมาเรีย แวน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคไวรัสโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า Sago จะประเมินในทันทีว่าอะไรที่รู้แล้ว อะไรที่ยังคงไม่รู้ และอาจที่ต้องเร่งให้รู้โดยเร็ว ซึ่งตนคาดว่า Sago จะแนะนำการศึกษาเพิ่มเติมในจีนและที่อื่นที่เป็นไปได้ และไม่ใช่เวลาที่ต้องใช้อย่างสูญเปล่า

ขณะที่ท่าทีของจีนก็ออกมาตั้งแง่กับเรื่องนี้ด้วย โดยเฉิน ซวู ทูตจีนประจำยูเอ็น กล่าวว่า การทำงานของ Sago จะต้องไม่มีแนวโน้มไปในทาง “การเมือง”

“ถ้าเราจะส่งทีมไปที่อื่น ผมเชื่อว่าไม่ใช่จีนเพราะเราได้รับทีมจากต่างประเทศเข้ามาตรวจแล้วถึง 2 ครั้ง” ได้เวลาส่งทีมไปที่อื่นแล้ว” นายเฉิน กล่าว

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดขึ้นท่ามกลางความพยายามสืบหาต้นตอการระบาดในประเทศที่พบผู้ติดเชื้อชุดแรกในเมืองอู่ฮั่น แต่เมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา จีนได้ออกมาปฏิเสธคำขอขององค์การอนามัยโลกที่จะให้มีการสืบสวนต้อตอการระบาดในพื้นที่ของจีนอีกครั้ง

ทีโดรส เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า การเกิดขึ้นของไวรัสชนิดใหม่ที่มีศักยภาพในการจุดประกายการแพร่ระบาดและการระบาดใหญ่นั้นเป็นความจริงของธรรมชาติ และในขณะที่ Sars-CoV-2 เป็นไวรัสตัวล่าสุดดังกล่าว และไวรัสตัวนี้จะไม่ใช่ตัวสุดท้าย การทำความเข้าใจว่าเชื้อโรคใหม่มาจากไหน เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการระบาดในอนาคต

หลังจากล่าช้ามานาน ทีมสืบสวนนานาชาติขององค์การอนามัยโลกได้ถูกจัดตั้งขึ้นและเข้าจีนไปยังเมืองอู่ฮั่น เมื่อมกราคมที่ผ่านมา เพื่อนำไปสู่การจัดทำรายงานส่วนแรก โดยเขียนร่วมกับทางฝ่ายจีน จนรายงานออกมาเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอน นอกจาก 4 สมมติฐาน โดยสมมติฐานที่ถูกพูดมากที่สุดคือ การแพร่เชื้อไวรัสข้ามพงศ์พันธุ์จากสัตว์ป่าสู่คน หรือ Zoonotic Virus ผ่านสัตว์ที่เชื่อมโยง ส่วนสมมติฐานที่ว่าเชื้อไวรัสรั่วจากศูนย์วิจัยไวรัสวิทยาอู่ฮั่นถูกชี้ว่า “ไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่ง” อย่างไรก็ตาม ทีมสืบสวนชุดดังกล่าว ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในการขาดความโปร่งใสและการเข้าถึงข้อมูลที่จีนปิดกั้น อีกทั้งทฤษฎีเชื้อรั่วจากแล็ปยังไม่มีการตรวจสอบเชิงลึกด้วย