ลุงป้อม ช่วยเกษตรกรทั่วประเทศให้มีที่ดินทำกิน แก้หนี้นอกระบบ

ลุงป้อม ช่วยเกษตรกรทั่วประเทศให้มีที่ดินทำกิน แก้หนี้นอกระบบ เร่งพัฒนากฎหมายเพื่อประโยชน์ประชาชน

วันที่ 9 ตุลาคม 2564 พลตำรวจเอก เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. กล่าวว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล บจธ. มีความห่วงใยความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มว่าเกษตรกรและผู้ยากจนจะสูญเสียสิทธิในที่ดินทำกินสูงขึ้น จึงสั่งการให้ บจธ. ดำเนินการติดตามก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

โดย บจธ. ได้ดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรให้มีที่ดินทำกินไปแล้วจำนวน 482 ครัวเรือน พื้นที่ 1,234-2-17.7 ไร่ และโครงการแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิ์ในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน จากการจำนอง ขายฝาก และถูกบังคับคดี ได้มีที่ดินของตนเองกลับคืนมาแล้วจำนวน 334 ราย และในปี 2565 บจธ. ยังมีภารกิจที่สำคัญต้องผลักดันกฎหมายพระราชบัญญัติสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. …. ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อเป็นองค์กรที่สามารถสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ และช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนเรื่องที่ดินได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

นายกุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการ บจธ. เปิดเผย ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปี ตั้งแต่เริ่มดำเนินการ บจธ. เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่มีภารกิจที่สำคัญในการจัดหาและพัฒนาที่ดิน ปัจจุบัน บจธ. ได้เตรียมความพร้อมในกระบวนการเพื่อพิจารณาให้ช่วยเหลือในสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของพี่น้องเกษตรกรและชุมชน ให้พึ่งพาตัวเองได้ และแบ่งปันผู้เดือดร้อน โดยจะเห็นได้ว่าวิสาหกิจชุมชน 11 พื้นที่ และสหกรณ์การเกษตร 1 พื้นที่ ครอบคลุมทั้ง 4 ภาค (ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนือ) และในการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564

โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. …. และมอบหมายให้ บจธ. เสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. …. โดยมีภารกิจหลัก 3 ด้าน ดังนี้
1. การบริหารจัดการที่ดิน จะดำเนินเป็นรายกลุ่ม/วิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตร โดยยึดหลักการบริหารจัดการในรูปแบบแปลงรวม
2. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดิน จากการจำนอง ขายฝาก ซึ่งมีรูปแบบการดำเนินการที่แตกต่างกับรูปแบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน เน้นความยั่งยืนเป็นหลัก
3. การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ โดยบูรณาการประสานความร่วมมือ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เพื่อมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการที่ดิน โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับในปี 2565 บจธ. ได้วางแผนดำเนินโครงการตามภารกิจจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน 2) โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน 3) โครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และ 4) โครงการเพิ่มโอกาสเข้าถึงที่ดิน ซึ่งเป็น การช่วยเหลือต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา

โดยจะมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประสังคม และสถาบันการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาด้านที่ดินทำกินและช่วยเหลือในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมทั้งสนับสนุนส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้เต็มศักยภาพ ในส่วนของการผลักดันพระราชบัญญัติสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. …. ให้สำเร็จโดยเร็ว บจธ. ได้วางแผนในการสำรวจ/ทบทวนร่างกฎหมายลำดับรอง ตามร่างพระราชบัญญัติสถาบันบริหารจัดการที่ดินฯ และจัดประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำร่างกฎหมาย

ตลอดจนชี้แจงนโยบายและบทบาทภารกิจ ตามร่างพระราชบัญญัติสถาบันบริหารจัดการที่ดินฯ ให้กับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม และภาคส่วนต่างๆ หรือผู้มีส่วนได้เสียรับทราบ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรและผู้ยากจนว่าจะมีหน่วยงานที่จะมาช่วยแก้ปัญหาด้านที่ดินทำกินได้จริง โดยการมอบโอกาสในการเช่าที่ดินทำกิน ให้เกษตรกรมีอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัว และมีความความหวังที่จะมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ตลอดจน ช่วยเหลือเกษตรกรจากการเป็นหนี้นอกระบบ ที่เกิดจากที่ดินหลุดมืออีกด้วย