หมอด่านหน้าท้อ เบี้ยเลี้ยงไม่ออก ค่ารถเที่ยวละ 8 บาท คนขาด เตียงเต็ม

บุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนักมาต่อเนื่องยาวนานหลายเดือนแล้ว และดูเหมือนว่า ยอดผู้ป่วยยังไม่ยอมลดลงแต่อย่างใด โดยเฉพาะหมอด่านหน้า ที่ดูแลคนไข้หนักจำนวนมาก

ล่าสุด พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เล่าเรื่องราว การทำงานด่านหน้าของแพทย์ที่ช่วยโรงพยาบาล ซึ่งพบหลากหลายปัญหา ทั้งเรื่องค่าเสี่ยงภัย เบี้ยเลี้ยงที่ได้ แต่ไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไหร่ ปัญหาเคสหนักที่เพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา ทีมแพทย์หมุนเวียนที่มีช่องว่างเวลาของการหมุนเวียน

ปัญหาคนไข้ครบกำหนดกลับบ้านแต่ไม่ยอมกลับ เพราะไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีกิน ทำให้ปัญหาเตียงเต็มไม่หายไป ปัญหาการประชุมเสนอความเห็นที่ต้องรอผู้มีอำนาจระดับบนสั่งการ บุคลากรเริ่มวางแผนลาออกจากงานอย่างจริงจัง

โดยโพสต์ฉบับเต็มระบุว่า “ขอรายงานสายตรงของน้องหมอเมด ที่ไปช่วยงานโรงพยาบาลสนามบุษราคัม ต่อจากสัปดาห์ก่อนครับข้อมูล ณ วันที่ 19/07/2564 ยอดเตียงรวม 3,700 เตียง เท่าเดิม
– ICU 12 เตียง : ETT 8 เตียง, HFNC 4 เตียง

* จุดประสงค์เพื่อเอาไว้ดูแลเคสเพื่อรอ refer แต่การ refer ยากมา กลายมาเป็น refer ไม่ออกเลย
**มีการคุยกันเรื่องที่จะสร้าง ICU แยกออกมาอีกส่วน เพื่อให้ดูคนไข้ได้มากยิ่งขึ้น อาจต้องมีการแยกทีม ICU ออกมาต่างห่าง ส่วนตัวคิดว่ามันน่าจะดีกับผู้ป่วยถ้าทำได้จริง แต่มันเป็นการเพิ่มอะไรไปเรื่อย โดยที่ทรัพยากรเท่าเดิม ไม่ได้ตระหนักถึงศักยภาพที่แท้จริงของทรัพยากร และบุคลากรเลย

– HFNC 209 เตียง : ซึ่งมีจำนวน High Setting ที่มากขึ้น รวมทั้งมีการ advance care plan ในคนไข้ที่มีโรคประจำตัวเยอะ อายุเยอะ เพราะถ้า on ETT ไม่มีที่ refer ก็ดูแลไม่ไหวอยู่ดีครับ
– ที่เหลือ เป็น ผู้ป่วยสีเหลือง และสีเขียว (ไม่ทราบว่าอย่างละเท่าไหร่ครับ) สถานที่ และ บุคลากรเฉพาะแพทย์ – ยังเหมือนเดิม จากที่เคยเล่าให้อาจารย์ฟังเมื่อรอบที่แล้ว

1. เรื่องคนไข้เสียชีวิต : ปัจจุบันมีการคุยเรื่อว advance care plan ในคนไข้ที่ดูหนักเกินศักยภาพ แต่เมื่อเสียชีวิตก็ส่งตัวไปที่พระนั่งเกล้า เพื่อจัดการด้านหลังการเสียชีวิตที่พระนั่งเกล้าตามระบบครับ เข้าใจว่าจะได้ไม่ต้องมาสร้างระบบจัดการเรื่องหลังการเสียชีวิตที่นี่ครับ

2. ค่าตอบแทน : มีการประชุมในวันที่อาจารย์โพสต์ใน FB คืนนั้นเลยครับ และมีประกาศแจ้งมาอีกประปราย โดยสรุปว่า
– ยืนค่าเสี่ยงภัยได้ทุกเวร แต่ก็ยังให้คำตอบไม่ได้ว่าได้เมื่อไหร่
– ค่า OT : ให้เบิกจากจำนวนเวรที่อยู่ทั้งหมด ที่อยู่เกินจากเวลาราชการ โดยครั้งแรกแจ้งว่าได้ 750 บาท/8 ชม.แต่มีคนไปดูระเบียบมาว่าจริง ๆ ต้องได้ 1,800 บาท/8 ชม. สุดท้ายจึงมาเปลี่ยนว่าให้ 1,800 บาท/8 ชม. ก็เลยคิดว่าในเมื่อระเบียบมีแต่แรก ทำไมต้องมาลดค่า OT เราในการแจ้งครั้งแรก
– ค่าที่พัก / ค่าเดินทาง : ค่าที่พักเบิกได้ แต่สำหรับคนที่ไม่อยู่ที่พักที่จัดให้ จะให้เบิกค่าเดินทาง จากเดิมที่แจ้งที่กระทรวงว่าวันละ ไม่เกิน 600 บาทตามระเบียบ เป็นได้เท่าอัตรารถประจำทาง ค่าโดยสารเที่ยวละ 8 บาท (แม้ว่าบางทีเราออกเวรเที่ยงคืน ในยามที่ห้ามออกจากเคหะสถาน)
*อาจารย์ที่มาประชุมบอกว่าในรายละเอียดวันที่มีคนแจ้งที่กระทรวงอาจารย์ไม่ทราบ เพราะอาจารย์ไม่ได้ไปร่วมที่กระทรวงในวันนั้นครับ (แสดงให้เห็นอะไรบางอย่างครับ )
– เบี้ยเลี้ยงเบิกไม่ได้ เพราะที่ รพ.บุษราคัม มีอาหาร เช้า-กลางวัน-เย็น ครับ วันไหนที่ไม่ได้อยู่เวรก็ให้นั่งรถมากินข้าวที่ รพ. (ระยะทาง 7.1 กม. ตาม google MAP)

