นายกฯ รับข้อเสนอกลุ่มศิลปิน-ภาคีเครือ เล็งผ่อนปรนถ่ายหนัง เปิดโรงหนัง-มาตรการลดภาษี

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 16 ก.ย.2564 ที่ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และกลุ่มศิลปิน กลุ่มศิลปินพื้นบ้าน กลุ่มศิลปินแห่งชาติ ศิลปินศิลปากร กลุ่มเครือข่ายอุตสาหกรรมบันเทิง โรงงานและภาพยนต์ และภาคเอกชน กว่า 40 องค์กร เพื่อหารือแนวทางการให้ความช่วยเหลือจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านระบบ วิดีโอคอนเฟอเรนซ์

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวแสดงความเห็นใจศิลปินพื้นบ้าน บุคลากรด้านศิลปวัฒนธรรมและผู้อยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิง ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีการช่วยเหลือเยียวยาผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ การช่วยเหลือผู้ประกันตน ม.33 ม.39 และ ม.40 การลดภาษีต่างๆ

นอกจากนี้ ยังห่วงใยกลุ่มศิลปินบางส่วนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากข้อมูลตกหล่น จึงขอให้กระทรวงวัฒนธรรมเร่งประสาน รวบรวมรายชื่อและจำนวนบุคคลให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อภาครัฐจะได้จัดสรรทั้งวัคซีค รวมทั้งชุดตรวจ ATK ให้เหมาะสม ขณะเดียวกัน จะให้ขึ้นทะเบียนเพื่อเข้าถึงการเยียวยาของรัฐบาล และยังสร้างความเข้มแข็งในเครือข่ายของกลุ่มศิลปินทุกแขนงด้วย

ทั้งนี้ นายกฯ รับข้อเสนอเกี่ยวกับการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ อาทิ การเปิดโรงภาพยนตร์ มหรสพ การผ่อนปรนให้กองถ่ายสามารถทำภาพยนตร์ได้ โดยมอบให้ ศบค. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข พิจารณามาตรการรองรับ ป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง จะต้องมีท้องถิ่นเข้าดูแลการถ่ายทำในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการรวมกลุ่มของคนมากเกินไป

นายกฯ กล่าวว่า ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์ ศิลปะในท้องถิ่น และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ในการนำศิลปวัฒนธรรมต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ ละครไทย หนังไทย เป็นที่นิยมในต่างประเทศเพราะวัฒนธรรมไทยเป็นที่ชื่นชมและเป็นเอกลักษณ์ เมื่อรวมกับความคิดสร้างสรรค์ ฝีมือคนไทย และความสามารถจัดการเชิงธุรกิจอย่างเป็นระบบ จะปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่เวทีโลก ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยจะให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้ นายกฯ สั่งการให้กระทรวงวัฒนธรรมประสานเครือข่าย กลุ่มศิลปิน เพื่อจัดทำข้อมูลให้ครอบคลุมและชัดเจน และมอบให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากมาตรการลดภาษี การช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงซอฟท์โลน แหล่งเงินทุนจากงบประมาณที่มีเหลืออยู่ จาก พ.ร.ก.กู้เงิน โดยจะเสนอให้ที่ประชุมครม.พิจารณาต่อไป