#45ปี6ตุลา : “จาตุรนต์” ชี้กว่า 4 ทศวรรษ ผู้มีอำนาจยังไม่ได้บทเรียน เตือนยิ่งใช้วิธีเดิม ยิ่งแตกแยกบานปลาย

วันที่ 6 ตุลาคม 2564 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในวาระครบรอบ 45 ปี เหตุสังหารหมู่นักศึกษา-ประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีผู้ชุมนุมที่ประกอบด้วยนักศึกษา-ประชาชน ถูกมวลชนขวาสุดโต่งจัดตั้งโดยรัฐและกำลังเจ้าหน้าที่ความมั่นคงใช้กำลังและอาวุธเข้าปราบ และนำไปสู่การกระทำอย่างทารุณโหดร้ายต่อผู้ชุมนุมที่มีชีวิตและตายแล้วว่า

“6 ตุลา : 45 ปีแล้วที่ผู้มีอำนาจยังไม่ได้รับบทเรียน”

เหตุการณ์ 6 ตุลาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวง ผมกล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ธรรมศาสตร์และสนามหลวงไม่สำคัญแต่กลับกันยังคงต้องศึกษา รำลึก และวิเคราะห์มาตลอด 45 ปี แต่ผมกำลังจะบอกว่าว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาเกิดทั่วประเทศ มีการปราบมีการฆ่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ชนชั้นนำหรือผู้มีอำนาจจัดการกับผู้ที่เห็นต่างโดยเฉพาะต่อนักศึกษาประชาชนที่เคลื่อนไหว และที่สำคัญนี่คือส่วนหนึ่งของแผนการที่จะทำรัฐประหาร และนำประเทศกลับไปเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ หรือประชาธิปไตยเสี้ยวเดียวต่อมาอีกหลายปี เพราะฉะนั้นในวันที่ 6 ตุลามีผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ จากการรัฐประหาร

วันนั้นผมเป็นนักศึกษาแพทย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และเป็นนายกสโมสรนักศึกษา ตอนจอมพลประภาสกลับมาเราก็เดินขบวนแล้วก็ชุมนุมทั้งในมหาวิทยาลัย แล้วก็ออกมาท่าแพ ต่อมาที่ศาลากลางเก่า พอถึงช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาเราชุมนุมที่หน้าศาลากลางเก่าหรือปัจจุบันคืออนุเสาวรีย์สามกษัตริย์

ตอนชุมนุมก็มีระเบิดมาโยนใกล้ๆบ้าง มีเสียงตูมตามตรงนั้นตรงนี้บ้าง พอตอนกลางคืนดึกๆเราก็เริ่มได้ข่าวว่าเหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์ไม่ดีเลยแต่ว่าสมัยนั้นมันไม่มีมือถือ ในเวลาราชการยังพอใช้ห้องโทรศัพท์ของในมหาวิทยาลัยหรือขององค์การนักศึกษาติดต่อกันได้บ้าง แต่ว่าถ้านอกเวลาราชการเวลาจะติดต่อก็ต้องไปที่ชุมสายโทรศัพท์ซึ่งอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ในเวลาคับขันคืนนั้นก็ได้ข่าวกระท่อนกระแท่น ไม่ได้ความชัดเจนอะไรจนกระทั่งเช้าถึงได้รู้ว่ามีการฆ่ามีการสังหารหมู่กันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สนามหลวง

ในช่วงเช้าที่เชียงใหม่ก็ไปชุมนุมกันอีกแต่ทราบว่ามีกลุ่มที่เข้าใจได้ว่าเป็นกลุ่มนวพลลูกเสือชาวบ้าน มาชุมนุมอยู่ใกล้ๆแล้วก็เตรียมจะยกขบวนเพื่อที่จะมาปะทะ แต่เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะมาทำขนาดไหน ผมก็เลยตัดสินใจขึ้นไปประกาศยุติการชุมนุมบนเวทีและขอให้แยกย้ายเพื่อความปลอดภัย