3. ระยะเวลาการทำงาน : ทำงานที่นี่ต่อในเดือน สิงหาคม ส่วนหลังจากนั้นยังไม่ทราบ ต้องรอเบื้องบนสั่งการมา ยังไม่มีระบบการหมุนเวียนอายุรแพทย์กลุ่มอื่นมาช่วย ต้องรอคำสั่ง ทุกอย่างรอเสนอ และรอตอบรับ รอ รอ รอ รอ รอ รอ ซึ่งต้นสังกัดบางแห่งที่ผู้ป่วย และภาระงานหนักได้มีการท้วงติงเรื่องนี้แล้ว แต่ก็ยังยืนยันว่าพวกเราต้องอยู่ต่อครับ

ปัญหาเพิ่มเติม
1. เคสหนักมากขึ้น จึงมีความต้องการเพิ่มอะไรไปเรื่อย ๆ ตามความหนัก โดยบุคลากรเท่าเดิม มีการคาดหวังให้ทีมพวกเราไปเติมเต็มในงานที่จะเพิ่มขึ้น และส่วนที่ขาด เช่น ทีม MERT ที่ต้องเข้าไปดูแลคนไข้ด้านในมีปัญหา ก็มีการถามว่าพวกเราจะทำอย่างไรดี ซึ่งส่วนตัวสุดท้ายคิดว่าเหมือนมีคนไข้เป็นตัวประกัน ถ้าคนไข้หนัก ทีม MERT ไม่มี แล้วอย่างไร คำตอบก็คือคนที่มีอยู่ ซึ่งจะใครถ้าไม่ใช่พวกเรา

2. ทีมแพทย์หมุนเวียนจากต่างจังหวัดมีช่องว่างในการหมุนเวียน ทำให้บางช่วงมีแค่พวกเราที่ทำงานครับ ครั้งละ 1-2 วัน / รอบ 2 สัปดาห์ ซึ่งวันนั้น ๆ ทำให้พวกเราหนักเอาเรื่องเลยครับ
3. ปัญหาคนไข้ที่ครบกำหนดกลับบ้านบางส่วนไม่ยอมกลับ โดยบอกว่ากลับไปแล้วจะให้ผมไปทำอะไร ไม่มีงาน ไม่มีกิน อันนี้เริ่มเจอมากขึ้นเรื่อยๆครับ สุดท้ายก็เกิดปัญหาเตียงเต็ม

4. การทำงานด้วยระบบราชการ คือ ประชุมขอความเห็น นำไปเสนอข้างบน รอข้างบนตอบ เอามาเล่าให้ฟังว่าโอเคไหม แล้วก็นำกลับไปเสนอ ไป ๆ มา ๆ รอคนมีอำนาจ และมีอำนาจเหนืออำนาจอีกชั้นนึง
5. ทีมงานบางคนที่มีความจำเป็นในด้านอื่นนอกจากการทำงาน ไม่ว่าจะครอบครัว หรือ ส่วนตัว เริ่มมีการหาลู่ทางในการลาออกจากราชการแบบจริงจังกันแล้วพอสมควรครับ มีการพูดถึงความไม่แน่นอนในการทำงานที่นี่ตลอดเวลาครับ

6. บางคนพูดว่าการทำงานไม่ได้ทำด้วยความสบายใจแล้วครับ มันคือการบังคับ บนคำว่า ขอความร่วมมือ เหมือนมีจรรยาบรรณ และสังคมมาเป็นกรอบที่พวกเราต้องทำ ๆ ไป ไม่ได้มีแผนการ

*** สุดท้ายมีคนถามเรื่องวัคซีน คำตอบคือ เป็นเรื่องที่เกินกว่าจะนำมาพูดได้ในที่นี้อย่างที่เรารู้ ๆ กัน
น้องหมอเมดรายงานผ่านผม พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์โดยตรง โดยผมไม่ได้ตัดแต่งหรือเพิ่มเติมเนื้อหาอะไรทั้งสิ้น เพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริงจากหน้างานโดยตรงครับ ขอส่งกำลังใจให้น้อง ๆ และบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนครับ ฝากผู้เกี่ยวข้องช่วยดูแลก่อนทุกคนจะหมดกำลังใจด้วย”