ย้อนกลับไปหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือก่อน 6 ตุลา 3 ปี ภาคเหนือมีการรวมตัวกันของศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือ มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นส่วนมาก แต่ก็ยังมีมหาวิทยาลัยครู แม่โจ้ และนักเรียนเข้าร่วมด้วย บรรยากาศ ณ ขณะนั้น จะมีการจัดนิทรรศการ มีการออกค่ายอาสาออกค่ายชนบทเผยแพร่หนังสือ มีการจัดตั้งกลุ่มกิจกรรมเรียกร้องสิทธิสตรี ที่ต่อมาจะเห็นนักศึกษาหญิงใส่กางเกงในหน้าหนาว ต่อต้านการขึ้นค่าหน่วยกิตในมหาวิทยาลัย การหลอกลวงหญิงสาวไปค้าประเวณี เรื่องเหล่านี้นักศึกษาเข้าไปจับและเข้าไปศึกษาในชนบท จนสโมสรนักศึกษากลายเป็นที่ร้องเรียนของชาวบ้าน

ที่สำคัญคือการเรียกร้องปัญหาชาวนาชาวไร่ ที่ภาคเหนือจะพิเศษมากเพราะมีระบบการเช่านาแบบกึ่งคือเอาผลผลิตมาแบ่งคนละครึ่งระหว่างชาวนากับเจ้าของที่นาสภาพในวันนั้นจึงทารุณมาก ทั้งเรื่องสิทธิทำกิน เหมืองปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำทำให้ชาวนาชาวไร่เดือดร้อน จนมีการจัดขบวนเป็นสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ ร่วมกับสหพันธ์ชาวนาแห่งประเทศไทยจากทั่วประเทศ ผู้ที่ถูกสังหารมากที่สุดจึงเป็นผู้นำชาวนาชาวไร่ตามตัวเลขที่มี 20 กว่าคน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวนาชาวไร่ในภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งพวกเขาก็คือผู้ที่ร่วมเคลื่อนไหวอยู่กับนักศึกษา

ทั้งหมดนี้จึงเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำเขารับไม่ได้ เขาไม่ต้องการเห็นการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะมีสิทธิ์มีเสียงมากๆ เมื่อนักศึกษาเข้าป่าไปแล้วและพรรคคอมมิวนิสต์ถูกทำลายไปพร้อมกับสังคมแล้ว แต่หลักเสรีประชาธิปไตยยังไม่เข้มแข็งสำหรับสังคมมากนัก สังคมมันก็เลยอยู่ไปแบบเป็นเผด็จการและไม่มีคู่แข่งกับระบอบเผด็จการนี้

มาจนปัจจุบันชนชั้นนำและผู้มีอำนาจยังทำเหมือนกับเหตุการณ์ 6 ตุลาอยู่ 2 เรื่อง คือ1.เขายังคงต้องการรักษาสิ่งเดิมไว้ 2. เขายังคงบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม มีการใส่ร้ายป้ายสีสร้างความเกลียดชัง แล้วก็ยึดอำนาจ จัดการกับพรรคการเมือง จัดการกับระบบรัฐสภา แต่ลืมไปว่านักศึกษาประชาชนในปัจจุบันที่กำลังจะจัดการต้องการใช้เสรีภาพ มีอุดมการณ์ที่เสรีประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าซึ่งก็รับความคิดใหม่ๆ เช่น หลักนิติธรรม เรื่องความคิดแบบเสรีนิยม ความเท่าเทียม การพัฒนาสังคมที่ก้าวหน้าทันสมัยที่สอดคล้องไปพร้อมกับสังคมโลก

45 ปีแล้วถ้าผู้มีอำนาจและชนชั้นนำยังไม่สามารถสรุปบทเรียนและเรียนรู้จากในอดีตได้ ถ้าเขาคิดจัดการแบบเดิมเพื่อรักษาสิ่งเดิมและจัดการผู้เห็นต่างให้สิ้นซาก โดยคิดจะใช้ความรุนแรงเหมือนอย่างในอดีตเขาก็จะพบว่าเขาจะทำไม่สำเร็จและทำให้ความขัดแย้งในสังคมยิ่งบานปลาย

หมายเหตุ:ให้สัมภาษณ์น้องๆนักศึกษาที่ต้องการรวบรวมประสบการณ์ในอดีต ขอขอบคุณน้องๆทุกคนครับ